- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 01 July 2016 10:49
- Hits: 6652
PwC ชี้ผู้นำรุ่นใหม่คิดต่าง เชื่อ ศก.โลกฟื้นตัวได้หากปฏิวัติทางดิจิทัล แต่ห่วงระบบการศึกษายังไร้ประสิทธิภาพ
PwC เผยผลสำรวจผู้นำรุ่นใหม่มองทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าโดยใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนธุรกิจ แตกต่างจากซีอีโอรุ่นปัจจุบันที่มั่นใจน้อยกว่า แต่ห่วงภัยคุกคามไซเบอร์ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนถดถอยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งการเติบโตของธุรกิจ พร้อมกังวลระบบการศึกษาระดับประเทศยังล้มเหลวในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้นำ
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Tomorrow's leaders today ซึ่ง PwC จัดทำร่วมกับ AIESEC หนึ่งในองค์กรนักศึกษานานาชาติชั้นนำของโลก โดยใช้ผลการสำรวจ 19th Annual Global CEO Survey ของ PwC ที่ผ่านมา ทำการสำรวจความคิดเห็นว่าที่ผู้บริหารยุคใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี จำนวน 216 ราย ใน 104 ประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างผู้นำรุ่นใหม่กับผู้บริหารในยุคปัจจุบัน และให้ผู้บริหารยุคปัจจุบันได้เรียนรู้แนวคิดของผู้นำรุ่นใหม่ว่า 60% ของผู้บริหารรุ่นใหม่เชื่อว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าผู้บริหารในยุคปัจจุบันที่มีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเพียง 27% เท่านั้น
ทั้งนี้ มุมมองความเชื่อมั่นของผู้บริหารรุ่นใหม่ อาจสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนยุคดิจิทัล ที่เชื่อว่าวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี (Digital revolution) จะช่วยก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ผู้บริหารยุคปัจจุบันส่วนใหญ่กลับมองว่า ดิจิทัล คือ ต้นทุนและความเสี่ยงขององค์กร
นอกจากนี้ ผู้บริหารรุ่นใหม่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่องค์กรต้องเผชิญมากกว่าซีอีโอยุคปัจจุบันในหลาย ๆ ประเด็น เช่น 86% ระบุว่าองค์กรควรให้ความสำคัญกับการวางแผนรับมือหรือป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง เปรียบเทียบกับผู้บริหารยุคปัจจุบันเพียง 61% ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้
ยิ่งไปกว่านั้น การขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ยังถูกจัดให้เป็นปัญหาที่ว่าที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ความกังวลมากเป็นอันดับต้น ๆ (83%) อีกด้วย ในขณะที่ซีอีโอในยุคปัจจุบันให้ความกังวลเพียง 55%
"ว่าที่ผู้นำรุ่นใหม่มีมุมมองที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากผู้บริหารในยุคปัจจุบัน โดยเราพบว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เชื่อว่า องค์กรควรให้ความสำคัญต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มากกว่าการมองที่ปัญหากฎระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป และความไม่สงบทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรเพียงอย่างเดียว" นาย ศิระ กล่าว
นายศิระ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้นำทั้งสองรุ่นเห็นตรงกันก็คือ วันนี้โลกของเรามีความแตกต่างทางความคิดอย่างมาก ผู้บริหารจำนวนมากมองว่า การรวมกลุ่มทางการค้าน่าจะเป็นทางออกสำหรับการเติบโตของภูมิภาคดีกว่าการเป็นตลาดเดียว ในขณะที่บทบาทของธนาคารและสถาบันการเงินระดับภูมิภาคจะมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจมากกว่าธนาคารระดับโลกแห่งใดแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเห็นตรงกันด้วยว่า ผลกำไรไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป
'คุณค่าและวัฒนธรรมองค์กรที่ใช่' มัดใจว่าผู้นำรุ่นใหม่
PwC คาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 พนักงานในองค์กรต่างๆทั่วโลกถึง 50% จะเป็นคนที่เกิดในยุคมิลเลนเนียล (Millennials) และยุคเจนแซด (Generation Z) ซึ่งคนในยุคดังกล่าว มีสไตล์การใช้ชีวิต รวมทั้งความคิด ความเชื่อ และบุคลิกลักษณะแตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยส่วนใหญ่มีความทะเยอทะยาน ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และคุณค่าของการทำงาน มากกว่าผลตอบแทน และการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง โดยผู้ทำการสำรวจเพียง 18% เท่านั้นกล่าวว่า ตนมีแผนที่จะทำงานอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปในระยะยาว
นาย ศิระ กล่าวว่า ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมคุณค่าและวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับแนวทางการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ยังมองหาโอกาสในการไปปฏิบัติงาน หรือสร้างเสริมประสบการณ์ในต่างประเทศ และร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครต่าง ๆ ในช่วงแรกเริ่มของการทำงานอีกด้วย
"จริง ๆ แล้ว พนักงานในทุกรุ่น ทุกวัยล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการเติบโตขององค์กร แต่วันนี้ที่ทุกฝ่ายกำลังพูดถึงยุคมิลเลนเนียล เพราะคนรุ่นนี้คืออนาคตของธุรกิจ และจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในยุคต่อไป เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยเรื่องของตัวเงิน และสวัสดิการต่าง ๆ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการดึงดูดทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กร แต่สิ่งที่สร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับคนรุ่นนี้มากไปกว่านั้น คือการที่องค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อให้พนักงานในทุกระดับตระหนักถึงบทบาทและคุณค่าของตนเอง ผู้บริหารเองต้องใส่ใจกับการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานเป็นทีม ทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจ และรู้สึกได้ถึงการเป็นที่ยอมรับและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปบนเส้นทางสายอาชีพของตน" นาย ศิระ กล่าว
เมื่อถามว่า ปัจจัยใดที่จะทำให้บริษัทกลายเป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นและสามารถดึงดูดใจพนักงานได้ ทั้งซีอีโอในยุคปัจจุบัน และผู้บริหารรุ่นใหม่ ต่างเห็นพ้องว่า บริษัทต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการส่งต่อความเป็นผู้นำและเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการสร้างผู้บริหารให้เกิดขึ้นในองค์กรแก่พนักงาน
'ระบบการศึกษา' พื้นฐานการสร้างผู้นำโลกอนาคต
นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า ผู้นำรุ่นใหม่ถึง 64% ระบุว่า ระบบการศึกษา ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างและพัฒนาคนวัยหนุ่มสาวให้กลายมาเป็นผู้นำที่ดีในอนาคต แต่ถึงกระนั้น 70% ของคนเหล่านี้ยอมรับว่า ระบบการศึกษาภายในประเทศของตนยังคงล้มเหลวในการเตรียมความพร้อมและทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลให้แก่เด็กรุ่นใหม่
เมื่อถามว่า ทักษะประเภทใดที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตมากที่สุด 66% ของผู้นำรุ่นใหม่กล่าวว่า พนักงานทุกระดับต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้นำ ไม่จำกัดเฉพาะพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการขึ้นไปเท่านั้น ตามด้วยการปลูกฝังการทำงานด้วยใจรักและความกระตือรือร้น (51%) ความคิดสร้างสรรค์ (46%) และทักษะในการแก้ปัญหา (43%)
สุดท้าย ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า การมีความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านอารมณ์ยังเป็นทักษะสำคัญที่พนักงานในศตวรรษที่ 21 ทุกคนต้องมี นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางด้านสติปัญญาและความเป็นมืออาชีพ