- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 06 August 2014 23:20
- Hits: 3399
อัมมาร แนะปิดช่องโหว่นักการเมืองใช้เงินนอกงบฯ สร้างประชานิยม/บัณฑูรชี้ต้องปลอดการเมืองแทรก
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โจทย์เร่งด่วนสำหรับเศรษฐกิจการคลังของไทยในขณะนี้ คือ การปิดช่องโหว่ในการที่จะให้ภาคการเมืองเข้าไปมีโอกาสใช้เงินนอกงบประมาณผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพื่อมาใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ เพราะสิ่งนี้จะก่อให้เกิดการขาดวินัยทางการคลัง ซึ่งจะเห็นว่านโยบายประชานิยมจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันเกิดจากการที่รัฐบาลสามารถใช้เงินนอกงบประมาณได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น จึงมองว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จำเป็นต้องเร่งปิดช่องโหว่ในส่วนนี้ และถือเป็นความท้าทายในลำดับแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการ
"เป็นความท้าทายอันดับแรกๆ หวังว่า สศค.จะเข้ามาปิดช่องโหว่ในจุดนี้ เพราะที่ผ่านมา สศค.ชี้โพรงให้นักการเมืองได้ใช้ช่องนี้ ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องปิดช่องโหว่นี้" นายอัมมาร กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในหัวข้อ"เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน"
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ในประเทศไทยมีการปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกเป็นด้านการเมือง คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และครั้งต่อมาคือด้านเศรษฐกิจ คือ หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งทำให้ต้องมีการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และระบบการเงินการธนาคารของไทยครั้งใหญ่
"ที่พูดว่าเป็นการปฏิรูปนั้น ที่ผ่านๆ มาเป็นแค่ราคาคุย เพราะผลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงถาวรนั้นหายาก ที่เห็นว่าปฏิรูปแท้จริงคือปี 40 เป็นการปฏิรูปในประวัติศาสตร์ที่เป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง" นายบัณฑูร กล่าว
พร้อมระบุว่า หลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 ไปแล้วทำให้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งภาคการเงินของไทยถือว่าโชคดีที่มีบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่ผู้บริหารเก่าๆ สามารถเรียนรู้ถึงความยับยั้งชั่งใจและทำให้ไทยรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจอื่นๆ มาได้ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง แม้จะมีความพยายามจากนักการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซงแต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดยเฉพาะความพยายามที่อ้างว่าจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐที่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารงานของนักการเมืองและถูกแทรกแซงการทำงาน เช่น การสั่งปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเอาใจประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้
"ภาคราชการโดยตรงยังล่อแหลมกับการถูกการเมืองเข้าแทรกแซง ต้องรอดูหลังการเลือกตั้งว่าเรื่องนี้จะหวนกลับมาหรือไม่" นายบัญฑูร กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของ สศค.
อินโฟเควสท์