เข้าสู่ 2 ปีครึ่งที่นโยบายการเงินนิ่งมาตลอดและสร้างความสงสัยต่อสาธารณชนบางส่วนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรจะส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ให้ สัมภาษณ์ไทยพับลิก้า ถึงการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น” ของประเทศไทย กนง.ว่า ต้องชั่งน้ำหนักปัจจัยหลายประการประกอบกันนอกเหนือจากเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งต้องมองภาวะเศรษฐกิจการเงินไปในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และไม่ได้นิ่งนอนใจอย่างที่หลายฝ่ายกังวลสงสัย โดยมองว่านโยบายการเงินปัจจุบันเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง “เงินเฟ้อ” ในฐานะเป้าหมายหลักของ ธปท. ยังคงมีแนวโน้มจะหลุดจากกรอบเป้าหมายล่างที่ 1% ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งสวนทางกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ควรจะผลักดันให้เงินเฟ้อฟื้นตัวตาม โดย กนง. ให้เหตุผลว่าเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่กดดันอยู่และจะฟื้นตัวกลับมาได้
ขณะเดียวกัน แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวอย่างที่ตัวเลขชี้นัก แล้วอะไรถึงจะเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยนโยบาย และภาวะเศรษฐกิจ นอกเหนือจากสิ่งที่ กนง. พยายามจะสื่อสารต่อสาธารณะในฐานะผู้ดำเนินนโยบายการเงิน
ไทยสามารถคุม “เงินเฟ้อ” ได้จริงหรือไม่
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสองชื่อที่ถูกเสนอเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.คู่กับดร.วิรไท สันติประภพ
ครั้งล่าสุดหลังจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. หมดวาระลง
ดร.ศุภวุฒิ เริ่มต้นออกตัวก่อนว่าตนมีจุดยืนมาก่อนหน้านี้ว่าค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ก่อนจะเล่าถึงหลักการทางทฤษฎีของนโยบายการเงินว่า หลักการของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อคือการตั้งเป้าหมายของเงินเฟ้ออย่างเช่น 2.5% โดยบอกว่าถ้ากรณีสูงกว่าเป้าหมายจะต้องขึ้นดอกเบี้ย ถ้าต่ำกว่าเป้าหมายจะลดดอกเบี้ย ฉะนั้น วัตถุประสงค์ของนโยบาย เป้าหมายคือเงินเฟ้อ กลไกหรือวิธีการในการจะไปสู่ตรงนั้นคือดอกเบี้ย ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า 1 เป้าหมาย 1 เครื่องมือในหลักการ
“ประเด็นคือเวลาที่คุณบอกว่าคุณตั้งเป้าเงินเฟ้อแปลว่าคุณบอกว่า ผมมีอำนาจในการกำหนดเงินเฟ้อของประเทศไทยได้โดยใช้อัตราดอกเบี้ย แต่ผมตั้งคำถามว่าถ้าเศรษฐกิจคุณเป็นเศรษฐกิจเปิด ส่งออกบวกนำเข้าเท่ากับ 120% ของจีดีพี แล้วเงินทุนไหลเข้า-ออกค่อนข้างเสรี ทำไมประเทศเล็กอย่างเราจึงคิดว่าจะคุมเงินเฟ้อของตัวเองได้ อย่างเช่น ราคาข้าวเราก็คุมไม่ได้ แม้เราอ้างว่าเราเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เรายังทำไม่ได้เพราะเราเป็นประเทศเล็ก ถ้าคุมราคาข้าวไม่ได้หรือคุมราคาสินค้าไม่ได้ ทำไมคุณถึงจะคุมอัตราการเพิ่มหรือลดของสินค้าได้อย่างไร” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
