- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 07 January 2017 10:33
- Hits: 6361
เศรษฐกิจปี 2560'ลงทุนรัฐ' แรงส่งหลัก ดันจีดีพีโต
ไทยโพสต์ : ผ่านไปแล้วสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่ต้องยอมรับว่า มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะหลายปัจจัยยังอาจมีผลถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วยเช่นกัน
* ภาพรวมเศรษฐกิจปี 59
ย้อนกลับมาดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา หลักๆ ยังคงเติบโตได้ที่ระดับ 3-3.3% แต่ก็ยังถือว่าเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญอย่าง "ภาคการส่งออก" ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ตาม จากตัวเลขการส่งออกในแต่ละเดือนที่พลิกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ แต่ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยต่อ "ภาคการส่งออก" ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศก็อยู่ระหว่างการฟื้นตัว แต่ด้วยกลไกในตลาดหลายเรื่อง ทำให้แต่ละประเทศมีการปรับตัวค่อนข้างมาก จากที่เคยเป็นผู้นำเข้า ก็หันมาเป็นผู้ผลิตมากขึ้น ตรงนี้เองอาจยังเป็นประเด็นให้ผู้ส่งออกของไทยต้องติดตามและปรับตัวสอดรับกับตลาดโลกมากขึ้นเช่นกัน
ขณะที่ 'ภาคการท่องเที่ยว'อาจจะมีเป๋ๆ ไปบ้าง จากนโยบายในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ด้วยการ 'ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ' จนเป็นผลทำให้ยอดสะสมของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย.2559 ขยายตัวได้เพียง 12.65% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมอยู่ที่ 8.2 ล้านคน ทำให้ปัจจัยที่เคยได้ชื่อว่าเป็น "พระเอก" ของเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการท่องเที่ยวเสียหลักไปพอสมควร
แต่ในส่วนของภาครัฐเอง ยังเชื่อมั่นว่าปัจจัยเสี่ยงในประเด็นนี้จะส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวในระยะสั้นเท่านั้น พร้อมทั้งประเมินว่าในปี 2560 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6% สร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นอีก 9% หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.82 ล้านล้านบาท
ในทางกลับกัน ปัจจัยที่กลายมาเป็น "ตัวเอก" ในการดันเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา นั่นคือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการลงทุนสำคัญมากมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครง สร้างพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเพื่อเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน จากที่เคยชะลอการลงทุนเอาไว้
รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "ยาแรง" ตัวนี้จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในปีนี้ และหันกลับมาลงทุนตามแผนงานที่ได้วางเอาไว้ ทำให้ปัจจัยดังกล่าวจะยังเป็นปัจจัยที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
ตัดภาพกลับมาที่ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560" ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องจับตา แต่โดยภาพรวมแล้วหลายฝ่ายเชื่อมั่นกันว่า "ปีไก่ทอง" นี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
เริ่มกันที่ 'ทริส เรทติ้ง' ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3-3.85% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวอยู่ประมาณ 3% โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ นั่นคือ การลงทุนของภาครัฐ ที่ยังคงมีการผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการประกาศแผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย ทำให้เชื่อมั่นว่าปัจจัยนี้จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้แน่นอน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตาม หลักๆ ยังมาจากประเด็นนอก ประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจอย่าง "สหรัฐอเมริ กา" ทั้งการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของ "โดนัล ทรัมป์" ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของประเทศกลุ่มยุโรป การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและของไทยด้วย
'ทริส เรทติ้ง'ยังมองอีกว่า อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในระดับ 5-6% เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หากมีการลงทุนเกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ
* สศช.ลุ้นจีดีพีปี 60 โต 4%
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ "สภาพัฒน์" ได้ออกมาประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3-4% จากแรงส่งของภาคการส่งออก ที่เชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะพลิกกลับมาเป็นแรงสนับ สนุนให้ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนของภาคเอกชนขยาย ตัวได้ดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนภาคการเกษตร มีลุ้นว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเช่นกัน และการปรับตัวดีขึ้นนี้เอง จะเป็นแรงส่งให้ "การใช้จ่ายภาคครัวเรือน" ในปี 2560 กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาด้วย
สำหรับ ภาคการลงทุนของรัฐนั้น "สภาพัฒน์" ประเมินว่า ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนนี้ยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี มีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง ส่วน "ภาคการท่องเที่ยว" ที่อาจจะได้ไม่ดีมากในปีที่ผ่านมา ก็เชื่อว่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะโดยภาพรวมแล้วในส่วนนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
