- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 13 September 2016 12:01
- Hits: 7628
'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ประเมินผลงาน ศก.2 ปีของรัฐบาล เศรษฐกิจเติบโตแต่ยังไม่เต็มศักยภาพ
'อนุสรณ์ ธรรมใจ'ประเมินผลงาน ศก.2 ปีของรัฐบาล เศรษฐกิจเติบโตแต่ยังไม่เต็มศักยภาพ พร้อมฝากข้อเสนอ 9 ข้อให้รัฐบาล คสช ดำเนินการในปีที่ 3 ก่อนการเลือกตั้ง
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินผลงานเศรษฐกิจ 2 ปีของรัฐบาล คสช และภาวะเศรษฐกิจ ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสองปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลนี้อันเป็นผลจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น การบริหารประเทศมีความต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองลดลงระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือนยังสูง ยังไม่มีความไม่แน่นอนในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนภาคส่งออกติดลบต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกันอันเป็นผลจากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและปริมาณการค้าโลกที่เติบโตลดลง โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศ
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่อง ราคาพืชผลตกต่ำ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างลดอำนาจผูกขาดยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เห็นความคืบหน้าชัดเจนในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ส่วนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมีการจัดตั้ง บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ต้องรอดูผลว่าจะบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปกิจการภาครัฐให้ดีขึ้นหรือไม่ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบเศรษฐกิจลดลงบ้าง
ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างเทคนิคยังคงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2557 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและมีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down Bangkok ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังการรัฐประหาร 2549 วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยตลอด ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนประมาณ 700 กว่าวันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้น และ ในช่วงเวลา 8 ปีมีรัฐบาลมากถึง 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี 9 ท่าน สะท้อนความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมือง
ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนและทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างมาก ปัญหาสะสมดังกล่าวได้บ่อนเซาะให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ลดทอนความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ สำหรับรัฐบาลครบรอบ 2 ปีแล้วคงต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไรหรือไม่ หรือ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย
การออกแบบรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองมีคุณภาพ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง รัฐบาลที่มีคุณภาพดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าผลงานของ คสช มีประสิทธิผลอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ สังคมเกิดสันติธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและก้าวพ้นกับดักทศวรรษแห่งความถดถอยและขัดแย้งไปได้
เศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จากภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการบริโภคที่กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก หากเราไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาที่มีการคาดหวังเอาไว้ คสช และ รัฐบาล ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจบางเรื่อง มีการทวงคืนผืนป่าและพื้นที่สาธารณะให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน การประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างด้วย e-biding ที่เพิ่มความโปร่งใสในโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การบังคับใช้กฎหมายและการทำให้เกิดนิติรัฐจะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ การประกอบการ การลงทุน ในประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่น
ภาคการลงทุน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการติดลบ -7.3% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% ในปี พ.ศ. 2558 โดยเติบโตสูงสุดในไตรมาสสี่ที่ 41.2% และ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 12-13% ในปี พ.ศ. 2559 ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากสามารถกลับคืนสู่การเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย โดยในปี พ.ศ. 2557 การลงทุนภาคเอกชนติดลบ -1% ในปี พ.ศ. 2558 ติดลบ -2% และ พ.ศ. 2559 คาดว่าจะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 2.1%
ภาคการบริโภคครบรอบ 2 ปีของการรัฐบาล คสช ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รายได้เกษตรกรลดลง ประชาชนส่วนใหญ่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก การบริโภคเติบโตในระดับ 0.6% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่ากระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับ 2.3% เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคท่องเที่ยวฟื้น
ตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวติดลบ -6.5% ในปี พ.ศ. 2557 มาเป็น เติบโตเป็นบวก 20% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2559 อาจแตะระดับ 33 ล้านคน (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.4%) ทำรายได้ 1.685 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.6%) รวมครึ่งแรกของปี2559 การส่งออกสินค่าคิดเป็นมูลค่า103,286 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งมูลค่าและผลผลิต โดยอัตราการขยายการผลิตภาคเกษตรขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย ในปี พ.ศ. 2557 หดตัวร้อยละ -3.8 ในปี พ.ศ. 2558 และยังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับร้อยละ -1.5 มูลค่าการสง่ออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 11.7 เทียบกับการลดลงรอ้ยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจาก ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะข้าว มันสําปะหลัง และน้ำตาล ในขณะที่ราคาส่งออก สินค้าสําคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวม ลดลงร้อยละ 2.2
การส่งออกสินค้าเกษตรสําคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.2 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 8.1 จากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และ แคเมอรูน ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.6 มันสำปะหลงั มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 37.0 โดยราคา ส่งออกลดลงร้อยละ 11.2 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 22.4 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 8.4 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 15.5 ภาวะดังกล่าวเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งและราคาพืชผลที่ตกต่ำ ราคาและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาดซึ่งเกษตรกรเคยได้รับจากการรับจำนำและการประกันราคาในอดีตมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะมากขึ้นตามลำดับ รายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้นช่วงหนึ่งได้จากการแทรกแซงราคาได้ทรุดตัวลงหลังจากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีข้อจำกัดฐานะทางการคลังมากขึ้น มีความเสียหายจากการรั่วไหลทุจริต
ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง ภารกิจของ รัฐบาล คสช ควรทำในช่วงต่อไป ว่า ข้อแรก ต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ กำกับการร่างกฎหมายลูกให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและทำให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งมั่นคง ข้อสอง จัดทำร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมพร้อมส่งมอบให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งระยะต่อไป ข้อสาม ผลักดันกฎหมายและกลไกในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านต่างๆ ข้อสี่ เปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย ข้อห้า เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบราง การบริหารจัดการน้ำ และอื่นๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ข้อหก ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีและดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป (มีโอกาสอ่อนตัวมากกว่าปรกติในช่วงปลายปี) ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งค่าขึ้นจากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ข้อเจ็ด ฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรายย่อย โดยควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำอย่างเหมาะสม ข้อแปด วางรากฐานการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน ข้อเก้า ผลักดันการปฏิรูปการศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้เป็นไปตามแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาว เช่น แผนการศึกษาชาติ 15 ปี
2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ รัฐบาล คสช ก่อนการเลือกตั้ง (1 ปีกว่าๆที่เหลืออยู่) เพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 10 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่งบประมาณเพื่อดูแลเศรษฐกิจรากหญ้าหรือฐานรากลดลงโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมและภาคแรงงาน งบทางด้านการศึกษาและงบระบบสวัสดิการมีสัดส่วนลดลง และโครงสร้างการจัดสรรประมาณโดยภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลง เกือบร้อยละ 80 เป็นงบประจำจึงเหลืองบลงทุนน้อยมากๆ งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจึงต้องอาศัยการก่อหนี้สาธารณะหรือสัมปทานให้เอกชนร่วมลงทุน การเพิ่มงบประมาณกลาโหมนั้นควรเน้นไปที่การลงทุนทางด้านบุคลากรกองทัพ งบฝีกอบรม ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกัน การแก้ปัญหาความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ มากกว่า การซื้ออาวุธจากต่างประเทศ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวให้ความเห็นอีกว่า สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าขยายฐานภาษีทรัพย์สินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ต้องมีข้อยกเว้นสำหรับที่ดินของกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและช่วยเหลือสังคมและคนยากจน พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก นโยบายการการปรับโครงสร้างประชากรและเพิ่มประชากรในวัยทำงานควรดำเนินการอย่างเหมาะสม
การปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงิน การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน โดย สนช และรัฐบาล คสช จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในการนำไปพัฒนาประเทศ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยปรับเปลี่ยนอัตราและเพดานเริ่มจัดเก็บให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบชนชั้นกลาง ภาษีทรัพย์สินทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดินจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว
รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า พร้อมกันนี้ควรลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดยุทธศาสตร์และแผนงานอย่างชัดเจนในการตอบสนองและเตรียมรับมือต่อผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยีอุบัติใหม่พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรม (Disruptive Technology) ที่จะส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรม ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวิถีชีวิตของผู้คน เช่น ผลกระทบ FinTech ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ผลของเทคโนโลยีเทสลารถยนต์ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้าที่ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน การจ้างงานและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี Blockchain ที่มีต่อระบบการเงินและอุตสาหกรรมธนาคารระบบการทำงานและการผลิตต่าง
การบริหารดุลยภาพระหว่างการเมืองแต่งตั้งและการเมืองเลือกตั้ง ระหว่างถูกต้องกับถูกใจ สมดุลระหว่างอำนาจของประชาชนกับอำนาจราชการ มีความสำคัญที่จะทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพ เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแม้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง แต่ยังมีความหวังว่า การร่างกฎหมายลูกที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองมากขึ้น จะทำให้ปัญหาบางอย่างในรัฐธรรมนูญบรรเทาลงและไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย