- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 30 July 2017 20:27
- Hits: 16405
นักวิชาการ-ADB คาดศก.ไทย H2/60 กระเตื้องขึ้นจากการลงทุนภาครัฐ/เอกชนห่วงปัจจัยการเมืองทำนโยบายขาดความต่อเนื่อง
นายเฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา ‘จับตาทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง กระเตื้องขึ้นหรือซึมยาว’ โดยประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะกระเตื้องขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก และน่าจะทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.4-3.6% ซึ่งการลงทุนภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้การท่องเที่ยวจะเป็นกลจักรที่สำคัญอีกตัวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 34.5 ล้านคน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปีนี้จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% เนื่องจากการเพิ่มการลงทุนในด้านเครื่องจักรซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านการส่งออก
"ถ้าการใช้จ่ายภาครัฐมีการจ่ายจริงตามแผน ก็คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตได้ 3.5-3.6% แต่หากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโตได้แค่ 3.4% ดังนั้นทั้งปีกรอบการเติบโตคงอยู่ในช่วง 3.4-3.6%" นายเฉลิมพงษ์ กล่าว
พร้อมคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 0.7% ขณะที่การส่งออกจะเติบโตได้ 5.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับ ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และค่าเงินบาท ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้านั้นพบว่าทั้งจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป มีอัตราการเติบโตสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งหากในช่วงครึ่งปีหลังเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่าคาด
นายเฉลิมพงษ์ คาดว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่องจากต้นปีและยังมีทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมีขึ้นอีก 1 ครั้งภายในปีนี้จะมีผลกดดันค่าเงินบาทอยู่บ้าง แต่เศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังไม่เห็นการเติบโตที่ชัดเจนนัก ประกอบกับการส่งออกของไทยยังมีทิศทางที่ดี ซึ่งจะทำให้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ ส่วนเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าลงไปมากกว่า 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐนั้น เชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าหรือแข็งค่านั้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย โดยสิ่งที่จะมีผลโดยตรงต่อการส่งออกน่าจะมาจากความมีเสถียรภาพของค่าเงิน รวมทั้งรายได้และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญมากกว่า
"ความผันผวนของค่าเงิน ถือว่าสำคัญมากกว่าค่าเงินจะอยู่ระดับที่เท่าไร จริงอยู่ที่ทิศทางค่าเงินอาจจะมีผลในระยะสั้นต่อการส่งออก แต่ระยะยาวนั้น เชื่อว่าเรื่องรายได้และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจะมีความสำคัญมากกว่า" นายเฉลิมพงษ์ กล่าว
ด้านนางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการขยายตัวดีขึ้น โดยทั้งปีนี้ ADB คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5% ในขณะที่ปี 61 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งการส่งออกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
ขณะที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญว่าจะสามารถดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เพราะหากการลงทุนมีความล่าช้าก็จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องติดตามเรื่องของ Global Demand ด้วยว่าการส่งออกจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่
"ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตไม่ได้ในระดับ 3.5-3.6% และอาจจะตกลงไปเหลือที่ 3.2% ได้นั้น น่าจะมาจาก 2 เรื่องหลักๆ คือ Global Demand ซึ่งจะทำให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าได้หรือไม่ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐจะเบิกจ่ายได้ตามแผนไหม ประมูลได้ตามกำหนดหรือไม่ เพราะมันจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีจากนี้" เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ADB ระบุ
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจัยภายในประเทศเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยมากกว่าปัจจัยจากต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้มองว่าปัจจัยต่างประเทศไม่น่าจะมีสถานการณ์อะไรที่รุนแรง ทั้งในเรื่องปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญและต้องจับตา คือ สถานการณ์การเมืองของไทยเอง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าอันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่อาจจะขาดความต่อเนื่อง จึงทำให้มองว่าเป็นความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
"ปัญหาภายนอกดูแล้วไม่น่าจะมีผลกระทบมาก เรื่องสงครามก็คงยังไม่ไปถึงจุดนั้น ภัยธรรมชาติก็คงยังไม่มีอะไรมาก แต่ปัญหาภายในเอง คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และความต่อเนื่องของนโยบาย ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงสูง เพราะแม้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำเป็นกฎหมายไว้ชัดเจน แต่รายละเอียด รัฐบาลชุดใหม่เขาอาจจะไม่เดินตามนี้ก็ได้" นายพรศิลป์ กล่าว
รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางการส่งออกว่า ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพในเรื่องโครงสร้างการผลิตสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารมานานนับสิบปี เนื่องจากขาดการพัฒนาสินค้า และขาด market power ซึ่งหากไม่มีการพัฒนาโครงสร้างการผลิตสินค้าภายในประเทศก็จะทำให้การส่งออกอาจจะซึมตัวแบบนี้ไปอีก 10 หรือ 20 ปีได้ พร้อมมองว่า การเติบโตของการส่งออกไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องค่าเงินเป็นตัวหลัก เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถเลือกที่จะใช้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องให้ความสำคัญคือการเร่งปรับโครงสร้างการผลิตมากกว่า
"ถ้าเราไม่ขยับอะไรเลย ปล่อยให้เป็นแบบนี้ ปล่อยให้ทุกอย่างขึ้นกับตลาด ให้ตลาดเป็นคนสั่งการ การส่งออกก็จะซึมไปอีกเป็นสิบๆ ปี...รายได้ของการส่งออกไม่ได้ขึ้นอยู่กับบาทอ่อนบาทแข็ง แต่เป็นเพราะเราไม่มี market power" นายพรศิลป์ ระบุ
อินโฟเควสท์