'ปรเมธี วิมลศิริ'เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า การขยายตัวของ เศรษฐกิจไทย ยังคงมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาจากความผัน ผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ, ผลการเลือกตั้งของหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี เป็นต้น, การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร, ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และปัญหาในภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนด้วย
* คลังจี้รัฐวิสาหกิจลงทุน
ข้ามมาที่ 'กระทรวงการคลัง'นำทีมโดยเจ้ากระทรวงคนเก่งอย่าง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.การคลัง ที่พูดให้ได้ลุ้นว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวได้ 3.4% โดยในส่วนนี้ยังไม่รวมเม็ดเงินจากงบกลางอีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท ที่เตรียมอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของจีดีพีได้เป็นอย่างดี ทำให้อาจจะมีลุ้นกันต่อไปว่าหากพิจารณาปัจจัยเสริมเรื่องเงินพิเศษจากงบกลางเข้ามาด้วย อาจช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้เกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้อย่างแน่นอน
ไม่เพียงเท่านี้ 'อภิศักดิ์'ยังเร่งรัดให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เร่งรัดการลงทุนในช่วงปีนี้ด้วย เพื่อสนับสนุนความเชื่อมั่น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2560 ทำได้เต็มที่มากขึ้น เพราะปีนี้ การลงทุนของภาครัฐจะยังคงเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่เช่นเคย
"ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกนโยบายเร่งรัดการลงทุน มากมาย ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิด การลงทุน แต่เอกชนก็ยังไม่ลงทุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น มองว่าหากรัฐวิสาหกิจ จะหันกลับมาเร่งการลงทุนเอง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว น่าจะช่วยกระตุ้นทำให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่นและลงทุนตามได้" รมว.การคลังระบุขณะที่ "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ออกมายืนยันอีกเสียงว่า ปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงส่งจาก การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ที่ยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าในเขตเมือง
ประกอบกับแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทำให้คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ "การบริโภคภาคเอกชน" ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้น รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทของไทยที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ทำให้ประ เมินว่า "ภาคการส่งออกบริการ" ของไทยในปี 2560 จะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
'สมชัย สัจจพงษ์'ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ในปี 2560 ภาครัฐมีโครงการลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก ราว 4 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีงบกลางปี 2560 เพิ่มเติมอีก 1.6 แสนล้านบาท และยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งสิ้นราว 8-9 แสนล้านบาท จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นสำคัญ และจะเป็นอีกปัจจัยเด่นที่ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและทำให้เกิดการลงทุนตามภาครัฐไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแผนการลงทุน หรือไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทนั่นเอง
"การลงทุนจำนวนมากของรัฐบาล จะทำให้ภาคเอกชนได้รับประโยชน์ โดยอัตโนมัติ จากที่เอกชนได้ชะลอการลงทุนมานานแล้ว ตรงนี้เองจะส่งผลให้เอกชนไม่สามารถชะลอการลงทุนไปได้อีก เพราะการที่รัฐบาลลงทุนอย่างเต็มที่ จะเป็นตัวจุดประกายให้เอกชนลงทุนเพิ่มในปี 2560 ด้วยเช่นกัน"
ปลัดกระทรวงการคลังประเมินว่า ด้วยปัจจัยเรื่องการลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ทำได้อย่างเต็มที่เต็มกำลังนี้เอง จะเป็นตัวสนับสนุนนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐ และทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตได้ อย่างเต็มศักยภาพที่ 4% ขึ้นไป เพราะการขยายตัวของจีดีพีไทยที่ 3% กว่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลมีความต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่าในระดับ 4% ขึ้นไปมากกว่า
ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย "จาตุรงค์ จันทรังษ์"ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ยังคงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.2% ด้วยปัจจัยสนับสนุนเรื่องการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่มีการปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐที่ได้ทยอยออกมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะส่งผลดีและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และยังช่วยชดเชยภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทัวร์ผิดกฎหมาย
ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนอาจจะขยายตัวต่ำกว่าคาดในปี 2559 ก็จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2560 โดยกลับมาเป็นบวกที่ 1.6% เนื่องจากเอกชนจะลงทุนตามภาครัฐหลังจากที่มีแผนการลงทุนชัดเจนมากขึ้น
* นโยบายรัฐดันเศรษฐกิจ
ขณะที่มุมมองของนักวิชาการ อย่าง "ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" โดย "ธนวรรธน์ พลวิชัย" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน โดยหลักๆ ยังเป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยว จะเป็นปัจจัยภายในประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็จะมีผลในการสนับสนุนการขยายตัวด้วยเช่นเดียวกัน
"ปัจจัยเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะมีความชัดเจนมากในช่วงไตรมาสแรกของปี ซึ่งจะส่งผลให้บรรยากาศการใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนกลับมาขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าว
ส่วน "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองในมุมที่สอดคล้องกับภาครัฐเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 3.3% ตามคาดการณ์เดิม และใกล้เคียงกับปี 2559 โดยปัจจัยที่เป็นความหวังสำคัญ นั่นคือ "การลงทุนของภาคเอกชน" ที่จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นและกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนให้การเติบโตเกิดขึ้นได้อย่างสมดุลมากขึ้น
สำหรับ ปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวแม้จะยังเติบโตได้อยู่ แต่ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงไปบ้าง โดย "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.8% ลดลงจากปี 2559 ที่ขยายตัว 8.6% ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญนั่นเอง ขณะที่การลงทุนของภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนก็ยังมีแนวโน้มการขยายตัวได้อยู่ แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง
"เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ต้องยอมรับว่ายังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.2% โดยยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม และคาดว่าจะมีผลต่อเนื่อง นั่นคือ ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่อาจหดตัวลงต่อเนื่อง การส่งออกและการลงทุนของภาครัฐที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ การบริโภคที่ยังมีการชะลอหลังใช้จ่ายล่วงหน้าตามมาตรการช็อปช่วยชาติไปแล้ว"
ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ระดับ 3.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลส่วนใหญ่มีการขับเคลื่อนการลงทุนได้มากขึ้น ประกอบกับการส่งออกที่เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน เหล่านี้น่าจะเป็นผลดีและเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
* จับตาปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพี
ขณะที่ "อมรเทพ จาวะลา" ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนา คารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กลับมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ระดับ 3.2% แม้จะเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับหลายสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจ แต่กลับลดลงจากคาดการณ์เดิมของซีไอเอ็มบีเอง ที่เคยประเมินไว้ที่ 3.5% ด้วยปัจจัยกดดันสำคัญอย่าง "เศรษฐกิจโลก" เพราะเห็นว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศของ "โดนัล ทรัมป์" ที่จะกระทบโดยตรงต่อจีน และจะกระทบชิ่งมาทางอ้อมถึงไทยด้วยเช่นกัน
ขณะที่ประเด็นเรื่อง "ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในโลก" ก็จะมากระทบกับภาคการส่งออกของไทย ทำให้ประเมินว่าในปี 2560 ภาคการส่งออกของไทยจะยังคงเติบโตแบบติดลบที่ระดับ 0.6% เป็นการเติบโตแบบติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แม้ว่าจะมีทิศทางดีขึ้นกว่าปี 2559 ที่ติดลบ 1.2% ก็ตาม
"อมรเทพ" ชี้ว่า ยังมีประเด็นที่ต้องจับตา โดยเฉพาะเรื่อง "ค่าเงินบาท" ที่ยังอ่อนลงตามค่าเงินหยวนของจีน ที่แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะพยายามทำให้ค่าเงินอ่อนเพื่อหนุนภาคการส่งออกและลดผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเมินได้ว่า ในปี 2560 นี้ ค่าเงินบาทอาจจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 37 ดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 36 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐจะอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ในอนาคตเฟดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ขณะที่ ธปท.เอง มีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เชื่อว่ามีโอกาสที่เงินต่างประเทศจะไหลออกจากไทยได้ แต่ในทางกลับกัน ไทยเองก็ยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ดังนั้น ในแง่ของ "ความมั่นคงทางการเงิน" อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนัก!.
"..ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกนโยบายเร่งรัดการลงทุนมากมาย ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน แต่เอกชนก็ยังไม่ลงทุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น มองว่าหากรัฐวิสาหกิจจะหันกลับมาเร่งการลงทุนเอง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว น่าจะช่วยกระตุ้นทำให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่นและลงทุนตามได้.."