- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 29 June 2016 14:32
- Hits: 4641
World Bank เศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 2% หลังจากที่ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.2%
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา เศรษฐกร ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 2% หลังจากที่ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.2% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากนโยบายการคล้ง การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี และปี 2560 คาดการณ์จีดีพีไทยเติบโตได้ 2.6%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังมีปัจจัยเสี่ยงใน 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพลดลงหลังหมดอายุของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว รวมถึงความท้าทายด้านการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะสามารถออกได้ตามกำหนดหรือไม่ และความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงจะเป็นไปอย่างช้าๆ และอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งสาเหตุก็จะมาจากปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทักษะทางด้านแรงงานยังไม่ตรงกับความต้องการ ระบบหรือขั้นตอนการทำงานต่างๆที่ล้าสมัย อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างทำให้การลงทุนล่าช้า และการเข้าสู่สังคมสูงวัยในปีหน้า และจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีจะทำให้เศรษฐกิจยังโตได้ไม่ถึง 3%ไปจนถึงปี 2561
"เราจะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้อีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ หากการลงทุนภาครัฐออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้ที่จะปรับตัวขึ้นจีดีพีอีก ขณะที่การส่งออกยังคงอยู่ในระดับ 0-0.5%"
นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ประชากรวัยทำงานของไทยคาดว่าจะลดลงอีก 11% จากเดิมที่มีจำนวน 49 ล้านคนในปีนี้ เหลือ 40.5 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งถือว่าลดลงมากที่สุดกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้น การเตรียมการรับสังคมสูงวัยนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับไทยที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและยกระดับทักษะให้สูงขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่ลดลง การเพิ่มจำนวนผู้หญิงเข้าสู่ตลาดงาน และการให้ความมั่นใจว่าการดูแลผู้สูงวัยจะมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและยั่งยืน
ส่วนผลกระทบจากกรณี Breixt นั้น ขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการประเมิน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งอยู่แล้ว