- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 20 July 2014 23:08
- Hits: 3722
เอกชนหวั่นความขัดแย้งนานาชาติฉุดศก.โลก
แนวหน้า : นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือKBANK กล่าวว่า ต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitic) ทั้งปัญหาระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับยูเครนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุเครื่องบินโดยสารของมาเลเชียถูกยิงตกในยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 296 คน ซึ่งมีประเด็นที่สหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) มีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่ม รวมทั้งความขัดแย้งในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น นักลงทุนจึงลดความเสี่ยงมาลงทุนในเงินดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่ปรับตัวลดลง แต่นักลงทุนยังเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลงจากความกังวลเรื่องนี้ ซึ่งแนวโน้มเงินบาทครึ่งปีหลังมีโอกาสจะอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศสะท้อนออกมา 3 ด้านคือ ผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ, ผลกระทบต่อราคาน้ำมัน หากความขัดแย้งเกิดในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของโลก เช่น ตะวันออกกลาง จะทำให้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญสูงขึ้นอย่างแน่นอน และกระทบต่อแผนการลงทุนของนักลงทุน เนื่องจากไม่รู้ว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศจะจบลงเมื่อไร ทำให้นักลงทุนตัดสินใจเลื่อนการลงทุนออกไป ซึ่งต้องจับตาปัญหาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากยืดเยื้อ รุนแรงขึ้นจะกระทบต่อการค้าโลกได้
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท. )กล่าวว่า ธปท. ยังติดตามสถานการณ์เงินบาท ซึ่งอ่อนค่าตามเงินสกุลเอเซีย โดยเฉพาะริงกิตมาเลเซีย ที่อ่อนค่าลงมาก
โดยนักบริหารเงินรายงานว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้า(18 กรกฎาคม)ที่ระดับ 32.17-32.18 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากวันก่อนที่ระดับ 32.15-32.16 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากความกังวลกรณีเกิดเหตุเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ถูกยิงตกในยูเครน เมื่อช่วงค่ำวานนี้ ซึ่งกระทบตลาดเงินตลาดหุ้นทั่วโลก