- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Friday, 31 October 2014 20:29
- Hits: 4426
TMB Analytics มอง กนง. คงอัตราดอกเบี้ยรับสมาชิกใหม่
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมครั้งที่ 7/2557 ในวันพุธที่ 5 พฤศจิกายน หลังตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีทิศทางเปลี่ยนไปจากเดิม จับตาแนวนโยบายสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิสี่ท่านใหม่
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาตั้งแต่การประชุม กนง. ครั้งก่อนเมื่อ 17 กันยายน ซึ่ง กนง.มีมติคงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์ตามคาด ยังคงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น โดยกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงยังดูทรงๆ แม้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะส่งสัญญาณกลับมาอย่างแข็งแกร่งแล้วก็ตาม ทำให้สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ในช่วงเก้าเดือนสิ้นสุดกันยายน 57 (เทียบกับการเติบโตร้อยละ 7 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 56) ทำให้ตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้อาจจะปิดที่ราวร้อยละ 5 เท่านั้น (เทียบกับร้อยละ 10.5 ในปีก่อนหน้า)
ด้านภาคการส่งออกของไทย แม้ตัวเลขจะพลิกกลับมาเป็นบวกในเดือนกันยายน โดยขยายตัวได้ร้อยละ 3.19 ดีกว่าคาดการณ์ของตลาดค่อนข้างมาก รวมถึงการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสสาม แต่การส่งออกไทยที่ซบเซามาตั้งแต่ต้นปี จะส่งผลให้ตัวเลขส่งออกทั้งปี 57 น่าจะยังออกมาติดลบที่ร้อยละ 0.5 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจจึงมองว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นในปัจจุบันยังมีความจำเป็นในการช่วยประคับประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มผ่อนคลายตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ยังดูเป็นขาลงอยู่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 1.75 และอาจผ่อนลงอีกเล็กน้อยในเดือนตุลาคม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะรายงานในวันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน ก่อนการประชุม กนง. ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อจึงไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. เปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายอย่างใด
หากพิจารณาการดำเนินนโยบายของ กนง.ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ได้มีการลงมติ 'คงดอกเบี้ย'เป็นเอกฉันท์มาสามการประชุมต่อเนื่อง (หลังจากที่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ไปในการประชุมเดือนมีนาคม) และ ส่งสัญญาณสอดคล้องกับแนวทางการวิเคราะห์ของเราที่ประเมินไว้ก่อนหน้าว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ยังเป็นระดับที่เหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ ทั้งจากมุมมองด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมุมมองด้านเสถียรภาพของไทย
เมื่อหันมามองการประชุม กนง.ในครั้งที่จะถึงนี้ อาจมีความพิเศษตรงที่ว่า คณะกรรมการส่วนของผู้ทรงคุณวุฒินอกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สี่ท่าน จะเป็นชุดใหม่ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ตามประกาศของ ธปท. เข้ามาเสริมทัพคณะกรรมการสามท่านจาก ธปท. นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญภายใน กนง. เอง
แม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีความเห็นตรงกันว่าแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งในปี 2558 สอดคล้องกับสภาพคล่องของโลกที่จะตึงตัวขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีหน้า แต่ดูเหมือนว่าในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังมีความเห็นไม่ลงรอยเกี่ยวกับห้วงเวลาที่ กนง. จะเริ่มขยับดอกเบี้ยขึ้น แน่นอนว่า การเข้ามาของคณะกรรมการท่านใหม่ๆ จะมีนัยต่อจังหวะ (Pace) การดำเนินนโยบาย ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร และเมื่อดอกเบี้ยเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว การปรับเปลี่ยนจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ ผลการประชุมในวันพุธที่ 5 พฤศจิกายน จึงนับว่าเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่ต้องจับตาดู ซึ่งจะสื่อถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะถัดไป