- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 08 May 2014 23:03
- Hits: 4006
ดอกเบี้ย ขาลง-เงินไหลออก-ไตรมาสแรก จีดีพี ติดลบ 0.5% ศก.แย่ฉุดบาทร่วง 33/ดอลล์
แนวหน้า : 3 สำนักวิจัยด้านเศรษฐกิจ ชี้ตรงกัน ไตรมาสแรก จีดีพีไทยติดลบ เหตุผลหลักการเมืองป่วนกระทบด้านลบเกือบทุกเซ็กเตอร์ ทั้งลงทุนภาครัฐ เอกชน การบริโภค การท่องเที่ยวขณะที่ส่งออกก็ขยายได้ไม่มาก สศค.ชี้การบริโภคร่วงต่ำรอบ 12 ปี ทำให้รายได้จากภาษีวูบ แบงก์ชี้เงินทุนไหลออก ดอกเบี้ยยังต่ำ กดค่าเงินบาททั้งปีอ่อนตัว
น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.6 % จากเดิมมองว่าโต 2.4 % ซึ่งการปรับลดจีดีพีในครั้งนี้ ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 0.8 % หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่สูญไป 800,000 ล้านบาท และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หากไม่มีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อนานกว่าที่คาด จากเดิมคาดว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศภายในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็นปลายปี ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า กระทบการลงทุนภาครัฐหดตัว 6.6 % และมีผลกระทบต่อไปยังการบริโภคภาคครัวเรือน หดตัว 0.5 % เห็นได้จากปริมาณการซื้อรถยนต์ไตรมาสแรกของปีนี้ มีเพียง 70,000 คัน จากเดิมคาดว่าจะมีการซื้อรถยนต์ใหม่ 90,000-100,000 คัน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.8 % เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนลดลง และกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเหลือเพียง 61 % จาก 70 % ในปีก่อน
ส่วนการส่งออกที่เคยคาดหวังจะขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็ไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากสินค้าเกษตรส่งออกลดลง เช่นยางพารา สินค้าเกษตรแปรรูป แต่คาดว่าจะยังมีปัจจัยบวกจากการส่งออกรถยนต์ในตลาดรอง คือ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้มากขึ้น รวมทั้งการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การส่งออกปีนี้โต 4 % จากเดิมคาดการณ์ว่าโต 5 %
นอกจากนี้ ยังมองว่า แม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย เพราะแม้ไตรมาส 1 จีดีพีติดลบ 0.3 % แต่จีดีพีต้องหดตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส จึงจะเข้านิยามเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม หากจีดีพีเติบโตต่ำต่อเนื่องจะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่จะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งความสามารถทางการผลิตและแข่งขัน และยอมรับว่าในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ มีโอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะรายได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี แต่คุณภาพสินเชื่อยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล แม้ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเพิ่มขึ้นบ้าง
สำหรับค่าเงินบาทในอนาคตมีแนวโน้มอ่อนค่าจากปัจจุบันเนื่องจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศที่เป็นผลมาจากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเมือง แม้จะมีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดทุนในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่เร็วกว่ากำหนด ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์
ด้าน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หดตัว ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศทางการใช้จ่าย ภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา
“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2557 คาดจะขยายตัวติดลบที่ -0.5% จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 56 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังคาดว่า ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัว โดยในไตรมาสที่ 2 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากภาคการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณจากเศรษฐกิจฟื้นตัวมากขึ้น โดยประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มยุโรป และกลุ่ม CLMV เป็นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นบวกได้”
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2557 ติดลบ 1.2 % ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ติดลบ 0.2 % นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 58.7 เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 59.9 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง ทั้งในหมวดการก่อสร้าง และหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องที่ ติดลบ 9.4 % ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ติดลบ 6.6 %
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานส่งสัญญาณหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ติดลบ -10.4 % ส่งผลทำให้ใน ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ติดลบ -7.0 % โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลงในระดับสูง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น