WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หวั่นหนี้ครัวเรือนสูงกำลังซื้อในประเทศลด นักธุรกิจพุ่งเป้าลุยอาเซียน

    แนวหน้า : ตลท. เปิดผลวิจัย CEO Survey ชี้บิ๊กบจ.ส่วนใหญ่เชื่อ 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจขยายตัว แต่ยังห่วงหนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อในประเทศแย่ ขาดแคลนแรงงาน วางแผนลงทุนเพิ่มโดยเน้นกลุ่มชาติอาเซียน BBLชี้คนจนแย่ไม่มีกำลังซื้อ แนะรัฐอัดนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า

     น.ส.ปิญาภรณ์ สดศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ไทย (CEO Survey)  เพื่อสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการลงทุนว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ 66% คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 1.5% เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดี หลังการเมืองมีเสถียรภาพ การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มกลับมามีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวมากขึ้น  และมากกว่า 70% มองว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าดีขึ้นอย่างแน่นอน

    แต่ซีอีโอส่วนใหญ่ยังยอมรับมีความเป็นห่วงต่อปัจจัยลบที่จะกระทบเศรษฐกิจและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะปัจจัยหนี้สินครัวเรือนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อภายในประเทศอาจไม่ฟื้นตัวตามคาด และต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ห่วงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

    นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลท.กล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ซีอีโอ 88% จะลงทุนเพิ่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยได้วางแผนขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์หรือใช้กำไรสะสม โดยเน้นการลงทุนในกลุ่มประเทศ ASEAN 5 ประมาณ 35%  กลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ประมาณ 28%

   ที่เหลือลงทุนในยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ สาเหตุที่นักธุรกิจเลือกลงทุนในอาเซียนเนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศนี้มีอัตราการขยายตัวสูง และมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับไทย นอกจากนี้ CEO  66 %มองว่ารายได้ธุรกิจส่งออกและแนวโน้มในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมถึงยังพบว่าบริษัทจดทะเบียนเตรียมรับมือความผันผวนของค่าเงินบาทใน 6 เดือนข้างหน้า โดยใช้การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นหลัก

   ส่วนนโยบายปฏิรูปประเทศที่เอกชนเห็นว่าควรเร่งดำเนินการในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า พบว่าการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือการปฏิรูประบบการเมืองและระบบข้าราชการ และนโยบายการคลังการใช้จ่ายภาครัฐและหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ ตลท.และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จะนำผลการสำรวจครั้งนี้เสนอต่อรัฐบาลต่อไป

    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือBBLกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี2557 ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าที่คาด ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจไทยยังคงมีทั้งดีและไม่ดีขัดแย้งกันเองโดยลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและเข้าลงทุนต่อได้ อาทิ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้าหรู แต่ในส่วนของชาวนาและคนจน กลับไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพราะเงินที่ได้จากการช่วยเหลือของรัฐบาลต้องนำไปชำระหนี้ที่ค้างไว้

    ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจในต่างจังหวัดก็ยังไม่ดีมากนัก ยังมีความกังวลในด้านกำลังซื้ออยู่ โดยสะท้อนจากการก่ออาชญากรรมที่ยังมีต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐควรกระตุ้นผ่านนโยบายการคลัง เพราะยังมีปัจจัยลบในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงถึง 82-83% กำลังซื้อในประเทศยังไม่ดีขึ้น อีกทั้งการขาดแคลนแรงงาน และการเมืองที่ยังมีส่วนกระทบเล็กน้อย เพราะยังเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ส่วนสิ่งที่ต้องปรับในปีหน้า คือ เอกชนต้องมองหาจังหวะการลงทุนนอกประเทศที่เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อย่างการค้าชายแดน ซึ่งปัจจุบันที่อ.แม่สอด จ.ตากเติบโตถึง 20-30%

   “ข้อมูลทางเศรษฐกิจของไทยยังคงขัดแย้งกันเอง เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ในด้านของคนรวยสามารถกลับตัวได้เร็วและลงทุนต่อ แต่ขณะเดียวกันฝั่งของชาวนาและคนจนกลับไม่มีกำลังซื้อ ถึงแม้จะได้เงินจากรัฐก็ตาม ก็ต้องนำเงินส่วนนั้นไปใช้หนี้ ทั้งนี้ มองว่าทางภาครัฐเองควรกระตุ้นนโยบายการคลังด้วย นอกจากนี้ธนาคารเองก็ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพราะในอนาคตธุรกิจนี้อาจจะเป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ต่อไป” นายกอบศักดิ์ กล่าว

    ด้านนายสุรงค์ บูลกุล นายกสมาคมบจ. และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บมจ.ปตท. ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในภาวะเงินฝืด มาจากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจออกดี และใกล้สิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) จะทำให้เกิดเงินทุนไหลออก สภาพคล่องในระบบหายไป ส่วนปัจจัยภายในประเทศคือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐ แม้โครงการอนุมัติแล้วแต่เงินยังไม่เข้า และยังมีงบค้างท่อของปีนี้อีกจำนวนมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐต้องเร่งเบิกจ่ายเงินสู่รากหญ้าด้วย

   อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน เพราะจากที่ผ่านมาถึงแม้จะเจอผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการประกาศกฏอัยการศึกก็ตามยังมีผลประกอบการที่ดีได้ อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่น ไม่ห่วงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากมองว่าไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีนโยบายที่สนับสนุนด้านต่างประเทศด้วย

เตือนหนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุ 80%

    บ้านเมือง : นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือ หนี้ครัวเรือนสูงถึง 82-83% ซึ่งสูงเป็นพิเศษ ทำให้กำลังซื้อในชนบทไม่ดีและมีความกังวลเรื่องการจับจ่ายใช้สอย เพราะผลิตผลการเกษตรตกต่ำ เช่น ราคายางพารา ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนสูงสะท้อนว่ามีหนี้เยอะ รายได้ในอนาคตไม่ดี มีการบริโภคน้อยลงทำให้กำลังซื้อไม่กลับคืนมา

   ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องปรับตัวในปี 2558 คือ เอกชนต้องหาการลงทุนในเฟสใหม่ๆ ซึ่งในประเทศอาจจะไปได้ไม่มากแล้ว เพราะความหวังเดียวคือ รัฐบาลทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เศรษฐกิจปี 2558 ขับเคลื่อนไปได้ นอกจากนี้ เอกชนต้องมองหาจังหวะการลงทุนข้างนอกที่เป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ของบริษัทจดทะเบียนของไทย (บจ.) อย่างการค้าชายแดนตอนนี้ที่แม่สอดเติบโต 20-30%

    ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในภาวะเงินฝืด เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวตัวเลขเศรษฐกิจดี และใกล้สิ้นสุดมาตรการ QE ก็จะเห็นการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนกลับไปที่สหรัฐ ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไป

   ส่วนในประเทศมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ แม้โครงการอนุมัติแล้วแต่เงินยังไม่เข้า และยังมีงบประมาณที่ค้างท่อของปี 2557 อีกจำนวนมาก รวมทั้งงบไทยเข้มแข็งซึ่งรวมกันราว 1.5 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำอย่างยิ่งคือ การเบิกจ่ายเงินสู่รากหญ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีเสน่ห์แต่นโยบายรัฐก็ต้องมีเสน่ห์ด้วยเพื่อที่จะเติบโตได้

   ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือกับตัวแทนสมัชชาเกษตรกรรายย่อยถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่า ได้หารือถึงแนวทางเร่งรัดการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ที่หมดวาระไป และยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินถูกเพิกเฉย ไม่สามารถจัดการหนี้ได้

  "ในช่วงที่ไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามา บริหารจัดการหนี้ได้ จะนำเรื่องนี้เข้าหารือในระดับนโยบาย เพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางในการแก้ไขกฎหมายตัวบทเฉพาะกาลต่อไป" นายปีติพงศ์ กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!