WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:08 น. ข่าวสดออนไลน์


ปัญหาเศรษฐกิจ พิสูจน์'ประยุทธ์1'

ข่าวสด การเมือง

       
เรียบร้อยโรงเรียน คสช.ไปอีก 1 เรื่องภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. ครั้งประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองไทย เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
      โหวตด้วยเสียงเอกฉันท์ 191 ต่อ 0
 
      เห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคสช. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 19
 
     โดยไม่มีการเสนอชื่ออื่นเข้าแข่งขัน
 
      สำรวจโปรแกรมย้อนกลับไปหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช.เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พร้อมประกาศโรดแม็ป 3 ระยะในการคืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้คนไทย
 
     1 เดือนหลังยึดอำนาจ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับต้นกำเนิดแม่น้ำ 5 สาย โดยกำหนดอำนาจของ คสช.ไว้คงเดิม บางคนมองว่าอาจมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำหากดูในมาตรา 44 
 
     ถัดมาเดือนที่ 2 ของ คสช. มีการประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 197 คน จาก 220 คนตามโควตาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว
 
     โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าเป็น "สภาสีเขียว" เนื่องจากมีทหารเข้ามาเป็นสมาชิกเกินครึ่ง
 
     การเป็นสภาสีเขียวนั้น ถึงจะฟังขัดหู ดูขัดตา สำหรับฝ่ายยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือทำให้การขับเคลื่อนโรดแม็ปของคสช.
 
      เป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าที่วางไว้ทุกประการ
 
     ไม่ว่าการโหวตหนุนพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงเอกฉันท์ โดยไม่มีใครมีปัญหาแม้แต่คนเดียว มีเพียงประธานและรองประธาน 3 คน ที่งดออกเสียงตามมารยาท
 
    หรือก่อนหน้านั้นในการประชุมพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้าน 
 
    วันที่พล.อ.ประยุทธ์ใส่ชุดสูท แทนชุดทหาร ซ้อมบทบาทผู้นำรัฐบาล ลุกยืนชี้แจงแผนใช้จ่ายงบประมาณต่อที่ประชุมสนช.นานกว่า 1 ชั่วโมง
 
     จากนั้นมีสมาชิก สนช.อภิปรายในลีลา "ยอวาที" เพียง 17 คน ก่อนทั้งหมดพร้อมใจลงมติรับหลักการวาระแรก 183 เสียง
 
     ไม่มีใครลงมติไม่เห็นชอบ
 
     "ไม่กังวลอะไร"
 
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบสั้นๆ หลังโดนนักข่าวยิงคำถามใส่ว่ากังวลหรือไม่ เพราะคนที่ต้องมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต้องทำงานหนักมาก
 
    เป็นการตอบระหว่างเป็นประธานงานวันสถาปนาครบรอบปีที่ 64 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21รอ.) ค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี
 
    ไปร่วมงาน "ถิ่นเก่า" ในวันเวลาเดียวกับสนช.ประชุมมีมติเลือกหัวหน้า คสช. ขึ้นดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรี
 
     จนเกิดการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจกันแน่
 
     เพราะอย่างที่รู้กันว่าค่ายนวมินทราชินี หรือที่รู้จักกันในนาม "ทหารเสือราชินี" คือหน่วยงานที่พล.อ.ประยุทธ์ เติบโตในชีวิตราชการทหาร กระทั่งได้เป็นผบ.ทบ.
 
      ถึงกำลังจะเกษียณในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะ "แจ้งเกิด" ใหม่ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
 
แล้วก็เป็นไปตามธรรมเนียม เมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นเรื่องการจัดวางคนลงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 35 ตำแหน่ง
 
ลงตัวช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์
 
       แต่ก่อนไปถึงขั้นนั้น ต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีลงมาเสียก่อน การจัดตั้งครม. ถึงจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
 
       ส่วนโผรายชื่อจะสะเด็ดน้ำเมื่อไหร่ คาดการณ์กันไว้ภายในสัปดาห์หน้าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องได้รายชื่อครบถ้วน ส่วนจะไปถึงขั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้เลยหรือไม่ ต้องรอดูอีกที
 
     เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนการทาบทาม การตรวจสอบคุณสมบัติ
 
      นอกจากนี้ ภายหลังการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ก็ยังมีขั้นตอนสำคัญที่นายกรัฐมนตรีต้องนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง
 
     ส่วนรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษ ต้องแถลงนโยบายต่อสนช.หรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป เพราะเป็นแค่ธรรมเนียมปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บังคับให้ต้องทำ
 
     ที่สำคัญคือรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น มีนโยบายอย่างไร
 
     เป็นที่รับรู้กันในสังคมวงกว้างอยู่แล้ว
 
     1 เดือนประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว, 2 เดือนประกาศตั้งสนช., 3 เดือนตั้งนายกรัฐมนตรี ถ้าทุกอย่างยังเดินไปตามโรดแม็ป ไม่มีอะไรมาทำให้สะดุด
 
     ในเดือนก.ย.ก็จะได้รัฐบาลฟูลทีม พร้อมร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะผ่าน สนช.วาระสามไปได้ราบรื่นไม่ต่างจากวาระแรก
 
     จากนั้นรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ก็จะได้ฤกษ์ใส่เกียร์เดินหน้าเข้าสู่โหมดบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ
 
      ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 250 คน ซึ่งอยู่ระหว่างสรรหา รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิ การยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน คาดว่าจะเสร็จสิ้นไม่เกินเดือนต.ค.
 
      แต่ที่กล่าวกันมากว่าเป็น "การบ้านข้อแรก" ของรัฐบาลคสช. คือการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาราคาพืชผลการเกษตรและการท่องเที่ยว ที่กำลังทรุดตัว
 
      สวนทางสถานการณ์คสช.ที่นับวันยิ่งมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
 
      ที่วิจารณ์กันก็คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการจัดทีมครม.ด้านเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีหลายคนเรียกร้องว่าควรยึดเอาความรู้ความสามารถเป็นตัวตั้งเหนือสิ่งอื่นใด
 
      เพราะสิ่งที่หลายคนเห็นและรับรู้มาตลอดระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา คือการที่คสช.มุ่งเน้นแก้ปัญหาด้านความมั่นคงภายในประเทศเป็นหลัก
 
     ด้วยเพราะเป็นงานสำคัญช่วงเริ่มแรกของการยึดอำนาจ อีกทั้งเป็นงานที่กองทัพมีความเชี่ยวชาญ จึงทำให้ผลตอบรับออกมาดี สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมด
 
      แต่ที่หลายคนห่วงคืองานด้านเศรษฐกิจ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคน ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงปัจจัยขึ้นลงในต่างประเทศทั่วโลก
 
     เป็นปัจจัยภายนอกที่รัฐบาลไทยควบคุมไม่ได้ ต่อให้เป็นรัฐบาลทหารก็ตาม เผลอๆ อาจยิ่งบานปลายไปกันใหญ่
 
     การนำ "บิ๊กทหาร" มาเป็นรัฐมนตรีดูแลงานกระทรวงความมั่นคง มีความจำเป็นขนาดไหน การนำ "มืออาชีพ" เข้ามาดูแลงานกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ก็จำเป็นในระดับเท่าเทียมกัน
 
     ไม่เช่นนั้นโรดแม็ปคืนความสุข อาจไปไม่ถึงเป้าหมายตามที่คสช.และรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ให้ความหวังไว้กับคนทั้งประเทศ
 
      เพราะแต่ไหนแต่ไรมาการเมืองกับเศรษฐกิจนั้น เป็นปัญหาคู่แฝดที่แยกจากกันไม่ออก....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!