- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 27 September 2016 21:29
- Hits: 9434
ADB ปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 59 เป็นโต 3.2% จากเดิม 3.0%, ปี 60 โต 3.5%
นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 เป็นโต 3.2% จากเดิม 3.0% และคาดว่าในปี 60 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% จากอานิสงส์ของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐและแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
"เรามีการปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% จากต้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ 3.0% จากครึ่งปีแรกมีการขยายตัวได้ดีกว่าคาด ซึ่งมาจากภาคการบริการ การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเอกชน ขณะที่ในครึ่งปีหลัง มองว่าอาจจะเติบโตไม่เท่ากับครึ่งปีแรก จากไม่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากนัก ซึ่งน่าจะส่งผลให้การบริโภคในครึ่งปีหลังนี้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย
ส่วนปี 60 เรามองเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อยู่บนสมมติฐาน การลงทุนของภาครัฐว่าจะเกิดขึ้นตามแผนหรือไม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นตัวผลักดันการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่น่าจะดีขึ้น"นางลักษมณ กล่าว
ทั้งนี้ ADB มองว่าปัจจัยหลักที่จะมาสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมาจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก เช่น แผนการลงทุนมูลค่า 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 58-65 โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้ก็จะมีการทยอยประกวดราคา เซ็นสัญญา และเริ่มดำเนินโครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟรางคู่ ,โครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ท่าเรือ และโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ และในปีหน้าก็ได้มีการกำหนดให้มีการประกวดราคาและเริ่มโครงการอีกกว่า 20 โครงการ มูลค่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ด้านการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของอุปสงค์ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ และภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ และส่งผลดีต่อการเติบโตของการลงทุนในกลุ่มโรงแรม ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน มองว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้า จากการฟื้นตัวของภาคเกษตร และมาตรการทางภาษี ที่กระตุ้นการใช้จ่าย แต่ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังคงเป็นตัวฉุดรั้งการบริโภค เนื่องจากรายได้จำนวนหนึ่งของครัวเรือนจะสูญไปกับการชำระหนี้ระยะสั้น
การส่งออกสินค้า คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องในปี 59 และน่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปี 60 โดยคาดการณ์การส่งออกปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 0% หรือมากกว่านี้เล็กน้อย ตามการขยายตัวในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนัก และราคาส่งออกที่สูงขึ้นของสินค้าบางประเภท
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี 59 โดยทั้งปีน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และในปีหน้า จากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาอาหาร อุปสงค์ภายในประเทศที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 2.0% อย่างไรก็ตามภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง มองว่าการดำเนินโยบายการเงินของ ธปท. ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี 60
นางลักษมณ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 59 นั้น ADB ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาในปี 59 และปี 60 ไว้ที่ 5.7% ต่อปี จากการปรับตัวได้ดีของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย
ADB มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในการใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง ช่วยให้การเติบโตของจีนแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ จึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในปีนี้ และ 6.4% ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเอเชียตะวันออกที่คาดจะเติบโตราว 5.8% ในปี 59 และ 5.6% ในปี 60
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจอินเดีย คาดว่าจะยังคงเติบโตได้ที่ 7.4% ในปีนี้ และในปีหน้าที่ 7.8% จากได้รับปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนที่เข้มแข็ง และการปฏิรูประบบภาษี รวมถึงความก้าวหน้าในการปรับโครงสร้างบัญชีงบดุลของธนาคาร ที่จะพลิกฟื้นการลงทุน ซึ่งส่งผลให้เอเชียใต้ ยังคงอัตราการเติบโตได้ตามที่เคยคาดการณ์ที่ 6.9% และ 7.3% ตามลำดับ (59-60)
ด้านเศรษฐกิจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโตที่ 4.5% ในปีนี้ จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และไทย , ส่วนเศรษฐกิจเอเชียกลางจะยังคงอยู่ภายใต้ความกดดันจากกราคาน้ำมันและก๊าซตกต่ำ อุปสงค์ภายนอกที่ลดลง และการส่งเงินกลับประเทศที่ลดต่ำลง ซึ่งมีการปรับลดประมาณการลงมาอยู่ที่ 1.5% ในปีนี้ และปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.6% จากอุปสงค์ภายนอกเข้มแข็งขึ้นและราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
"แนวโน้มภูมิภาคโดยรวมยังคงเป็นไปในทิศทางขาลงจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ยังคงเปราะบาง โดยให้จับตาดูในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดการผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจนอาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหาภาคในภูมิภาคเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการได้"นางลักษมณ กล่าว
อินโฟเควสท์