- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Saturday, 03 October 2020 16:26
- Hits: 17347
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร 'ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย' ที่ 'A-' แนวโน้ม 'Stable'
ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ที่ระดับ ‘A-‘ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่มั่นคงของ ชสอ. ตลอดจนสินเชื่อที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอจากการให้กู้ยืมแก่สหกรณ์ที่เป็นสมาชิก และสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบที่สหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีและมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตก็ลดทอนลงบางส่วนจากเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์โดยทั่วไปที่ยังค่อนข้างอ่อนแอ รวมทั้งการที่ ชสอ. มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกและเงินลงทุน ความเสี่ยงจากการกู้ยืมต่อ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความพร้อมของ ชสอ. ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบภายหลังจากที่กฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีผลบังคับใช้ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความพร้อมของ ชสอ. ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ
ทริสเรทติ้ง มองว่า ชสอ. มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับกฎระเบียบใหม่โดยไม่มีประเด็นกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับการดำเนินงานของ ชสอ. ทั้งนี้ กฎระเบียบใหม่ที่ใช้ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ในเบื้องต้นแล้ว พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้ในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของกิจกรรมที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การให้กู้ยืม และการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ ทริสเรทติ้งเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในระยะยาวของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินของไทย
ทริสเรทติ้ง คาดว่า การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอาจจะเป็นอุปสรรคต่อโอกาสในการเติบโตและจะทำให้ผลการดำเนินงานทางการเงินของ ชสอ. อ่อนแอลงในระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการลงทุนและเกณฑ์ในการตั้งสำรองสำหรับสภาพคล่องและหนี้สูญที่เข้มงวดขึ้นในกฎระเบียบใหม่จะทำให้การลงทุนของ ชสอ. มีความยืดหยุ่นน้อยลงและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมิได้คาดหวังว่าผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ ชสอ. จะทำให้มุมมองต่อความแข็งแกร่งทางการเงินของ ชสอ. เปลี่ยนแปลงไป ในทางกลับกัน กฎระเบียบใหม่น่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงและเสริมสร้างเสถียรภาพในระยะยาวให้แก่ ชสอ. ได้ด้วยเช่นกัน
สหกรณ์ออมทรัพย์จะยังคงได้รับสิทธิพิเศษภายใต้กฎระเบียบใหม่
สิทธิพิเศษต่างๆ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับอันได้แก่ การยกเว้นภาษีหลัก ๆ ทุกประเภทและการมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ จะยังคงมีอยู่ต่อไปภายใต้กฎระเบียบใหม่ กล่าวคือ สหกรณ์ออมทรัพย์และสมาชิกได้รับการยกเว้นภาษีหลักๆ ทุกประเภท เช่น ภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีจากเงินลงทุน นอกจากนี้ พ.ร.บ. สหกรณ์ยังกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิมีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ในการได้รับดอกเบี้ยและการได้รับชำระคืนเงินกู้จากลูกหนี้อีกด้วย สิทธิพิเศษด้านบุริมสิทธิ์ดังกล่าวช่วยให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีข้อได้เปรียบในการให้กู้แก่สมาชิกเหนือกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ในขณะที่เงินกู้ส่วนใหญ่ที่ให้แก่สมาชิกสามัญของสหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมินั้นดำเนินการภายใต้ข้อตกลงกับนายจ้างหรือหน่วยงานต้นสังกัดว่าการชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของเงินกู้ตามงวดนั้นสามารถใช้วิธีหักจากเงินเดือนของสมาชิกได้ ส่งผลให้สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิส่วนใหญ่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและช่วยลดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายหนี้เสียของเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์ด้วย ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลต่อคุณภาพเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกในสหกรณ์ขั้นทุติยภูมิอย่าง ชสอ. ด้วย
จุดอ่อนของการกำกับดูแล
การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์มีความเข้มงวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งมีการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดและเข้มงวดมากกว่า ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้แก่สถานะอันดับเครดิตของสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย ถึงแม้ว่ากรอบกฎระเบียบใหม่จะช่วยในการควบคุมกิจการของสหกรณ์ได้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้รับประกันว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมดจะยึดมั่นกับกฎระเบียบใหม่นี้ได้จริงหรือไม่ การบังคับใช้กฎระเบียบทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดและอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางทางการเงิน
ชสอ. มีบทบาทเป็นตัวกลางทางการเงินสำหรับสหกรณ์สมาชิกโดยการรับฝากเงินและให้กู้ยืม ชสอ. ยังมีบทบาทหลักในการส่งเสริมและพัฒนากิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยด้วย บทบาทของ ชสอ. ดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ ทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. สหกรณ์และเป็นตัวแทนของสหกรณ์สมาชิก ทั้งนี้ ชสอ. มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการและร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ในระดับชาติเพื่อที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม วางแผน และพัฒนากิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ขั้นปฐมภูมิมีหน้าที่ให้เงินกู้ยืมและผลประโยชน์ในรูปสวัสดิการต่างๆ แก่สมาชิก ในทำนองเดียวกัน ชสอ. ก็ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเสมือนเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งและยังมีการให้ผลประโยชน์ต่างๆ ในรูปแบบของการให้คำปรึกษา รวมถึงการจัดอบรมและสัมมนาโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยยกระดับความแข็งแกร่งทั้งทางด้านการดำเนินงานและการเงินแต่สหกรณ์สมาชิกด้วย
มีความเสี่ยงทางด้านราคาตลาดจากการเปลี่ยนแปลงพอร์ตการลงทุน
ชสอ. เผชิญกับความเสี่ยงทางด้านราคาตลาดอันเนื่องมาจากการลงทุน โดยในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่านโยบายการลงทุนของ ชสอ. ได้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นแบบเชิงรุกมากขึ้นโดยมีการเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญที่มีความเสี่ยงสูง ชสอ. มีอัตราส่วนเงินลงทุนต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 32% ณ สิ้นรอบปีปัญชี 2562 โดยเงินลงทุนประกอบไปด้วย เงินลงทุนในหุ้นสามัญ 45% หุ้นกู้ 51% และอื่นๆ อีก 4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2562 เปรียบเทียบกับเงินลงทุนในหุ้นสามัญในสัดส่วน 5% หุ้นกู้ 84% และอื่นๆ อีก 11% ภายใต้นโยบายการลงทุนพื้นฐานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า ชสอ. จะจำกัดการลงทุนในหุ้นสามัญลงในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นสามัญที่มากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตได้
การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลกระทบจากการตั้งสำรองเต็มจำนวนเพื่อให้ครอบคลุมผลขาดทุนจากเงินลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยเช่นกัน โดย ชสอ. มีเงินลงทุนในหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทการบินไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็น 1% ของสินทรัพย์รวมและ 6% ของทุนทั้งหมดของ ชสอ.
อัตราส่วนการก่อหนี้ยังอยู่ในระดับสูงและมีฐานทุนอยู่ในระดับปานกลาง
ฐานทุนของ ชสอ. ซึ่งประกอบไปด้วยทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ทุนสำรองตามกฎหมาย ทุนสำรองตามข้อบังคับ กำไรหรือขาดทุนจากเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น และกำไรสุทธินั้นมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนการก่อหนี้ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24.8% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 จากระดับ 19.4% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2559 แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานานซึ่งมีอัตราส่วนดังกล่าวโดยเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 40% ถึงแม้ว่าทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ชสอ. มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราส่วนทุนต่อสินทรัพย์รวมกลับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 19.7% ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2562 จากการมีค่าเผื่อผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ตามเงื่อนไขข้อบังคับของ ชสอ. มีการกำหนดให้สหกรณ์สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นของ ชสอ. เพิ่มเติมในสัดส่วนที่สอดคล้องกับทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิก ในสถานการณ์ปกติ ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของ ชสอ. จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันกับที่ทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้วของสหกรณ์สมาชิกแต่ละรายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างอัตโนมัติจากกลไกปกติในการซื้อหุ้นเพิ่มรายเดือนของสมาชิก ทริสเรทติ้งคาดหวังว่า ชสอ. จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในทางลบของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์หรือตลาดการเงินภายในประเทศ
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอแต่มีความเสี่ยงจากการกู้ยืมต่ออยู่บ้าง
ทริสเรทติ้ง คาดว่า ชสอ. จะยังคงสามารถรักษาสภาพคล่องให้มีความเพียงพอจากการได้รับวงเงินกู้ยืมจำนวนมากจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง วงเงินดังกล่าวน่าจะมีเพียงพอที่จะใช้เป็นทุนในการดำเนินงานและรองรับความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่เหนือความคาดหมายได้
