- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 30 August 2014 22:14
- Hits: 3516
ณรงค์ชัย แนะปรับยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออนาคต,คาด GDP ปีนี้โตไม่ถึง 2%
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พาณิชย์ และได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่ง รมว.พลังงานคนใหม่ ปาฐกาถาพิเศษในข้อหัว"สภาวะทางเศรษฐกิจและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ"ภายในงานสัมมนา"การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกับการพัฒนาประเทศ"ว่า การบริหารเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ ควรจะเป็นการบริหารงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในโลกได้ โดยปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในลำดับที่ 29 จาก 60 ประเทศ การลงทุนประมาณ 27% ของ GDP ซึ่งโครงการเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรม มีอัตราการส่งออกสินค้าสูงถึง 82% ของการส่งออกรวม หรือมีมูลค่าการส่งออก (Market share) 1.21%
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคตนั้น ควรจะมุ่งสู่การลงทุนและการปรับโครงสร้างเสริมขีดความสามารถของระบบเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ โดยต้องมีการปรับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ ดังนี้ ลดการพึ่งพาตะวันออก และบริษัทข้ามชาติจากตะวันตก ด้านการค้าต้องมีการขยายกำลังการผลิตพลังงาน วัตถุดิบการเกษตร และอุตสาหกรรมหลัก โดยร่วมมือกับประเทศใน GMS
ส่วนการลงทุนกับต่างประเทศ ควรมีการขยายตลาดกับเอเชีย การรวมกลุ่มในเอเชีย โดยเฉพาะ ASEAN+3,+6 จะเป็นประโยชน์กับการค้าของไทยมากขึ้น โดยมี AEC เป็นกลไกลผลักดันหลัก รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบการทำงานที่ช่วยการค้า การลงทุนกับประเทศไทยในเอเชีย ตะวันออกกลาง และอัฟริกา สร้างความสมานฉันท์กับโลกมุสลิม
สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยมองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยการขยายตัวทางการค้ามีความสำคัญเพิ่มขึ้น และเงินลงทุนของต่างชาติมีมูลค่าสูงขึ้น ฉะนั้นไทยจำเป็นต้องมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจและธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการรหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหากเงินทุนของภาครัฐไม่เพียงพอก็ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม แต่บางโครงการที่ภาครัฐสามารถลงทุนได้ก็ต้องเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
นายณรงค์ชัย ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวได้มีการสรุปข้อมูลเสนอต่อ คสช.ตั้งแต่ตอนที่มีการเข้ามาดูแลประเทศไปแล้ว ซึ่งบางโครงการก็มีอยู่ในงบประมาณปี 58 เฉพาะใช้ในเรื่องของการก่อสร้างการคมนาคมจำนวน 6 หมื่นล้านบาท ก็มีความพร้อมในการลงทุนและจะมีการเริ่มใช้งบประมาณตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป รวมถึงโครงการรถไฟฟ้า และโครงการมอเตอร์เวย์บางสาย ส่วนในเรื่องของงบประมาณภาครัฐไม่เพียงพอก็ควรให้เอกชนมาร่วมด้วยนั้น การออกเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเอารายได้ในอนาคตมาออกกองทุน และมาจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ในแง่ของความพร้อมมีหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่ใช่แนวทางหลัก แต่เป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งโครงการที่รัฐบาลเริ่ม แนวทางหลักจะต้องเป็นงบประมาณแผ่นดิน โดยมองว่าหนี้สาธารณะต้องรักษาระดับไม่ให้เกิน 50% ของ GDP
ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 57 มองว่าน่าจะเติบโตได้ไม่ถึง 2% จากการที่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย คสช.เข้ามาดูแลจัดระเบียบบ้านเมือง ส่งผลให้รายได้บางประการหายไป ซึ่งคาดว่าปี 58 การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น หากการลงทุนในงบประมาณปี 58 เริ่มดำเนินการได้จริง และการประมูลโครงการต่าง ๆ เกิดจากความโปร่งใสเป็นธรรมก็น่าจะมีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
นายณรงค์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากการเสียภาษีน้ำมันจะต้องเท่าเทียมกัน จากเดิมที่มีการเสียภาษีเฉพาะน้ำมันเบนซินเพียงประเภทเดียว แต่น้ำมันดีเซลไม่ได้เสียภาษี ซึ่งบิดเบือนความเป็นจริง รวมถึงหากต้องการช่วยผู้ที่มีรายได้ต่ำก็ต้องทำให้เหมาะสม
"เวลาที่เราทำอะไรที่มันผิดหลักการก็จะทำให้เกิดการบิดเบือนในเรื่องของการใช้ทรัพยากร ก็จะทำให้เกิดเป็นภาระในการนำเข้า แต่ถ้าเป็นไปตามหลักการ ก็แปลว่าเหมาะสมกับกระบวนการผลิต ทุกอย่างต้องเข้าหลักการให้มันถูกต้อง ถ้าจะเก็บภาษีก็ต้องเก็บให้ใกล้เคียงกัน แต่หากมีการยกเว้นก็ต้องมีเหตุผลอื่น ซึ่งต้องมองถึงการทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม"นายณรงค์ชัย กล่าว
อินโฟเควสท์