- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 04 December 2014 22:06
- Hits: 3083
รายงานพิเศษ : แบงก์ชาติไร้แรงกดเรื่องเงินเฟ้อ...
แนวหน้า : แบงก์ชาติไร้แรงกดเรื่องเงินเฟ้อ... ปี’58 จะเดินนโยบายดอกเบี้ยเอื้อต่อการพยุงเศรษฐกิจ...ได้ไหม?
กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินอัตราการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2558 ว่า
ค่าเงินเฟ้อจะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.8-2.5 ภายใต้การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 4-5 น้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 90-110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลไว้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีการปรับตัวดีขึ้นตามภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทย
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในปี 2558 ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจปรับเป็นสมดุลเนื่องจากข้อจำกัดในการใช้จ่ายภาครัฐอาจลดลงหลังจากที่โครงการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนอาจฟื้นตัวเร็วกว่ากรณีฐาน ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำลงตลอดช่วงประมาณการ โดยที่ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อสมดุล เนื่องจากโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ตามนโยบายปรับโครงสร้างพลังงานของภาครัฐ และการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการที่อาจทำได้ง่ายกว่าปกติในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ใกล้เคียงกับโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำลงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่น้อยกว่าคาด....
ทางด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.6-4.6%)โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ 2.2% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.7-2.7%) ใกล้เคียงกับปี 2557 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว
นั่นคือ การส่งสัญญาณเรื่องเงินเฟ้อของ 3 หน่วยงานหลักทางด้านเศรษฐกิจของภาครัฐ ก็จะดูเหมือนสอดคล้องกับมุมมองของภาคเอกชนและธนาคารพาณิชย์...
เช่นกรณีของ..ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะเติบโตในระดับ 3-3.5% โดยแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปี 2558 จะมาจาก 1) การท่องเที่ยวที่จะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ 2) การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับ 3% และ 3) การลงทุนภาครัฐตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2557 เนื่องจาก อีไอซีประเมินว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอย่างการลงทุนภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้า จากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อีกทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือน และจะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ทั้งนี้ อีไอซีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2557 จะขยายตัวที่ 0.8%
อีไอซี คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโต 10% ในปี 2558 โดยผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มหมดไป และนโยบายช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น การลดค่าวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ได้สร้างแรงจูงใจให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ดังนั้นอีไอซีประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 10% ของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และจะเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจในปีหน้า
ปัจจัยที่อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมคือประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของรัฐ การเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เป็นไปอย่างน่าผิดหวัง บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี หากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2558 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบประมาณ 68,000 ล้านบาท ในปี 2558
และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินสนับสนุนชาวนาและการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ก็อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงในเชิงลบก็มีอยู่เช่นกันจากภาคการส่งออกที่อาจจะฟื้นตัวได้ไม่มากนักเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวในหลายภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
อีไอซี ประเมินค่าเงินบาทในปี 2558 จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็น 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี เนื่องจาก 1) ภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2% ในปี 2558 และมีโอกาสที่จะผ่อนคลายเพิ่มเติม หากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ และยังไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ...
จากที่ยกมาข้างต้นแล้วยังมีอีก 3 สถาบันภาคเศรษฐกิจของเอกชนที่ 2 แห่งคือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่พยายามส่งสัญญาณมาตลอดว่า ให้แบงก์ชาติกำหนดนโยบายดอกเบี้ย เพื่อพยุงเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญเรื่องเงินเฟ้อเป็นประเด็นรองลงมา แต่แบงก์ชาติเองก็ไม่ตอบชัดเจนว่าจะสนองต่อแนวทางนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติพยายามให้น้ำหนักเรื่องของเงินเฟ้อ และความผันผวนของตลาดเงินเป็นหลัก ในการกำหนดนโยบายดอกเบี้ย...ซึ่งในปี 2558 นี้...ประเด็นหลักของตลาดเงินโลก...คือความผันผวน...เพราะประเทศยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของโลก...มีสภาพเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกัน...กล่าวคือ สหรัฐอเมริกา...กำลังฟื้นตัว...ซึ่งจะทำให้ลดวงเงินคิวอีก...ดอกเบี้ยตลาดสหรัฐมีโอกาสปรับขึ้น...นั่นทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐไหลกลับไป เงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่า...ขณะที่จีนมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ยุคชะลอตัว....เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ทำท่าว่าจะต้องอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีก...ส่วนยุโรปก็ไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจน...จึงอัดเม็ดเงินเข้าระบบอีกเหมือนกัน...
ผลจากสถานการณ์นี้ทำให้ค่าเงินสกุลหลักของโลกวิ่งสวนทางกัน ตลาดเงินจึงเกิดความผันผวนอย่างหนัก...ประเทศไทยและหลายประเทศในเอเชีย ก็เป็นประเทศเปิด เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้า-ออกได้อย่างเสรี โดยเฉพาะไทยที่มีระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก (ส่งออก 70% ของจีดีพี)...จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินโลก... ดังนั้นแบงก์ชาติ...จะต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 2 เท่า..โจทย์ใหญ่คือ...จะใช้นโยบายดอกเบี้ยอย่างไรเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ...พร้อมๆ กับการรักษาเสถียรภาพด้านการเงินของประเทศในภาวะตลาดโลกผันผวน....
โดย...อนันตเดช พงษ์พันธุ์..ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก..นางสาว สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์