- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 20 July 2014 12:16
- Hits: 3608
วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลา 01:47 น. ข่าวสดออนไลน์
รายงานพิเศษ ข่าวสด เศรษฐกิจ พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 92/2557 เรื่องการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เมื่อค่ำคืนวันที่ 17 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา โดย ให้เหตุผลในการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อผลักดันกระตุ้นกลไกภาษี กระตุ้นการใช้จ่าย
จึงยกเลิกพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 ให้คงจัดเก็บในอัตรา 6.3% สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ การนำเข้าทุกกรณี ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 - 30 ก.ย. 2558 จากนั้นจะเรียกเก็บในอัตรา 9% สำหรับการขายสินค้า การ ให้บริการ การนำเข้าทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยประกาศ คสช.ฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่1 ต.ค.2557 เป็นต้นไป แต่ประกาศดังกล่าวระบุถึง"เนื้อภาษี"หลักที่เก็บเข้ารัฐเท่านั้น ยังมีภาษีอีกตัวคือภาษีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องบวกเพิ่มไปอีก 0.7% และ 1% ตามลำดับ อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ คสช.ให้คงแวต 7% ไปอีก 1 ปี จากนั้นถึงปรับขึ้นเป็น 10% นั่นเอง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ป้ายแดง แจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ตามประกาศของคสช. ไม่ได้เป็นการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลง แต่เป็นการต่ออายุการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เดิมตั้งแต่ปี 2535 มีการกำหนดเพดานจัดเก็บไว้ที่ 10% แต่ไม่เคยมีการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวเลย เพราะคำนึงถึงความพร้อมของประชาชน ทำให้มีการต่ออายุลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาอยู่ที่อัตรา 7% โดยพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 นั้นจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ "คสช.เป็นห่วงชาวบ้านและประชาชนผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อนหากปล่อยให้ภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในวันที่ 1 ต.ค. 2557 จะกระทบให้การบริโภคลดลง จึงเห็นสมควรให้ขยายการลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2558" ส่วนประเด็นที่เข้าใจสับสนว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงแล้วอยู่ในอัตราเท่าใด และในปี 2558 จะมีการปรับขึ้นหรือไม่ อธิบดีกรมสรรพากรชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% นั้น ตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้กรมสรรพากร จัดเก็บในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอัตรา 1 ต่อ 9 "หมายความว่าเป็นส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% และรายได้ของท้องถิ่น 0.7% ส่วนในปี 2558 นั้น คงต้องเสนอตามกรอบกฎหมายไปก่อนนั้นคือเต็มเพดานจัดเก็บที่ 10% ในที่นี้หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% และเก็บนำส่งท้องถิ่น 1%" พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมสรรพากรบอกอีกว่า ในปี 2558 ยังไม่ได้หมายความว่าจะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 10% ทันที จะต้องพิจารณาภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักว่าประชาชนพร้อมที่จะเสียภาษีในอัตราดังกล่าวแล้วหรือไม่ ในหลักการเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มทำได้หลายวิธี เช่น ทยอยปรับขึ้นปีละ 1% หรือจะขึ้นรอบเดียวเต็มเพดานเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม "การเก็บภาษีในอัตรา 7% นั้นถือว่าต่ำมากที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับภูมิภาค ที่มีการเก็บเฉลี่ยในอัตรา 7-15% โดยประเทศสิงคโปร์มีการเรียกเก็บในอัตราสูงที่สุด นายประสงค์ระบุว่า มองว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะกระทบต่อค่าครองชีพไม่มาก เพราะประชาชนที่มีรายได้น้อย จับจ่ายใช้สอย เช่น ซื้อสินค้าในตลาด เนื้อหมู เนื้อไก่ พืชผัก ก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว อาจจะกระทบในเรื่องของสินค้าบริโภคอื่นๆ เช่น น้ำมัน ที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอยู่บ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาด้วยว่า แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของคสช. ที่จะทยอยดำเนินการในปีงบประมาณต่อๆ ไปนั้น มีการกำหนดรายจ่ายไว้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ถือว่าเป็นรายได้สำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ลงทุนในการพัฒนาประเทศได้ การจัดเก็บภาษีทุก 1% จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการจัดเก็บในอัตรา 7% ส่งผลให้รัฐ มีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มต่อปีที่ 1 แสนล้านบาท "คสช.ขยายเวลาลดภาษีแวตออกไป 1 ปี ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนปีหน้าจะขึ้นแวตเป็น 10% หรือไม่ ยังไม่แน่ ขึ้นกับ สิ่งแวดล้อมหลายอย่างที่ต้องนำมาพิจารณา"!?? นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้เสนอ คสช. ให้ขยายเวลาการลดภาษีบุคคลธรรมดาเป็น 7 อัตรา และลดภาษีนิติบุคคลเป็น 20% ออกไปอีก 1 ปี หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะแก้ไขกฎหมายมีการลดภาษีเป็นการถาวรหรือไม่ ผลจากประกาศของคสช.เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ทั้ง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เตรียมพร้อมรับมือและแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การประกาศขึ้นแวต เดือนต.ค. 2558 นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ที่น่าตกใจ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ดังนั้นรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จึงชะลอการปรับขึ้นแวตไว้ก่อน "ขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และประชาชนน่าจะรับได้ รวมถึงในปีหน้าจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ จึงต้องปรับอัตราแวตให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในอาเซียนด้วย" นอกจากนี้ คสช.ได้ประกาศแจ้งประชาชนให้รับรู้ล่วงหน้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าประชาชนไม่น่าจะตื่นตกใจ จนชะลอการจับจ่ายใช้สอยหรือทำให้การบริโภคลง นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การประกาศขึ้นแวตเป็น 10% มีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2558 นั้น กรมการค้าภายในจะต้องพิจารณาราคาสินค้าใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ติดตามดูแลเป็นพิเศษ 200 รายการ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องนำเสนอราคาสินค้าใหม่ให้กรมรับทราบ เบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าบางรายการและบางรายการสินค้าอาจไม่ต้องปรับขึ้นราคา "น่าจะเป็นในช่วงกลางปีหน้า ก่อนที่จะมีการบังคับใช้แวต อัตราใหม่ กรมจะเรียกผู้ประกอบการมาทำความเข้าใจกันว่าราคาสินค้าใหม่ควรเป็นเท่าใด ไม่ใช่ผู้ประกอบการบวกผล กระทบจากภาษี 3% ไปได้ทันที แต่ต้องนำต้นทุนการผลิตอื่น มาประกอบเพื่อประเมินผลลัพธ์ราคาที่เหมาะสม" บางสินค้าอาจปรับขึ้นเล็กน้อยและบางสินค้าอาจไม่ต้อง ปรับขึ้นราคาเลยก็เป็นได้ ด้านกลุ่มเอกชนมองในแง่บวกว่าการคงแวต 7% และจะ ปรับขึ้นเป็น 10% ใน 1 ปีข้างหน้า น่าจะช่วยกระตุ้นการ จับจ่ายของประชาชนมากขึ้น นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีก-ส่งไทย กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นแวต จะมีผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน ซึ่งยังเร็วไปที่จะบอกว่ามีผลกระทบมากแค่ไหน แต่การที่ประกาศขึ้นแวตล่วงหน้า และให้มีผลในปีหน้านั้นมองว่าเป็นการทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาได้เตรียมตัวในการวางแผนผลิตสินค้า ส่วนผู้ค้าปลีกค้าส่งไทยที่ถือว่าเป็นจุดพักสินค้า ซื้อมาขายไปก็ต้องปรับตัวเรื่องต้นทุนการค้าขายที่จะสูงขึ้น แต่ก็ต้องขายตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริง ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมคือ การหาช่องทางที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชนให้สามารถซื้อสินค้าในราคาถูก "การส่งเสริมและให้ร้านค้าปลีกค้าส่งสามารถทำการค้าได้อย่างปกติมากขึ้น แต่ไม่ควรนำโครงการธงฟ้าราคาประหยัดลงไปในพื้นที่เพราะที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งและร้านโชห่วยในพื้นที่มากกว่าผลดี เพราะประชาชนซื้อสินค้าตุนไว้มากๆ และไม่ยอมซื้อสินค้าจากร้านในพื้นที่" นายกสมาคมค้าปลีก-ส่งไทยกล่าว ส่วนนายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวในมุมของธุรกิจค้าปลีกเป็นผลดีต่อภาพรวมในการจับจ่ายของผู้บริโภคที่กำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง "การไม่ขึ้นภาษีทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องมีภาระในการใช้จ่าย เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าต่างๆ ยังจะไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การกระตุ้น การบริโภคต่างๆ ก็จะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวของคสช. เข้าใจว่าเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงกรอบเวลา 1 ปีที่ยังจัดเก็บแวต 7% อัตราเดิม "เนื่องจากขณะนี้ประสบปัญหาประชาชนใช้จ่ายน้อย ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ในภาคการบริโภคของประชาชน จึงต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนออกมาจับจ่ายกันมากขึ้น" ประธานสหพัฒนพิบูลมองอีกว่า ในฐานะผู้ผลิตสินค้าก็ต้องปรับเปลี่ยนราคาสินค้าตามการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มเท่านั้น แต่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก เพราะแวตเกิดขึ้นมานานแล้ว และ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเข้าใจดี "การปรับขึ้นในช่วงแรกผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้ซื้อสินค้าน้อยลง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปก็มีความรู้สึก คุ้นชินและกลับมาซื้อเป็นปกติ" ส่วน นายเนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การ จัดเก็บแวต 7% เหมือนเดิม ถือว่าช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชนไปอีก 1 ปี "แต่การปรับเพิ่มเป็น 10% ในอีก 1 ปีต้องดูภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงระยะเวลานั้นด้วยว่าควรจะปรับหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมองว่าเกิดอะไรขึ้น" จากความเห็นของหลายๆ ฝ่ายทั้งรัฐ-เอกชน ให้น้ำหนักว่า ประกาศของคสช.เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม น่าจะมีนัยเพื่อกระตุ้น การบริโภคใน 1 ปีนับจากนี้ ส่วนอีก 1 ปีข้างหน้าที่ตามกำหนดต้องเพิ่มแวตเป็น 10% ส่วนใหญ่มองว่ายัง 50-50 ว่าจะปรับขึ้นหรือไม่!?? เพราะถึงเวลานั้นประเทศไทยมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว มีแนวโน้มอย่างสูงเช่นกันว่าครม.อาจจะนำเรื่องนี้มาทบทวนใหม่ เหมือนที่เคยทำมาตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา!?? |