ดังนั้น ในหลักการประเทศที่เล็กและเศรษฐกิจเปิดและการไหลเข้าของทุนเป็นระบบค่อนข้างเสรีอย่างประเทศไทย ถ้าเงินเฟ้อโลกหรือเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วที่เราพึ่งพาทางเศรษฐกิจการเงินเท่าไหร่ เงินเฟ้อของประเทศนั้นควรจะเท่ากันด้วย กล่าวคือ ถ้าในใจคุณทำการค้าขายด้วยเงินดอลลาร์เป็นหลัก หรือในใจเดินนโยบายเงินบาทให้ผูกกับดอลลาร์ แม้ว่าจะบอกว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวก็ตาม ในเมื่อคุณไปผูกพันตรงนั้นกับสหรัฐอเมริกา ในหลักการเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่ เงินเฟ้อของไทยควรจะเท่านั้น
ดร.ศุภวุฒิ อธิบายต่อไปว่า ถ้าในความเป็นจริงไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อ แต่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินคิดว่าทำได้และยังประเมินเงินเฟ้อสูงเกินไปในภาวะที่โลกส่วนใหญ่เผชิญภาวะเงินเฟ้อต่ำ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) ที่พยายามอัดฉีดเงินจำนวนมาก แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับ 0.5%, ญี่ปุ่นที่ 0.5% และสหรัฐอเมริกาที่ Personal Consumption Expenditures (PCE) อยู่ประมาณ 1% กว่าๆ ไม่ถึง 1.5% ขณะที่ ธปท. ประเมินว่าเงินเฟ้อจะถึง 2.5% ตามการสำรวจทุกครั้ง แต่ในความเป็นจริงอยู่ที่ระดับ 1% และยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% อย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ตามมาคือจากที่คาดการณ์ว่าด้วยดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% จะต่ำกว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ 2.5% หรือมีดอกเบี้ยที่แท้จริงถึง -1% แต่ความเป็นจริงด้วยเงินเฟ้อจริงเหลือเพียงแค่ 1% ดอกเบี้ยที่แท้จริงจริงจึงพลิกกับมาบวก 0.5% ทำให้ กนง. ดำเนินนโยบายที่ตึงเกินไปกว่าที่คิดเพราะว่าเงินเฟ้อจริงเหลือแค่ 1%
เป้าหมายต้องชัดเจนเพียงพอ – นโยบาย”อัตราแลกเปลี่ยน” อาจดีกว่า
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า เครื่องมือที่อาจจะใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อาจต้องเป็น “อัตราแลกเปลี่ยน” แทนที่ “ดอกเบี้ยนโยบาย” ตัวอย่างเช่น ถ้าเงินเฟ้อที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป รวมกันเฉลี่ยประมาณ 1% และอยากให้เงินเฟ้อ 2.5% เฉลี่ยในระยะยาว ธปท. ต้องดำเนินนโยบายให้เงินบาทอ่อนค่า 1.5% เนื่องจากเงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงิน เงินเฟ้อ 1% คือเงินบาทเสื่อมค่าในการใช้จ่ายในอำนาจซื้อ 1% ต่อปี ถ้าปัจจุบันเงินเฟ้อเรา 0.5% เงินเฟ้อสหรัฐอเมริกา 1.5% แบบนี้เงินบาทจะต้องแข็งค่าขึ้นปีละ 1% เพื่อให้เกิด Purchasing Power Parity (PPP) ในระยะยาวตามหลักการ
“บางคนจะเถียงว่าจริงๆ หลักการ PPP มันไม่ได้เป็นจริงในระยะสั้น ระยะกลางเท่าไหร่ มันแกว่งไปหมด ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดขึ้น แต่ในหลักการระยะยาวฟังดูมันถูกต้อง ถ้าประเทศหนึ่งเงินเฟ้อ 2% อีกประเทศเงินเฟ้อ 3% ประเทศที่เงินเฟ้อ 3% หรือของแพงกว่าค่าเงินมันจะต้องอ่อนกว่าเขาปีละ 1% ในระยะยาว ไม่เช่นนั้นเงินต้องไหลเข้า-ออกเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือจะต้องขาดดุลการค้ามากขึ้นสำหรับประเทศที่เงินเฟ้อสูงกว่าเขา”
ดังนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการดูเรื่องค่าเงินคือดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสะท้อนว่าประเทศหนึ่งๆ มีการใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่ การเกินดุลคือใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ เช่น สมมติเดือนหนึ่งๆ ไทยส่งออก 100 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วนำเข้า 90 ดอลลาร์สหรัฐ เลยมีเงินไหลเข้ามา 10 ดอลลาร์สหรัฐทุกเดือน
เวลาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมันสะท้อน 2 ประเด็นว่าเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอถึงไม่ซื้ออะไรและผู้ประกอบการต้องหนีไปส่งออก ซึ่งลักษณะของประเทศไทยมันเป็นคล้ายๆ แบบนั้น พอเป็นแบบนี้ภาพแรกเมื่อมีเงินไหลเข้ามาเรื่อยๆ ถามว่าเงินบาทจะไปทางไหน มันต้องแข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ย ถ้าดูปัจจัยนี้อันเดียวมันเป็นตัวทำให้เงินบาทแข็งค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว และเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาหลายปี ตอนหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้น ถูกต้องตามหลักการ
ปัญหาที่ตามมาในภาวะเช่นนี้คือเงินเฟ้อจะถูกกดดันให้ต่ำลงด้วย เนื่องจากผู้ส่งออกที่ต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันตอนรับคำสั่งซื้อสินค้า จะต้องไปกดราคาในรูปเงินบาทจากซัพพลายเออร์ในประเทศให้ลดลง เพราะเงินบาทดันแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เขาจะได้ขายของเป็นราคาบาทได้ต่ำลงอยู่แล้ว ดังนั้น อีกด้านหนึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะเป็นตัวสร้างวัฏจักรกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลงด้วยซ้ำ
“ฉะนั้นมันดูเหมือนมีวัฏจักรอยู่ที่ว่า ทุกอย่างมันชี้ไปทางที่บาทจะแข็งค่า เงินเฟ้อจะต่ำลง ไม่ว่าจะดูดอกเบี้ยที่แท้จจริงคือดอกเบี้ยเราเทียบกับเงินเฟ้อของเรา หันไปดูดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาตอนนี้ขึ้นมาแล้ว 2-3 ครั้งก็ยังต่ำกว่าของเรา แต่เงินเฟ้อเขาสูงกว่าของเรา เงินเฟ้อเป็น CPI อยู่ที่ 2% เป็น PCE อยู่ที่ 1.5% แต่ดอกเบี้ยเรา 1.5% สูงกว่านิดเดียว แต่ดูเงินเฟ้อเรา 0.5% โดยตัวของมันเองดอกเบี้ยที่แท้จริงของเราสูงกว่าสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนที่แล้ว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของสหรัฐอเมริกาขาดดุลไปเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แนวโน้มแบบนี้ไปเรื่อยๆ ดีไม่ดีเงินบาทมันจะแข็งค่าขึ้นด้วยซ้ำอันนี้คือโจทย์ที่เผชิญอยู่” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อไปว่า การตอบสนองของ ธปท. ต่อประเด็นดังกล่าวคือออกมาอธิบายว่าประเทศไทยใช้นโยบายแบบยืดหยุ่นและต้องชั่งน้ำหนักหลายเป้าหมาย แต่ในทางทฤษฎี Jan Tinbergen พิสูจน์กันมาตั้งแต่ 50 ปีแล้วว่า
