- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 18 January 2018 23:16
- Hits: 17541
TalkingPoint แนวโน้มปี 2561 : ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
มกราคม 2561 เคน มาเอดะ หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนของญี่ปุ่น
แนวโน้มการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ดีในปีนี้ ถึงแม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกก็ตามนโยบายภายในประเทศและข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมากตามที่คาดไว้ในปี 2560 อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงภายนอกก็ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
สัญญาณบวกปรากฎอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจีดีพีรายไตรมาสล่าสุดของประเทศญี่ปุ่นสิ้นสุดเดือนกันยายนได้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศได้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 7 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ขณะที่ผลสำรวจบรรยากาศทางเศรษฐกิจระยะสั้นของภาคธุรกิจหรือรายงานทังกังไตรมาสล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าบริษัทญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดคือผลสำรวจรวมที่บ่งชี้ถึงการขาดแคลนกำลังการผลิตในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะกำลังการผลิตมากเกินความต้องการตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีในด้านงบลงทุนในปี 2561
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคงมีอัตราการจ้างงานเกือบถึงระดับการจ้างงานเต็มที่ โดยอัตราการว่างงานลดลงเหลือเพียง 2.8% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปีอย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างยังคงเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก แม้ข้อมูลทางเศรษฐกิจทุกตัว ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จะบ่งชี้ถึงอัตราค่าจ้างที่ควรเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนทำให้ส่วนแบ่งกำไรของจีดีพีอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็เน้นย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแรงงานที่ขยายตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน
มุมมองด้านนโยบายการเงิน
ในปี 2560 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ โดยนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เป็นต้นมา นอกเหนือจากแผนการซื้อสินทรัพย์แล้ว นายคุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็ยังได้ดำเนินการตามนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) เพื่อคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ให้อยู่ที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็นนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถจัดการความคาดหวังในสหรัฐฯ ได้เป็นผลสำเร็จ จึงคาดว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ในปี 2561 จะได้รับแรงกดดันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แม้สถานการณ์จะดูค่อนข้างสงบนิ่ง แต่ก็ควรตระหนักว่านโยบายการเงินของญี่ปุ่นในปัจจุบันยังขาดความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งแม้จะยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่เป้าหมายของธนาคารกลางบางอย่างที่ประกาศออกมากลับมีความขัดแย้งกันเอง
หากมองนโยบายที่คงวงเงินในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นควบคู่กับการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน จะเห็นเป็นนัยถึงความพยายามในการกำหนดเป้าหมายทั้งในด้านปริมาณและราคาพร้อมกัน ในความเป็นจริงแล้ว การรักษาเป้าหมายผลตอบแทนในปัจจุบันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลดลง ซึ่งเริ่มปรากฏให้เห็นในข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ซื้อ ETF ต่อเนื่องในตลาดตราสารทุน ซึ่งแม้เรื่องดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในมาตรการของแผนการซื้อสินทรัพย์ก็ตาม แต่ก็ยังสื่อเป็นนัยถึงกลไกสนับสนุนตลาดที่ไม่มีความจำเป็นนัก
ความเคลือบแคลงของนักลงทุน
นักลงทุนชาวต่างชาติมีความไม่มั่นใจในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมาโดยตลอดจนถึงปลายเดือนกันยายน 2560 แม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริษัทญี่ปุ่นมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นภายใต้สภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ตาม ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏชัดเจนโดยเฉพาะในไตรมาส 2 และ 3 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีผลประกอบการดีกว่าคาด และมีการประเมินผลประกอบการทั้งปีที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ ซึ่งตอกย้ำความเชื่อของเราที่เคยมองว่าการประมาณการแต่เดิมนั้นเป็นไปอย่างอนุรักษ์นิยมเกินไป ทำให้เกิดการปรับตัวเลขผลกำไรของบริษัทให้สูงขึ้น ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะได้สะท้อนการปรับขึ้นของผลกำไรดังกล่าวไปแล้วบางส่วนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา แต่ระดับราคาปัจจุบันโดยรวมยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจเมื่อเทียบกับอดีต และเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก
ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ
ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ความเสี่ยงในมุมมองของเราก็ยังคงเป็นความเสี่ยงจากภายนอกเป็นหลัก โดยถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารของทรัมป์ไว้ล่วงหน้า แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่วาระทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย หากฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ในกลยุทธ์การเติบโตของประเทศได้
นอกเหนือจากข้อกังวลเหล่านี้แล้ว ช่วงที่ผ่านมาเกาหลีเหนือยังกลายเป็นต้นเหตุของความเสี่ยงส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นด้วย และแม้จะเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบอย่างมาก แต่แต่ก็เป็นการยากที่จะประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพอร์ทการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จภายในประเทศของนายอะเบะ
ปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศในปี 2560 ก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีอะเบะได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในสภาล่างในเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงแรกๆ มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไร ก่อนที่แนวโน้มว่าพรรคแอลดีพีจะชนะการเลือกตั้ง ได้เพิ่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้ลงทุนในตราสารทุนเริ่มเห็นถึงความเป็นไปได้ในความต่อเนื่องของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ความเชื่อมั่นที่มีเสถียรภาพมากขึ้นนี้ สอดคล้องกับการที่นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งช่วยผลักดันตลาดสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 26 ปี
ถึงแม้ว่า จำนวนที่นั่งรวมกันของพรรคแอลดีพีและพรรคโคเมอิโตะจะน้อยกว่าจำนวนที่นั่งรวมในสมัยก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลผสม 2 พรรคก็ยังคงรักษาจำนวนเสียงส่วนใหญ่ราว 2 ใน 3 เอาไว้ได้ และอาจนับได้ว่านี่คือความสำเร็จที่สำคัญของนายอะเบะ ดังนั้นเราจึงคาดว่าเขาจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรคแอลพีดีอีกครั้งในเดือนกันยายน 2561 และจะยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงโอลิมปิกปี 2563 หากเขายังคงต้องการรับตำแหน่งดังกล่าว นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังช่วยลดความไม่แน่นอนของตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่จะหมดวาระปัจจุบันในเดือนเมษายน 2561ได้อย่างดี
เศรษฐกิจจะฟื้นกลับเป็นเหมือนอดีต
จากการที่ฝ่ายตรงข้ามได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเป็นช่วงเวลาสั้นๆในช่วงต้นของการหาเสียง เราอาจจะได้เห็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่โฟกัสมากขึ้นจากรัฐบาลใหม่ของนายอะเบะ และเชื่อว่านโยบายการเงินและการคลังเชิงรุกที่สนับสนุนตลาดตราสารทุนในญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจมีแผนมีการเร่งการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอีกเล็กน้อยด้วย เพื่อเป็นการชดเชยกับแผนการปรับขึ้นภาษีการบริโภค ซึ่งนายอะเบะกำหนดให้เริ่มใช้ในเดือนตุลาคม 2562
การเติบโตของผลการดำเนินงานของบริษัท
บรรยากาศของนโยบายดังกล่าวช่วยหนุนปัจจัยที่เสริมการเติบโตของผลกำไรของบริษัทได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องในปี 2561โดยเชื่อว่า บริษัทต่างๆ จะสามารถทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้าได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีผลกำไรมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้นทุนคงที่ของบริษัทต่างๆ อยู่ในระดับสูงหลังจากที่ต้องเผชิญภาวะเงินฝืดเป็นเวลานาน และอาจส่งผลถึงแนวโน้มต้นทุนค่าจ้างที่จะสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อบางบริษัท แต่โดยรวมแล้วแนวโน้มเชิงมหภาคเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการกลับสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และควรส่งผลในเชิงบวกในภาพรวมต่อความเชื่อมั่น