- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 31 August 2014 20:53
- Hits: 3230
'ณรงค์ชัย'ชี้เศรษฐกิจไทยตกถึงจุดต่ำสุดแล้ว ธปท.จ่อปรับลดเป้าส่งออก
แนวหน้า :“ที่ปรึกษา คสช.” ชี้ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่ๆกระตุ้น “จีดีพี”ในปีนี้ ระบุถึงจุดต่ำสุดจากนั้นจะค่อยฟื้นตัวขึ้น พร้อมหนุนลงทุน “เมกะโปรเจกท์”กระตุ้นในปีหน้า ด้าน ธปท.นัดประชุมกลางเดือนกย.หั่นเป้าส่งออกปีนี้ลงจาก 3% ปลอบเศรษฐกิจไทยมีภาพการขยายตัวแล้ว
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการที่ปรึกษาด้านเศรฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ผลิตภัณ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จะขยายตัวไม่เกิน 2% ส่วนการหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนที่เหลือของปีนี้นั้นมองว่าคงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เนื่องจากคงจะดำเนินการไม่ทันในปีนี้แล้ว
“มองว่า จีดีพี ได้ชะลอตัวถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากนี้คงปรับตัวดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพขยายตัวได้ถึง 4-5% ในปีหน้า ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเรื่องการลงทุนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ตามแผนลงทุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน” นายณรงค์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานไทย หรือเมกะโปรเจกท์ จำเป็นจะต้องมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพราะจะสามารถช่วยลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศได้จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 47% ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรเกิน 50% แม้ในทางปฏบัติจะสามารถสูงได้ถึง 60% ซึ่งการใช้ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญในการที่จะช่วยภาระหนี้สาธารณะได้ นอกเหนือจากการหางบประมาณในด้านอื่นๆ
ทางด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการที่ปรึกษา คสช. ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ในปีหน้า บริษัทไพรวอเตอร์เฮ้าส์ คาดว่าแนวโน้มการลงทุนของโลก ในด้านโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทั่วโลกเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไทยจึงหนีไม่พ้นต้องพัฒนาด้านนี้
แต่หากประเทศไทยไม่มีความชัดเจนจะทำให้ล้าหลัง และทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ลดลงได้ เพราะในขณะนี้เริ่มมีการส่งสัญญาณลดลงแล้ว จากเดิมที่มีการลงทุนประมาณ 5% ต่อจีดีพี เหลือเพียง 3% ต่อจีดีพีแล้ว ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าประเทศไทยมีการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ก่อนที่ FDI จะปรับตัวลดลงอีกและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ส่งออกที่ชะลอลงต่อเนื่อง ธปท.อาจจะมีการทบทวนคาดการณ์การเติบโตของภาคส่งออกปีนีลง จากปัจจุบันที่คาดไว้ที่ 3% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 17 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยการส่งออกในเดือนก.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 1.87 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวติดลบ 0.5% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดเคมีภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางพารา และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
“การประชุมกนง.ครั้งหน้านี้คงมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3% อย่างในก็ดีภาวะเศรษบกิจในเดือนโดยรวมในเดือนก.ค.ที่ผ่านมาปรับดีขึ้น อุปสงค์หรือการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวตามการบริโภค” นางรุ่งกล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจเดือนกค.ทรงตัวจากเดือน มิ.ย.2557 เนื่องจากแม้อุปสงค์ภายในประเทศจะขยายตัวตามการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลดีจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากนอกภาคเกษตรที่ยังสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าเดือน มิ.ย.เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจเดือน ก.ค.57
“แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.2557 ทรงตัวและไม่เห็นการขยายตัวชัดเจน แต่เชื่อว่าภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนขึ้นภายในครึ่งปีหลังปี 2557 ส่วนปรับลดราคาน้ำมันนั้น จะยังไม่เห็นผลของการลดราคาส่งผ่านเข้ามาในตัวเลขเศรษฐกิจมากนัก เพราะราคาน้ำมันมีทั้งที่ลดลงและเพิ่มขึ้น” นางรุ่ง กล่าว
ชงยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ'ณรงค์ชัย'แนะปรับโครงสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจ
บ้านเมือง : นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อสภาวะทางเศรษฐกิจและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ว่า ประเทศไทยอยู่ระบบเศรษฐกิจโลก มีมูลค่าการผลิตเกือบ 13 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ยังคงมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจ คือ การขยายตัวไม่ต่อเนื่องจากปัญหาการเมือง และวิกฤตต่างๆ ทำให้การเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดความไม่ทัดเทียม
โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต คือต้องมุ่งสู่การปรับโครงสร้าง เสริมขีดความสามารถของระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนหลักคิดของสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าและบริการ โดยการพัฒนาสินค้าให้เกิดความแตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ ควรจะเป็นการบริหารงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลกได้ โดยปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในลำดับที่ 29 จาก 60 ประเทศ การลงทุนประมาณ 27% ของ GDP ซึ่งโครงการเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรม มีอัตราการส่งออกสินค้าสูงถึง 82% ของการส่งออกรวม หรือมีมูลค่าการส่งออก (Market share) 1.21%
ส่วนการลงทุนกับต่างประเทศ ควรมีการขยายตลาดกับเอเชีย การรวมกลุ่มในเอเชีย โดยเฉพาะ ASEAN+3, +6 จะเป็นประโยชน์กับการค้าของไทยมากขึ้น โดยมี AEC เป็นกลไกลผลักดันหลัก รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบการทำงานที่ช่วยการค้า การลงทุนกับประเทศไทยในเอเชีย ตะวันออกกลาง และอัฟริกา สร้างความสมานฉันท์กับโลกมุสลิม
สำหรับ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการขยายตัวทางการค้ามีความสำคัญเพิ่มขึ้น และเงินลงทุนของต่างชาติมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจและธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหากเงินทุนของภาครัฐไม่เพียงพอก็ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม แต่บางโครงการที่ภาครัฐสามารถลงทุนได้ก็ต้องเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
นายณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นดังกล่าวได้มีการสรุปข้อมูลเสนอต่อ คสช.ตั้งแต่ตอนที่มีการเข้ามาดูแลประเทศไปแล้ว ซึ่งบางโครงการก็มีอยู่ในงบประมาณปี 58 เฉพาะใช้ในเรื่องของการก่อสร้างการคมนาคมจำนวน 6 หมื่นล้านบาท ก็มีความพร้อมในการลงทุนและจะมีการเริ่มใช้งบประมาณตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป รวมถึงโครงการรถไฟฟ้า และโครงการมอเตอร์เวย์บางสาย ส่วนในเรื่องของงบประมาณภาครัฐไม่เพียงพอก็ควรให้เอกชนมาร่วมด้วยนั้น การออกเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเอารายได้ในอนาคตมาออกกองทุน และมาจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ในแง่ของความพร้อมมีหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่ใช่แนวทางหลัก แต่เป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งโครงการที่รัฐบาลเริ่ม แนวทางหลักจะต้องเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยมองว่าหนี้สาธารณะต้องรักษาระดับไม่ให้เกิน 50% ของ GDP
ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 57 มองว่าน่าจะเติบโตได้ไม่ถึง 2% จากการที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย คสช.เข้ามาดูแลจัดระเบียบบ้านเมือง ส่งผลให้รายได้บางประการหายไป ซึ่งคาดว่าปี 58 การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น หากการลงทุนในงบประมาณปี 58 เริ่มดำเนินการได้จริง และการประมูลโครงการต่างๆ เกิดจากความโปร่งใสเป็นธรรมก็น่าจะมีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในการอภิปรายในหัวข้อ มุมมองของภาคเอกชนต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ว่า ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะจากรายงานพบว่าปีหน้า คาดการณ์ทั่วโลกจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมกัน 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็น 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัว จากวิกฤติที่เกิดขึ้น ปรับตัวเข้าสู่การแข่งขัน และให้ความสำคัญการลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่มีความชัดเจนจะทำให้ล้าหลัง และทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ลดลงได้ เพราะในขณะนี้เริ่มมีการส่งสัญญาณลดลงแล้ว จากเดิมที่มีการลงทุนประมาณ 5% ต่อจีดีพี เหลือเพียง 3% ต่อจีดีพีแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ว่าประเทศไทยสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ก่อนที่ FDI จะปรับตัวลดลงอีก กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
คสช.รับจีดีพีต่ำกว่าเป้า 2% ปัจจัยการเมืองถ่วงหนัก จ่อทบทวนตัวเลขส่งออก
ไทยโพสต์ * 'ณรงค์ชัย'รับสภาพเศรษฐกิจไทยปี 57 โตต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2% หลังเสียเวลากับปัญหาการเมืองกว่าครึ่งปี ชี้ภาครัฐเข็นมาตรการกระตุ้นไร้ผล ลุ้นปีหน้าจีดีพีโตก้าวกระโดด 5% ปัดตอบนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ครม.ประยุทธ์ 1 ด้าน ธปท.จ่อทบทวนตัวเลขส่งออกใหม่ เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าแป้ก
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวได้ไม่ถึง 2% ต่อปี เนื่องจากในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจเสียเวลาไปกับความวุ่นวายทางการเมืองจนทำอะไรไม่ได้ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐ กิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก็ไม่สามารถทำได้ทันแล้ว และที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปจนหมดทุกทางที่จะสามารถทำได้แล้ว
นอกจากนี้ ในช่วงที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.2557 จะเป็นปัจจัยทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้แบบก้าวกระโดด แต่เนื่อง จาก คสช.มีเป้าหมายหลักที่จะเข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการไม่ถูกต้องจำนวนมาก และการจัดระเบียบของ คสช. ทำให้เงินที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการค้ายา การพนัน เงินค่าต๋ง หายไปจากระบบจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง
"การฟื้นตัวของเศรษฐ กิจไทยจะเห็นชัดเจนในปี 2558 โดยอัตราการเติบโตที่ 4-5% เป็นไปอย่างไม่ยากเย็นเลย และการลงทุนจะดำเนินการได้ไวขึ้น เพราะรัฐบาลใหม่ให้มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและโปร่งใส จะให้การประมูลการจัดซื้อจัดจ้างทำได้เร็วขึ้น ต่างจากในอดีตที่นักการเมืองชอบเข้ามายุ่งกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนต่างๆ จนทำให้เกิดความล่าช้าและไม่คุ้มค่า" นายณรงค์ชัยกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนกระแสข่าว การเข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่นั้น นายณรงค์ชัยชี้แจงว่า ส่วน ตัวยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าร่วมกับ ครม.ครั้งนี้หรือไม่ เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกมาก
อย่างไรก็ตาม หากได้รับ ตำแหน่งเป็น รมว.การคลัง ก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 41 ระบุว่า การรับตำแหน่งต่างๆ ที่ คสช.จัดตั้งขึ้นมาไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งหน้าที่เดิม ซึ่งปัจจุ บันก็เป็นที่ปรึกษา คสช.อยู่ และก็ไม่ได้มีการลาออกจากการเป็น คณะกรรมการ กนง.แต่อย่างใด
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยใน เดือน ก.ค. ยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่เริ่มมีสัญญาณ การฟื้นตัว สะท้อนมาจากความเชื่อมั่นการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยายตัว 0.2% เพิ่มขึ้นในรอบ 11 เดือน สะท้อนว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่งผลให้ ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เศรษฐ กิจมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดย ธปท.จะพิจารณาปัจจัยทั้งหมดในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่อประเมินเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามเรื่องภาคการส่งออก โดยในเดือน ก.ค.มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือติดลบ 0.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มสิน ค้ายางพารา ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากคู่ค้า หลักในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ภูมิภาคเอเชีย ขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ดังนั้น ธปท.คาดว่าจะมีการทบทวนประ มาณการการส่งออกในปีนี้ใหม่อีกครั้ง.