ปรกติในหลักการคุณมี 1 เครื่องมือ คุณต้องมี 1 เป้าหมาย คุณมี 1 เครื่องมือคือดอกเบี้ยนโยบายจะเก็บหมดเลย 4 เป้าหมายไม่ได้ ต้องมี 1 เครื่องมือต่อ 1 เป้าหมาย และการสื่อสารแบบนี้กลับทำให้ตลาดไม่รู้ว่า กนง. กำลังดำเนินนโยบายอะไรอยู่
“คราวนี้ผมไม่รู้เลยว่าคุณจะทำอะไร เงินเฟ้อก็ไม่ใช่ ค่าเงินบาทก็ไม่เชิง แล้วตกลงเป็นอันไหน น้ำหนักเท่าไหร่และเมื่อไร คือมีเป้าหมายอื่นๆ คือมีเสถียรภาพระบบการเงิน อาจจะมีเรื่องการเติบโต มีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนิดหน่อย อาจจะมีเรื่องของเงินเฟ้อด้วย เป็น 4 อันเลยก็ได้ เราไม่รู้ เพราะธปท.บอกว่าเป็นแบบยืดหยุ่น แต่ที่ชัดเจนมีอยู่อันเดียวคือเงินเฟ้อ ที่ใช้ได้อีกอันคือการขยายตัวของจีดีพี อีกอันที่พูดบ่อยคือเสถียรภาพระบบการเงิน 3 อันดูเหมือนจะชัดเจนที่สุด ที่ไม่ชัดแจนแต่กระทรวงการคลังและพ่อค้าเรียกหาคือเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนด้วย มันเลยเหมือนกับมี 3+1 เป้าหมาย” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
กังวลเงินเฟ้อต่ำนาน ความเสี่ยง 3 ประการ
คำอธิบายที่เป็นไปได้ถึงการคงนโยบายการเงินเอาไว้ ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อาจจะเป็นไปได้ว่า กนง. กำลังรอให้ภาวะเศรษฐกิจการเงินต่างๆ คลี่คลายเอง ไม่ว่าจะเป็นการรอให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้วจะเกิดความสมดุลมากขึ้น หรืออาจจะมีกรณีที่คนรู้สึกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปภาษีทำให้คนมองว่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เงินบาทจะได้อ่อนลง และก็คาดหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มกระจายตัวไปภาคต่างๆ และทำให้การใช้จ่ายมากขึ้น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง และหากการฟื้นตัวไม่กระจายตัว ธปท. บอกว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือนโยบายการคลังที่จะทำให้การฟื้นตัวกระจายตัวดีขึ้น เพราะว่านโยบายการเงินทำไม่ได้ นโยบายการคลังทำได้ดีกว่า โดย ธปท. จะไประวังเรื่อง Search for Yield หรือเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงินเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิอธิบายว่า การรอให้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ดีขึ้นยังมีความเสี่ยง 3 ประการที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อต่ำเป็นระยะเวลานาน
ประการแรก คือ ในระยะยาวประเทศอาจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ เนื่องจากในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำแปลว่าเงินไม่ได้เสื่อมค่าลงไปและควรจะทิ้งเงินไว้เฉยๆ เทียบสมัยที่เงินเฟ้อสูงที่มีแรงกดดันให้คนใช้เงิน เพราะเงินจะเสื่อมค่าลงทุกๆ ปี ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยิ่งทำให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น ดังนั้นในทางจิตวิทยาจะมีแรงจูงใจให้คนไม่ใช้เงินและทำให้เงินหมุนช้าลงและเข้าสู่วัฏจักรเงินฝืดในที่สุด
“อันนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นสังคมที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างผมอายุ 60 ปี เกษียณแล้วนะปีนี้ ผมบอกว่าตอนนี้จะเป็นที่ปรึกษาไม่มาทำงานทั้งวันแล้ว แต่ยังมาเข้าอยู่ทั้งวัน แต่คนกลุ่มผมจะใหญ่ขึ้นเรื่อยจะเป็นกลุ่มที่ต้องการเงินเฟ้อต่ำ ผมจะเป็นกลุ่มที่จะกดดันให้เงินเฟ้อต่ำ จะเป็นกลุ่มที่ชอบเลย เพราะผมไม่มีเงินเดือนแล้วมีแต่เงินเก็บ ถ้าอยากให้เงินเก็บมันไม่เสื่อมค่า เงินเฟ้อต้องต่ำ มันจะมีแนวโน้มตรงนี้ว่าผมจะยิ่งชอบ ถ้าเกิดมาทำเงินเฟ้อขึ้นผมจะโวยวายเลย ตอนนั้นจะดึงกลับไป 5% ยากแล้ว เกิดความเคยชินกับเงินเฟ้อ 0%” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ประการที่ 2 ที่ตามมาคือจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต โดยหากเทียบกับดอกเบี้ยที่แท้จริงในระยะยาวที่ควรจะเป็น ซึ่งตามปกติในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ต่ำ ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะต้องต่ำ เพื่อสะท้อนผลตอบแทนของการลงทุนในเศรษฐกิจที่เติบโตได้ไม่มาก และหากสมมติว่าอยู่ที่ 1% เมื่อรวมกับเงินเฟ้อ 1% แปลว่าดอกเบี้ยปกติในระยะยาวที่ภาวะปกติจะอยู่ที่ 2% และสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโบบายการเงินในอนาคต เนื่องจากมีช่องว่างนโยบายเพียง 2% ที่จะใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่การลดดอกเบี้ยให้ต่ำกว่า 0% จะสร้างปัญหาว่าคนจะไม่ฝากเงินที่ธนาคาร เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าฝาก
“ภาวะแบบนี้มันถึงอันตรายมาก เพราะว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อต่ำนานๆ มากๆ จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายมีช่องว่างที่จะปรับตัวในขาลงได้น้อยลง ผู้ว่าการธนาคารกลางชาติอื่นถึงอยากจะดันเงินเฟ้อขึ้นไปสัก 2% และหวังว่าจีดีพีโตสัก 2% ดอกเบี้ยที่แท้จริงสัก 1% จะได้มีช่องว่างลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 3% เวลาที่มีปัญหา ลองคิดถึงสมัยก่อนเงินเฟ้ออย่างเดียวก็ 5% แล้ว จีดีพีโตไปอีก 7% ฉะนั้นดอกเบี้ยที่แท้จริงสัก 3% คุณมีตั้ง 8% ในระยะยาว สมัยนั้นดอกเบี้ยเงินฝากได้กัน 8% มีช่องว่างให้ลดดอกเบี้ยได้เยอะแยะเลย ตอนนี้ช่องว่างหรือแค่ 2-3% มันไม่ดี ดอกเบี้ยนโยบายที่ดีคือดอกเบี้ยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงบ้าง แล้วมันแปลก มันเป็น Dilemma ที่ว่าตั้งไว้สูงแต่ของมันไม่สูง กลายเป็นว่าคุณไปลากให้เงินเฟ้อมันต่ำลงไปเลย นโยบายคุณจะตึงเกินไป มันซับซ้อนตรงนี้ ไม่ใช่ว่าตั้งเป้าหมายไว้สูงแล้วเงินเฟ้อจะสูง ตั้งไว้สูงแล้วของจริงมันต่ำมันกลับข้างกันเลย ก็หวังว่าเราจะไม่ได้อยู่ตรงนี้จริงๆ หวังว่าจะกลับขึ้นมา แต่ 3 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้ามาก” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ประการสุดท้าย เป็นเรื่องการประเมินจากบุคคลภายนอกเกี่ยวกับการตอบสนองของ ธปท. ซึ่งทุกกรณี