- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 26 July 2014 20:53
- Hits: 3131
TDRI ส่งซิก ศก.ปีนี้โต 2% ทำใจส่งออกมีปัญหาโครงสร้างหนี้สูง-อัดฉีดไม่เต็มที่
บ้านเมือง : ทีดีอาร์ไอ ส่งซิกส่งออกไทยมีปัญหาโครงสร้างหนี้สูง ระบุภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินไม่เต็มที่ คาดเศรษฐกิจปีนี้โตแค่ 1.5-2% ด้านพาณิชย์ปลื้มส่งออก มิ.ย. สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบปี มั่นใจทั้งปีขยายตัวตามเป้า 3.5% ขณะที่ IMF ปรับลด GDP โลกเหลือ 3.4% เหตุกังวลต่อจีน, สหรัฐ
นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาเจาะทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนว่า การส่งออกไทยยังคงมีปัญหาในเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีลงทุนใหม่ตั้งแต่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ในขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวสูง ประชาชนชะลอการใช้จ่ายและการบริโภค ทางสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นของการบริโภค ในขณะที่การส่งเสริมการลงทุนไม่ได้เห็นผลในทันที มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงอัดฉีดเม็ดเงินได้ไม่เต็มที่ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้เชื่อว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5-2% ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ
นายวิรไท กล่าวในฐานะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) คาดว่าจะสรุปกรอบและหลักการในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่ 6-7 แห่ง ได้ภายใน 6 เดือน โดยกระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จะเข้าไปดูเรื่องการทบทวนยุทธศาสตร์และพันธกิจของรัฐวิสาหกิจจากเดิมที่มีความล้าสมัย ซึ่งจะปรับให้เข้าสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น และดูแลเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล หรือ Corporate Governance (CG) ของรัฐวิสาหกิจ 6-7 แห่ง โดยต้องการให้รัฐวิสาหกิจมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้แก่นักลงทุน และการแต่งตั้งกรรมการบริหารต้องทำอย่างโปร่งใส ไม่ทุจริต ซึ่งอาจจะเข้ามาแก้ไขกฎหมายรัฐวิสาหกิจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง และการสรรหาพนักงาน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายนที่มีการขยายตัว 7.2% ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไทยนับจากนี้ที่จะมีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ การฟื้นตัวของตลาดคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการผลักดันการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศผลักดันมาตลอด และการส่งเสริมภาคธุรกิจตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีผลต่อเนื่องให้การส่งออกของไทยปี 2557 ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.5% ซึ่งรายละเอียดได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2556 การส่งออกไทยมีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2557 มีการขยายตัว 7.2% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 20,473 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นตัวเลขการส่งออกสูงสุดในรอบปี
น.ส.ชุติมา กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีการค้ากับยุโรปยังคงดำเนินการต่อเนื่องได้ หลังจากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมข้อมูลการเจรจาไว้พร้อมแล้วหากมีนโยบายชัดเจน ขณะเดียวกันปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมลงนามกับ 8 หน่วยงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการผลิตและขยายตลาดสินค้าให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์จากปัจจุบัน 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอมรับว่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สำหรับ 8 หน่วยงานที่ร่วมลงนามกับกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย บริษัทสังคมสุขภาพ และบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุด IMF ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) โลก เหลือ 3.4% จากเดิม 3.6% แต่สูงกว่าที่ World Bank คาดไว้ที่ 2.8% ซึ่งการปรับลดดังกล่าวเป็นเพราะกังวลต่อจีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แต่ปรับเพิ่ม GDP Growth ปี 2558 เล็กน้อยเป็น 4% จากเดิม 3.9% สูงกว่าที่ World Bank คาดไว้ที่ 3.4% ทั้งนี้ เป็นการปรับลดรายประเทศ โดยในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วปรับลดสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยลดเหลือ 1.7% จากเดิม 2% ตามมาด้วยประเทศกำลังพัฒนา โดยการปรับลดรัสเซียเหลือ 1.1% จากเดิม 1.3% และจีน ปรับลดลงเล็กน้อยเหลือ 7.4% จากเดิม 7.5% แต่ในปี 2558 ปรับลดเหลือ 7.1% จากเดิม 7.3% ตรงข้ามประเทศที่ปรับเพิ่มได้แก่ สเปน เป็น 1.2% จากเดิม 0.9% และญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 1.6% จากเดิม 1.4% ส่วนในปี 2558 อยู่ที่ 1.1% จากเดิม 1%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับลด GDP Growth ของ IMF ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้น เนื่องจากเป็นระดับที่สูงกว่าที่ World Bank ประเมินไว้ และตลาดน่าจะรับรู้ไปบางส่วนแล้ว