- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 11 April 2016 23:26
- Hits: 9639
เวิลด์แบงก์ เผยศก.เอเชียตะวันออก-แปซิฟิกยังฟื้นตัว แม้เผชิญแรงกดดันจากศก.ทั่วโลก
ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานล่าสุดในวันนี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงอยู่ในภาวะของการฟื้นตัว และคาดว่า ในช่วงปี 2559-2561 นั้น เศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าวจะชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.3% ในปี 2559 จากปี 2558 ที่ระดับ 6.5% ส่วนในช่วงปี 2560-2561 นั้น คาดว่าจะขยายตัว 6.2%
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจจีนที่ค่อยๆชะลอตัวลง โดยธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.7% ในปี 2559 และ 6.5% ในปี 2560 เทียบกับระดับ 6.9% ในปี 2558
"ความคืบหน้าทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นแรงผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยภูมิภาคแห่งนี้มีการขยายตัวในสัดส่วนเกือบ 2 ใน 5 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับประโยชน์จากการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการกระตุ้นรายได้ภายในประเทศในกลุ่มประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ แต่การที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายด้านนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าปฏิรูปเชิงโครงสร้าง " วิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP Update) ได้ทำการวิเคราะห์โอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ภายใต้สถานการณ์อันท้าทาย ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ความอ่อนแอของการค้าโลก ความตกต่ำอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินโลก
ทั้งนี้ หากไม่นับรวมจีน เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแห่งนี้ ขยายตัว 4.7% ในปี 2558 และคาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.8% ในปี 2559 และ 4.9% ในปี 2560-2561 เพราะได้แรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินกับประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ และจีน รวมถึงระดับการพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของแต่ละประเทศอีกด้วย
ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีแนวโน้มจะเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะเติบโตถึงกว่าร้อยละ 6 ในปีพ.ศ. 2559 ขณะที่คาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.1% ในปี 2559 และ 5.3% ในปี 2560 โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการปฏิรูปที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้ และการดำเนินการในโครงการลงทุนภาครัฐ
ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึง สปป. ลาว มองโกเลีย และปาปัวนิวกินีจะยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอุปสงค์จากภายนอกที่ลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจะต่ำกว่า 7% เล็กน้อยในช่วงปี 2559–2561 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรที่ตกต่ำ การส่งออกเสื้อผ้าที่จำกัด และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง ส่วนประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน
“ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ประเทศรายได้สูงมีอัตราการฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ตลอดจนการที่เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ในขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายก็มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคได้น้อยลง" นายชูเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว “ประเทศต่างๆ ควรนำนโยบายด้านการเงินและการคลังที่ช่วยลดการเปิดรับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคมาปรับใช้ และดำเนินการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง"
การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้อุปสงค์ต่ำลง และยังชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ รายงานของธนาคารโลกเสนอให้มีการติดตามความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับระดับหนี้ที่สูง การปรับตัวลดลงของราคาสินค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว รวมไปถึงระดับหนี้ขององค์กรและภาคครัวเรือนที่สูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศ นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังควรเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
รายงานของธนาคารโลกยังได้ขอให้ใช้ความรอบคอบในด้านเศรษฐกิจมหภาคและสร้างความยั่งยืนให้กับการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของประเทศจีน รายงานนี้ได้เสนอแนะให้สร้างความเข้มแข็งด้านวินัยทางการตลาดในภาคการเงิน รวมถึงการปล่อยให้การจัดสรรเงินกู้ถูกขับเคลื่อนโดยกลไกตลาดมากขึ้น การทยอยเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในด้านที่ถูกครอบครองโดยรัฐวิสาหกิจมากขึ้น ตลอดจนการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายงานยังได้แนะนำให้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายภาครัฐจากด้านโครงสร้างพื้นฐานไปสู่การให้บริการภาครัฐ อาทิ การศึกษา สาธารณสุข การให้ความช่วยเหลือทางสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ภาพรวมของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้นั้น ยังต้องมีนโยบายด้านการคลังที่รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยการเพิ่มขึ้นของการกู้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือประเทศที่มีอุปสงค์ภายนอกได้รับการสนับสนุนจากความเฟื่องฟูของราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ในระยะยาว รายงานนี้ได้เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมความโปร่งใสและสร้างความเข้มแข็งให้กับการรับผิดรับชอบ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ประเทศต่างๆ ลดอุปสรรคทางการค้าในภูมิภาค อาทิ มาตรการที่มิใช่ภาษีและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้าด้านบริการระหว่างประเทศ รายงานยังได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิวัติดิจิตอลซึ่งจะสามารถเพิ่มถึงขีดสุดได้โดยการพัฒนากฎระเบียบที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน รวมถึงการช่วยให้แรงงานพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจใหม่
อินโฟเควสท์
ธ.โลกหั่นประมาณการ GDP ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกปีนี้จาก 6.4% เป็น 6.3% แต่เพิ่มประมาณการศก.ไทยจากคาดขยายตัว 2% เป็น 2.5%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารโลกลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกปี 2016 ลงจาก 6.4% เป็น 6.3% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 6.5% ในปี 2015
โดยธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงจีน กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกได้รับผลดีจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่รัดกุม ขณะที่ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศที่มีรายได้สูง การชะลอตัวของภาคส่งออก และความผันผวนในตลาดการเงิน
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกได้เพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2016 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% เป็น 2.5% แต่ลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียลง 0.2% เป็น 5.1% และลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียลง 0.3% เป็น 4.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ
สำหรับ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ธนาคารโลกคงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปี 2016 ไว้ที่ระดับ 6.7% ตามที่ประมาณการไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2015
ขณะที่หากไม่รวมเศรษฐกิจจีน เศรฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะขยายตัว 4.8% เพิ่มขึ้น 0.1% จากที่ประมาณการไว้เดิม และจากที่ขยายตัว 4.7% ในปี 2015
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย