- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Tuesday, 30 June 2020 22:48
- Hits: 5179
ธ.โลก คาดศก.ไทยปีนี้ติดลบ 5% ส่งออกหดตัว 6.3% เสี่ยงตกงาน 8 ล้านคน
ธนาคารโลกหั่นเป้ศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบมากกว่า 5% จากเดิมคาดติดลบ 3.3% ส่งออกคาดว่าติดลบ 6.3% ชี้แรงงานเสี่ยงตกงานกว่า 8.3 ล้านคน เซ่นพิษโควิด-19 คาดใช้เวลา 2 ปี เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติ
นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการ ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เป็นติดลบมากกว่า 5% จากเดิมคาดติดลบ 3.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี ที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับการเติบโตก่อนประสบปัญหาโควิด-19
สำหรับ ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวลง 6.3% เป็นการชะลอตัวลงรายไตรมาสที่แรงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังคงอ่อนแอ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลงซึ่งจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาส 2 ของปี 63
ทั้งนี้ ประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2/63 ที่มีคนตกงานกระจายไปทั่ว และกระทบต่อครัวเรือนชนชั้นกลาง และครัวเรือนที่ยากจน โดยธนาคารโลกประมาณการว่า กว่า 8.3 ล้านคน จะตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะทำให้งานมากมายโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม เพื่อปกป้องครัวเรือนที่เปราะบาง ควรขยายความคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกมองข้าม
โดยพื้นฐานคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวที่ 4.1% ในปี 64 และ 3.6% ในปี 65 ซึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดภายในกลางปี 65 แต่รูปแบบของการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ การท่องเที่ยวที่เปราะบาง รวมไปถึง การค้าและห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะชะงักงัน
“แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรง ภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของจีดีพี ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ไทยเกือบจะห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมี.ค.63”นางเบอร์กิท กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนปรนการห้ามเดินทาง จะทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เดิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้วและเป็นเครื่องจักรผลักดันเศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 63 และในปี 64 แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ปรับตัวและยังมีความไม่แน่นอนอยู่
“ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญของไทย คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ทั้งนี้ น่าจะได้นำมาตรการที่เสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่อยู่ในภาคการผลิตที่เปราะบางที่สุด และการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง”นางเบอร์กิท กล่าว
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชฐา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า รายงานยังได้เสนอแนะว่า ควรให้เงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่เปราะบางต่อไป และถ้าเป็นไปได้ ควรพยายามเชื่อมโยงการให้เงินอุดหนุนไปกับการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และความสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการหารายได้ ในระยะปานกลาง ประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่จะให้ประโยชน์ครอบคลุมทั่วทุกด้านเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคและวิกฤตการณ์อื่น ๆ ทั้งนี้ ควรเสริมด้วยการมุ่งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน
“สำหรับผู้ประกอบการที่เปราะบาง การสนับสนุนควรจะต้องปรับเปลี่ยนจากการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน ไปสู่การเสริมสร้างผลิตภาพที่ยังประกอบกิจการ นอกจากนี้ ควรปรับทิศทางการสนับสนุนด้านการคลัง จากมาตรการฉุกเฉินไปสู่โครงการสร้างงานชั่วคราว โดยเพิ่มความสะดวกให้กับบริษัทที่จะเข้าร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือการรับทำงานสาธารณะอยู่”นายเกียรติพงศ์ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย