- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 26 July 2014 21:06
- Hits: 3409
‘มูดี้ส์’เตือนไทยเร่งฟื้นเศรษฐกิจยันหากยืดเยื้อเสี่ยงลดเครดิต
แนวหน้า : มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของสหรัฐได้ ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ว่า แม้การรัฐประหารล่าสุด จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน แต่ยังไม่สามารถเร่งเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ซึ่งอาจถูกมองภาพในเชิงลบ ส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับเครดิตของไทย
ปัจจุบันอันดับเครดิตของไทยอยู่ที่ระดับ Baa1 ยังไม่ถือว่าเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการลงทุน โดยมีปัจจัยความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นปัจจัยหนุน
“ความล่าช้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศจะส่งผลกระทบด้านลบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของไทย ที่แม้ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากทางการเมืองมากนัก แต่ปัญหาการเมืองกำลังบั่นทอนเศรษฐกิจและทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” มูดี้ส์ ระบุ
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด คาดว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะได้ความชัดเจนอย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน และดำเนินการปฏิรูปภายใน 1 ปี โดยการทำงานของซูเปอร์บอร์ดแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.เร่งแก้ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ 2.การพิจารณายุทธศาสตร์และพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง และ 3.การสร้างระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ
อย่างไรก็ตาม ในการเร่งแก้ปัญหาขาดทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น เบื้องต้นมีรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาประมาณ 10 แห่ง โดยมี 6-7 แห่งที่ต้องเร่งฟื้นฟู ส่วนยุทธศาสตร์และพันธกิจมีบางแห่งไม่สอดคล้องต่อความต้องการในปัจจุบัน เป็นไปได้ว่าอาจยุบหรือปรับปรุงวัตถุประสงค์การดำเนินการใหม่ นอกจากนี้จะเพิ่มการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เพราะอดีตการทำงานยังมีความซ้ำซ้อนกัน เช่น การสร้างถนนบางเส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ที่ซ้ำซ้อนกับการสร้างถนนของกรมทางหลวง โดยทุกรัฐวิสาหกิจต้องนำเสนอแผนภายในต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) รวบรวมและเสนอต่อ คนร.ต่อไป
ขณะที่ในส่วนของการสร้างธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ เช่น การคัดเลือกคณะกรรมการ บอร์ด และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีข้อกังขาว่าผู้บริหารไม่มีความรู้ความสามารถ ถูกแทรกแซงจากการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมายให้แข่งขันได้ ซึ่งจะเพิ่มกำไรให้กับองค์กรที่จะต้องส่งต่อให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นผู้พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งนี้ การสร้างธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจจะต้องระบุอย่างชัดเจนในกฎหมายเพื่อกันการแก้ไขจากผู้มีอำนาจในอนาคต
ส่วนข้อเสนอจากเอกชนที่ให้ กระทรวงการคลังลดการถือสัดส่วนในรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มการแข่งขันนั้น ซูเปอร์บอร์ด รับไว้พิจารณาแล้ว