- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 20 August 2014 11:06
- Hits: 3292
ASP เล็งปรับลดเป้า GDP ปีนี้โตต่ำกว่า 2% มองส่งออกรับผลกระทบศก.โลกฟื้นช้า
บล.เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มที่จะปรับลด GDP Growth ต่ำกว่า 2% จากที่ประเมินไว้เดิม 2% โดยจะปรับลดตัวเลขในภาคส่งออก-นำเข้าสินค้าและบริการที่ประเมินไว้สูงเกินไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะทางฝั่งของสหภาพยุโรปที่ยังประสบภาวะการว่างงานในอัตราสูงกว่า 11.5% และอาจจะเผชิญกับภาวะเงินฝืด
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติม ภายหลังการตอบโต้ทางการค้าของรัสเซีย หลังจากที่สหรัฐและสหภาพยุโรปได้เริ่มคว่ำบาตรทางการค้าต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครนในเขตปกครองตนเองไครเมีย คาดว่าล่าสุดรัสเซียหยุดนำเข้าสินค้าอาหารจากสหรัฐ (ส่วนใหญ่คือเนื้อไก่แช่แข็ง) และหยุดนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากสหภาพยุโรป(เนื้อสัตว์ น้ำตาล อาหารแห้ง เป็นต้น) ขณะที่ฝั่งสหรัฐ และ สหภาพยุโรป คุมเข้มการส่งออกอุปกรณ์ตา งๆ ในอุตสาหกรรมน้ำมัน รวมทั้งระงับการส่งออกเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยุทธปัจจัยทางทหาร ให้แก่รัสเซีย
ปัจจัยเหล่านี้อาจจะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 อาจจะไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ IMF คาดการณ์ไว้ที่ 3.4% นอกจากนี้อาจจะปรับเพิ่มการบริโภคภาคครัวเรือน เนื่องจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่เริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าวานนี้ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของไทยไตรมาส 2/57 ขยายตัว 0.4% ดีกว่าติดลบ 0.5% ในไตรมาส 1/57 ซึ่งต่ำกว่า ASP คาดไว้ที่ 0.6% แต่หลักๆ แล้วมาจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายภาครัฐ และ การบริโภคเอกชน สวนทางกับการนำเข้าภาคบริการ และการลงทุนเอกชนที่ชะลอตัวลดลงจากไตรมาส 1/57 อย่างมาก โดยรวมจึงส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกติดลบ 0.1%
ขณะที่ในครึ่งปีหลัง ฝ่ายวิจัย ASP คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/57 และเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/57 หลังจากความไม่สงบทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง ทำให้สามารถเรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาได้อีกครั้ง โดยในเดือน ก.ค. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (หลังจากที่ก่อนหน้านมีการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 13 เดือน) และ เพิ่มเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการบริโภคของภาคเอกชน (ราว 55% ของ GDP)
ตามมาด้วยการเบิกจ่ายของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ตามการเร่งรัดของรัฐบาลรักษาการ และ ภาคส่งออกที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่คาดว่าการลงทุนโดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้า จนกว่าจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่พร้อมจะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น การสร้างระบบรถไฟฟ้ารางคู่ ระบบขนส่งมวลชล และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ ต่อ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ(Nominal GDP) เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี พบว่า การลงทุนเอกชน และ ภาครัฐ มีสัดส่วนราว 20% และ 6%ตามลำดับ (ช่วงครึ่งปีแรกพบว่าการลงทุนเอกชน เฉลี่ย 21% และ ภาครัฐ 5%) จึงคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนภาครัฐน่าจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายตัวของ GDP Growth ไม่มากนักแต่น่าจะเป็นปัจจัยบวกทางอ้อมมากกว่า เนื่องจากการลงทุนภาครัฐ จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชน (22% ของ GDP) และการบริโภค (55% ของ GDP)
"ในงวด 2H57 เศรษฐกิจไทยยังมีการฟื้นตัวแบบขั้นบันได แต่น่าจะเติบโตต่ำกว่าที่ ASP ประมาณไว้ราว 4.1% ต่อไตรมาส โดยน่าจะลดลงมาเหลือราว 3% เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อน ยังมาการใช้จ่ายภาครัฐ และการบริโภคภาคครัวเรือนขณะที่ ภาคส่งออกน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว"
แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าในปี 58 เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และ ภาครัฐที่ดีขึ้น คาดว่าการลงทุนโดยรวมน่าจะมีสัญญานที่ดีขึ้น จากเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ 2.4 ล้านล้านบาท ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (รถไฟ, ก่อสร้างทางหลวง,พลังงาน และระบบบริหารจัดการน้ำ) ซึ่งน่าจะสร้างบรรยากาศการลงทุนเอกชน หากพิจารณายอดจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมา โดยเดือน ก.ค. มี 147 โครงการ สูงสุดตั้งแต่ ม.ค.56 ถึงแม้ว่ามูลค่าเงินลงทุนจะไม่สูงมาก แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวน โครงการได้สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กลับมาอีกครั้ง รวมถึงการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกตาม IMF ประมาณไว้ที่ 4% ในปี 58
"คาดว่าในปี 58 น่าจะกลับมาเติบโตในกรอบ 3.5-4% โดยได้รับแรงหนุนจากทุกภาคส่วนทั้งการบริโภค และ การลงทุนของรัฐ รวมถึงการค้าระหว่างประเทศ หลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน"
อินโฟเควสท์