รวมทั้งไทยด้วย ถ้าเงินเฟ้อต่ำมากและคุณบอกว่าไม่เป็นไร และปีต่อไปมันยังต่ำมากอีก คุณบอกไม่เป็นไรอีก มันเหมือนกับการตอบสนองของคุณไม่กลัวให้เงินเฟ้อต่ำมาก ตลาดบอกว่าถ้าคุณไม่กลัวผมก็ไม่กลัวด้วย เงินเฟ้อมันก็จะต่ำ เพราะคุณไม่ได้ตอบสนอง คุณบอกว่าเป้าหมายคือ 2.5% โดยกรอบบน-ล่างคือ 1-4% แต่เงินเฟ้อจริงต่ำกว่า 1% มา 3 ปี คุณยังบอกเฉยๆ แปลว่าลึกๆ คุณไม่ว่าอะไร ไม่ลดดอกเบี้ย ดังนั้นเงินเฟ้อต่ำก็อยู่กับมันได้นานๆ ใช่หรือไม่ คนจะถามแบบนี้ มันถึงจะเกินวัฏจักรเงินฝืดได้ ถ้าปล่อยให้อยู่ต่ำๆ นานๆ ปีนี้เงินเฟ้อน่าจะ 0.6% ปีก่อนหน้า -0.9% ปีก่อนๆ หน้า ธปท. บอกว่าราคาน้ำมัน ปีที่แล้วก็ราคาน้ำมันอีก ปีนี้เป็นราคาอาหารสดที่มันปรับลดไป ซึ่ง 3 ปีแล้ว
ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า “ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่ได้ยอมรับหรือเชื่อแบบนั้น ถึงยืนนโยบายว่าตรงนี้เหมาะสมแล้ว ปัญหาของผมคือสมมติว่าต้องตั้งเป้าให้เหมาะสม จะมีเป้าหมายก็ได้แต่ต้องใกล้เคียงกับเงินเฟ้อของโลกหน่อย ไม่ใช่ตั้งอะไรก็ได้ เพราะเราอยู่ในโลกและพอดีว่าตอนนี้โลกนี้ดันกลายเป็นโลกที่เงินเฟ้อมันต่ำ สังเกตว่าผู้ว่าธนาคารกลางประเทศอื่นจะบ่นว่าทำไมเงินเฟ้อต่ำเหลือเกิน ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมาย มีเพียง ธปท. เท่านั้นที่ไม่ได้บ่นว่าแบบนั้น แต่ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ECB กระวนกระวายมากเลย และอย่างที่ย้ำว่าถ้าเงินเฟ้อจริงมันต่ำกว่าเป้าหมาย กลายเป็นดอกเบี้ยนโยบายมันสูงเกินไป อาจจะเป็นปัญหาได้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ส่วนประเด็นที่ควรจะเปลี่ยนเป้าหมายหรือคนกำลังจะเลิกใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ไม่เลิกใช้ก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่าเป้าหมายของคุณถูกต้อง อย่างธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับเป้าหมายลงเลย หลายๆ ที่อย่างนิวซีแลนด์ก็มีการตอบสนองที่ชัดเจน ถ้าต่ำกว่าเป้านิดเดียวเขาลดกระจายเหมือนกัน มันมี 2 ส่วน อันแรกคือว่าคุณตอบสนองสอดคล้องกับเป้าหมายแค่ไหน แต่พอบอกว่ายืดหยุ่น แปลว่าไม่ต้องสอดคล้องเลย หรือว่าถ้าเป้าหมายผิดก็ต้องเปลี่ยนเป้าหมาย
แต่ผมตั้งคำถามว่าการตั้งเป้าหมายมันตั้งได้จริงหรือไม่ เอาหลักการก่อนว่าทำได้หรือไม่ ต้องเริ่มจากตรงนั้นก่อน ถ้าหลักการถูกต้องก็จะไปในทิศทางที่มั่นคงถูกต้องเหมือนกัน
ต้นทุนแทรกแซงเงินบาท – มัดมือนโยบายการเงินระยะยาว
ขณะที่ประเด็นที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาทด้วยการขายเงินบาทและซื้อดอลลาร์ แต่ปัญหาของ ธปท. คือเวลาคุณเพิ่มปริมาณเงินบาทในระบบมันจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง แต่คุณตั้งดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.5% มันลงไม่ได้เพราะว่าคุณสัญญาเอาไว้ว่าจะตั้งดอกเบี้ยไว้ 1.5% ธปท. ต้องหาทางเอาเงินบาทออกอีกขาหนึ่ง เรียกว่า Sterilization ต้องออกพันธบัตร ธปท. ถ้าดูงบดุลของ ธปท. ข้างสินทรัพย์ซื้อดอลลาร์มาเก็บ สินทรัพย์เป็นดอลลาร์เพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้สิน ธปท. คือต้องออกพันธบัตร หนี้สินเป็นเงินบาทมันเพิ่มขึ้น แปลว่า ธปท. ซื้อสินทรัพย์ที่มีโอกาสจะเสื่อมค่าคือเงินดอลลาร์สหรัฐ และสร้างหนี้สินซึ่งมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นคือเงินบาทก็ขาดทุน
