- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 19 July 2021 13:45
- Hits: 17110
No Trade, No Vaccine ความท้าทายของห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโลก
อ.ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการคลังเศรษฐกิจ คนเศรษฐศาสตร์ เรื่อง ‘การค้าระหว่างประเทศกับภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันให้โลก’ ชี้วัคซีนเป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้ในไม่กี่ประเทศ แต่ด้วยนโยบายการค้าระหว่างประเทศทำให้ผู้คนทั่วโลกมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น แนะลดขั้นตอนนำเข้ายุ่งยากและร่วมมือกันขนส่ง เป็นกุญแจสำคัญให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีน
จากการศึกษาเรื่องปริมาณการนำเข้าส่งออกวัคซีนทุกชนิดไม่จำกัดเฉพาะวัคซีนโควิด-19 ของ OECD พบว่า ประเทศที่นำเข้าวัคซีนมีจำนวน 208 ประเทศ แต่ประเทศที่ส่งออกได้มีเพียง 90 ประเทศ อีกทั้งกระจุกตัวสูงในผู้ส่งออก 10 ประเทศ ที่ครอบคลุมมูลค่าการส่งออกกว่า 93% ของโลก ในขณะที่วัคซีนเป็นสินค้า Percentile ที่ 6 ที่มีความต้องการนำเข้าสูงที่สุดจากจำนวน 5,384 สินค้า ถือเป็นเรื่องของความไม่เท่ากันของอุปสงค์อุปทาน ที่ประเทศพัฒนาแล้วและมีทุนทรัพย์พร้อมย่อมได้สั่งซื้อก่อน
ยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติโควิด-19 การเข้าถึงวัคซีนมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพราะห่วงโซ่อุปทานวัคซีนเป็นลักษณะการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันในระดับโลก ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1.การค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีน 2.การผลิตแบบ Mass Production และบรรจุลงภาชนะ 3.การกระจายวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) ที่คิดค้นร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมัน ไบโอเอ็นเท็ค (BioNTech) เคยประกาศว่าจะผลิตให้ได้ 2,000 ล้านโดสในปี 2021 นับเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนที่สุดในอุตสาหกรรมยา ด้วยแหล่งผลิตของไฟเซอร์มากกว่า 40 แห่ง และซัพพลายเออร์อีกมากกว่า 200 แหล่งทั่วโลก (อ้างอิง https://www.pfizer.com/science/coronavirus/vaccine/manufacturing-and-distribution)
อ.ดร.ดวงดาว ให้ข้อมูลถึงห่วงโซ่ของวัคซีนไฟเซอร์ เริ่มตั้งแต่การผลิตวัคซีน มีการใช้สารประกอบถึง 280 ชนิด จากซัพพลายเออร์ 86 แหล่ง ใน 19 ประเทศ โดยสารประกอบสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ 1.สารที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน ผลิตในเม็กซิโก จีน ตุรกี 2.สารกันเสีย ผลิตในเยอรมัน อาร์เจนตินา อินเดีย 3.สารเพิ่มความคงตัว ผลิตในฝรั่งเศส จีน เยอรมัน และ 4.ยาปฏิชีวนะ ผลิตใน จีน สวิสเซอร์แลนด์ ถัดมาคือกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์
โดยขวดบรรจุวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมัน อิตาลี ส่วนจุกยางปิดขวดวัคซีน ผลิตในจีน เยอรมัน โปแลนด์ ตามมาด้วยกระบวนการขนส่งในรูปแบบระบบห่วงโซ่เย็น (Cold Supply Chain) ที่ต้องใช้อุปกรณ์การเก็บความเย็นตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้ จนกระทั่งมาถึงการฉีดเข้าสู่คน อุปกรณ์ที่จำเป็นคือ หลอดและเข็มฉีดยา อุปกรณ์ป้องกัน อาทิ ชุด PPE หน้ากาก เฟสชีลด์ มีการกระจายการผลิตในหลายประเทศทั่วโลก
ด้วยความก้าวหน้าทางการค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของภาษีวัคซีนทั่วโลกอยู่ในระดับ 0.76% ถือว่าต่ำมากเพียง 1 ใน 10 เท่าของภาษีสินค้านำเข้าทั่วไป แต่ยังคงมีการเก็บภาษีนำเข้าสารประกอบวัคซีนที่อัตราภาษี 2.6 - 9.4% และอุปกรณ์การฉีดที่อัตราภาษี 4.4 - 4.5% ส่วนภาชนะบรรจุวัคซีนและอุปกรณ์การกระจายวัคซีน เช่น กล่องเย็นและฟรีซเซอร์ มีภาษีนำเข้าสูงถึง 12.7%
นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทำให้บางประเทศเข้าถึงวัคซีนล่าช้า เช่น ข้อบังคับด้านเทคนิคหรือด้านสุขอนามัย การควบคุมราคา และมาตรการนำเข้าที่ซับซ้อน รวมทั้งการขนส่งที่ต้องรวดเร็วซึ่งการขนส่งทางอากาศมีความเหมาะสมที่สุด แต่ปัญหาคือถูกจำกัดด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ลดลง หมายถึงค่าขนส่งทางอากาศที่สูงขึ้น
“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ช่วยผลักดันให้วัคซีนข้ามพรมแดนมาโดยเร็วที่สุด อาทิ การเปิดเสรี การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบหรือสารประกอบ การลดขั้นตอนความยุ่งยากของการข้ามพรมแดน เป็นกุญแจสำคัญให้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานสามารถดำเนินได้อย่างคล่องตัว โดยเฉพาะกับประเทศยากจนเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับวัคซีน เพราะเรื่องของโรคระบาด ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”
ทั้งนี้ การตรวจสอบการส่งออกวัคซีนสามารถทำได้โดยการค้นหารหัสพิกัดศุลกากรตามระบบ Harmonized System ซึ่งจะแสดงยอดรวมในหมวดวัคซีน โดยสามารถเทียบกับฐานปีก่อนหรือเดือนก่อนหน้า เพื่อพิจารณาร่วมกับการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนในบางประเทศได้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