โดยเฉลี่ยแล้วเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์นั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 12% ของหนี้สินรวมหรือ 9% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินกู้ยืมดังกล่าวทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าเงินทุนขนาดใหญ่ที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมักมีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อมากกว่าการใช้เงินฝากและการกู้ยืมจากสหกรณ์สมาชิกเป็นแหล่งเงินทุน การมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกที่สูงส่งผลให้ ชสอ. มีความเสี่ยงด้านการกู้ยืมต่อและมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่มีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ชสอ. มีเงินลงทุนจำนวนมากพอที่จะรองรับภาระเงินกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกได้ทั้งหมดซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องลงได้ กระนั้นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็มีความอ่อนไหวไปตามความเสี่ยงด้านราคาและแนวโน้มการขาดทุนในกรณีที่เกิดการบังคับขายหลักทรัพย์
ชสอ. มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในสัดส่วน 41.4% ของสินทรัพย์รวม ณ เดือนมีนาคม 2563 และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องที่ระดับ 14.3% ณ เดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 6% อยู่มาก
มีการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแต่มีการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่า ชสอ. มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของเงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเป็นอย่างมาก โดยเงินให้กู้ยืมที่ ชสอ. ให้แก่สมาชิก 20 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 50% ของเงินให้กู้ยืมรวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2562 ในขณะที่ ชสอ. ให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกเพียง 256 รายจากจำนวนสหกรณ์สมาชิกทั้งหมด 1,093 ราย ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2562 ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์สมาชิกคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดที่ 58% ของสินทรัพย์รวมของ ชสอ. ในขณะที่ประมาณ 32% ของสินทรัพย์รวมเป็นเงินลงทุน และส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นเงินสดและสินทรัพย์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวลดทอนลงจากองค์ประกอบของเงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดี
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2562 ชสอ. มีเงินให้กู้ยืมที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพียง 18.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02% ของเงินให้กู้ยืมรวม เงินให้กู้ยืมของ ชสอ. ที่เป็นหนี้คุณภาพดีนั้นสะท้อนถึงเงินที่ให้กู้แก่สมาชิกสหกรณ์ขั้นปฐมภูมิที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างต่ำซึ่งได้รับอานิสงส์จากสิทธิพิเศษด้านกฎระเบียบของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีบุริมสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ และจากกลไกการชำระคืนหนี้ด้วยระบบหักเงินเดือนตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้ ชสอ. ยังคงรักษานโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังต่อไปเพื่อป้องกันผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้ง มีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของ ชสอ. ในระหว่างปีการเงิน 2563-2565 ดังนี้
- • เงินทุนรวมจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 15% ต่อปี
- • เงินให้กู้ยืมจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10%-12% ต่อปี
- • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วง 0.48%-0.63% ต่อปี
- • จะมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนเพื่อให้ครอบคลุมผลขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ว่า ชสอ. จะรักษาบทบาทหน้าที่สำคัญที่มีต่อกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่มั่นคงของ ชสอ. รวมถึงเงินให้กู้ยืมที่มีคุณภาพสูง และฐานเงินทุนหลักที่ได้รับจากสมาชิกอีกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังด้วยว่า ชสอ. จะสามารถปรับตัวและปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มการเพิ่มอันดับเครดิตของ ชสอ. มีค่อนข้างจำกัดจากกรอบการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังขาดการกำกับดูแลที่ใกล้ชิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและความไม่แน่นอนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ในทางตรงกันข้าม นโยบายการลงทุนการดำเนินงานและการเงินในเชิงรุกซึ่งทำให้สถานะเครดิตโดยรวมของ ชสอ. อ่อนแอลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใดๆ ที่จะลดทอนสิทธิพิเศษของสหกรณ์ออมทรัพย์ก็อาจมีผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ ชสอ. ได้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Savings Cooperative Rating Methodology, 28 September 2020
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (FSCT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ [email protected] โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้
ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