แม้ว่าในหลักการไม่เถียงว่า ธปท. ขาดทุนได้ เพราะ ธปท. พิมพ์เงินได้ และการขาดทุนแบบนี้มีทุนสำรองเพิ่มขึ้นมันไม่ได้ยากลำบากเหมือนตอนที่ทุนสำรองหมด แต่ถามว่ามันดีสำหรับงบดุล ธปท. หรือไม่ มันไม่ดีแน่นอน เพราะ ธปท. จะดำเนินงานขาดทุนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานหลักหรือรากเหง้าของประเด็นคือคุณเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือดอกเบี้ยจริงสูง ถ้าแทรกแซงตรงนี้ไปงบดุลจะแย่ลง
ขณะที่ในระยะยาว ถ้าขาดทุนแปลว่า ธปท. จะต้องหาเงินมาอุดช่องว่าง ซึ่งไม่ใช่อะไร นอกจากการพิมพ์เงิน เพราะมีอำนาจพิมพ์เงิน ไม่ต้องกลัวว่าคนที่เป็นเจ้าหนี้ ธปท. จะมีปัญหา เพียงแต่ว่าในระยะยาวถ้าพิมพ์เงินมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นเงื่อนไขหรือข้อตกลงที่ต้องพิมพ์เงินมาแจกให้เจ้าหนี้ แต่เวลาที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องลดปริมาณเงินหรือไม่เพิ่มปริมาณเงิน ธปท. จะทำไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ห้ามผิดนัดชำระหนี้
เพราะฉะนั้นในระยะยาวเกิดพลิกกลับไปเป็นปัญหาเงินเฟ้อและต้องการลดปริมาณเงิน ถ้าขาดทุนอยู่ การลดปริมาณเงินตามความต้องการของนโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้ออาจจะทำได้ยาก ดังนั้น ธนาคารกลางที่ไหนก็ตามไม่ควรจะขาดทุน เพราะการขาดทุนเป็นการบังคับให้เพิ่มปริมาณเงินโดยไม่สามารถคำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อหรือนโยบายการเงินในภาพใหญ่ได้ หลักการเป็นแบบนี้ คุณทำงบดุลมีปัญหาจนต้องพิมพ์เงินมาจ่ายหนี้เรื่อยๆ มันไม่ถูกแน่ๆ
เงินเฟ้อต่ำกระทบเอสเอ็มอี แม้ว่าตัวเลขจะดีขึ้น
ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อไปถึงภาวะเงินเฟ้อต่ำว่ายังสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในแง่ที่ว่าการฟื้นตัวจะไม่กระจายตัว เนื่องจากพอเงินเฟ้อต่ำมันแปลว่าข้างในประเทศอำนาจกำหนดราคาหรือ Pricing Power ไม่ดีหรือไม่มีใครขึ้นราคาสินค้าได้ ยกตัวอย่างที่เคยมีข่าวออกมาว่าออกพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวใหม่ แรงงานต่างชาติกลับประเทศไปเป็นหลักหมื่นหลักแสนคน มีใครบ้างที่บอกว่ากลัวราคาสินค้าขึ้น ไม่ค่อยมีเลย เพราะลึกๆ ทุกคนไม่คิดว่ามีอำนาจกำหนดราคาเลยประเทศนี้ สมัยก่อนน้ำท่วมนิดเดียวกลัวราคาสินค้าแพง ต้องกักตุน ราคาจะขึ้น ตอนนี้จะท่วมเหมือนกันแต่ไม่มีใครพูดเลย ไม่มีใครกลัวเลย เพราะลึกๆ ไม่มีใครมีอำนาจขึ้นราคา พอไม่มีอำนาจกำหนดราคา มันกลับมาตอกย้ำว่ารอซื้อของในอนาคต ไม่ต้องรีบซื้อเดี๋ยวนี้ ของในอนาคตมันถูกลงและเทคโนโลยีมันดีขึ้นทุกวันๆ ยิ่งรอของยิ่งถูกยิ่งดี จิตวิทยาแบบนี้มันเข้ามาอยู่ในความคิดของเรามากขึ้น เวลาเงินเฟ้อต่ำจะเป็นแบบนี้
ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยากขยายตัวเพราะเล็ก ดังนั้นเอสเอ็มอีจะคิดว่าต้องขยายยอดขาย ต้องขายได้มากขึ้น ขณะที่จีดีพีคือยอดขายของประเทศ การขยายตัวของจีดีพีคือการขยายตัวของยอดขาย สมัยก่อนจีดีพีโต 7% เงินเฟ้อ 5% แปลว่ายอดขายโต 12% สมัยก่อนใครโตต่ำกว่านี้แย่ ถ้า 12% แปลว่าปกติ เอสเอ็มอีอยู่ได้สบายเพราะยอดขายโต 2 หลัก และโดยธรรมชาติเอสเอ็มอีจะไม่ค่อยดูแลต้นทุน ไม่ดูเรื่องการก่อหนี้ จะไม่ค่อยรู้เรื่องการเงิน เพราะตั้งใจจะโตแบบมือยาวสาวได้สาวเอาจากการขยายยอดขาย
แต่ในวันนี้จีดีพี 3% เงินเฟ้อ 0.5% ย้อนไป 2 ปีติดลบด้วย ยอดขายเอสเอ็มอี 3-4% ก็ดีจะแย่แล้ว แบบนี้เอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้แน่นอน
เพราะเขาไปกู้มามากโดยไม่รู้ตัว ธรรมชาติเขาจะกู้เพื่อกระแสเงินสดด้วยซ้ำ กู้มาขยายธุรกิจ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็กู้ คิดว่ายอดขายจะมา แต่เอายอดขายไม่ได้เพราะจีดีพีประเทศยังไม่โตเลย สมมติตอนนี้จีดีพี 4% บวกเงินเฟ้อ ยอดขายมันไม่มาเหมือนแต่ก่อนแน่นอน เอสเอ็มอีจะมีปัญหาแน่นอนและมีปัญหาจริงๆ
“เอสเอ็มอีถึงเจอหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลขึ้น มันเป็นภาวะแปลกที่คุณบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นแต่เอ็นพีแอลขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าเงินเฟ้อต่ำเป็นตัวที่อธิบายได้ตัวหนึ่ง เงินเฟ้อต่ำมากๆ ยากที่เอสเอ็มอีจะเฟื่องฟูได้ นึกภาพว่าเอสเอ็มอีสมัยก่อนกู้เงินมา 100 บาท เงินเฟ้อ 5% มูลค่าเงินกู้ที่แท้จริงจะเหลือ 95 บาทในปีต่อไป ตอนนี้มันไม่ลดลงเลย ต้นทุนมันไม่ลดเลย จ้างแรงงานมาเดิมทีวันละ 100 บาท 1 ปีผ่านไปเหลือ 95 บาท ต้นทุนลง ในภาวะที่เงินเฟ้อสูง ยอดขายโต 2 หลัก ต้นทุนลงแบบนี้ กำไรส่วนเกินถ่างขึ้นทุกปี แต่ปัจจุบันกำไรส่วนเกินแคบลง ยอดขายไม่ค่อยโต ต้นทุนไม่ลดลง เป็นปัญหาของเอสเอ็มอี เพราะว่า Nominal GDP ไม่เติบโต ลองให้โต 12% เอ็นพีแอลหายเรียบ เพราะยอดขายมันโต” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ส่วนที่รัฐบาลชี้แจงว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มรายใหญ่ขายส่งออกได้ดีกับท่องเที่ยวเขาดี ซึ่งหวังว่า 2 กลุ่มนี้ในที่สุดจะกระจายความร่ำรวยฟื้นตัวไปสู่ภาคอื่นๆ แต่การกระจายมันยากถ้าอยู่ในกรอบที่เงินเฟ้อต่ำ ในภาวะที่ธนาคารระมัดระวังจากต้นปีถึงปัจจุบันปล่อยสินเชื่อเพิ่มมา 1% ธนาคารเก็บดอกเบี้ยเฉลี่ยเท่าไหร่ 7% แสดงว่าสุทธิแล้วธนาคารดึงเงินกลับ 6% เพราะว่าไม่ได้เอาไปปล่อยกู้เพิ่มแต่ยังอยู่ได้
ธปท. หวังว่าเวลาผ่านไปการส่งออกจะดีขึ้น บริษัทใหญ่จะกระจายมาสู่คนอื่นและทำให้ทุกคนมีกำลังซื้อมากขึ้น เงินเฟ้อก็ขึ้น แย่งกันซื้อ ดุลบัญชีเดินสะพัดก็บวกน้อยลง เงินบาทก็จะได้อ่อนค่าลง แต่ถูกหรือผิดเป็นสมมติฐานที่ต้องรอดู เพราะว่า ธปท. รัฐบาลคิดแบบนี้ แต่เล่าให้ฟังว่าความเสี่ยงอีกขาหนึ่งเป็นอย่างที่ว่าข้างต้น รอดูอีก 6 เดือนก็รู้ว่าจะเป็นไปแบบนั้น หวังว่าจะเป็นไปตามรัฐบาลว่า ถ้าไม่ก็ต้องคิดกันใหม่