- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 10 July 2014 21:32
- Hits: 3856
TMB Analytics ประเมินผลกระทบภาพรวมต่อผู้ส่งออกไทยถูก EU ตัดสิทธิ GSP
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินผลกระทบภาพรวมต่อผู้ส่งออกไทยถูก EU ตัดสิทธิ GSP แม้จะสัดส่วนน้อย แต่กระจุกตัวในบางกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผักผลไม้ และอาหารทะเลแปรรูป แนะผู้ประกอบการต้องเร่งหาคู่ค้าในตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ
สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือเรียกสั้นๆ ว่า GSP) ที่ยุโรปให้กับไทยนั้น ได้สิ้นสุดลงในปี 2557 สำหรับสินค้าส่งออกไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 17.5% ของมูลค่าการนำเข้ารวมจากประเทศผู้ได้รับสิทธิ GSP และทุกสินค้าจะถูกตัดสิทธดังกล่าวทั้งหมดในปี 2558 จากการที่ไทยถูกจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-Middle Income Countries) เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ทำให้ไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (Most-Favored Nation: MFN)
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้ ผลกระทบแรก คือ ด้านภาษีการนำเข้า จากการที่ถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2557-2558 จะทำให้ไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับราว 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบร้อยละ 3.2 ของมูลค่าการส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด (แต่คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกรวมไปยังทุกประเทศคู่ค้าของไทย) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผักผลไม้ อาหารทะเลแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่ม ซึ่งในปีนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เนื่องจากธุรกิจ SME มีหลายหมวดสินค้าที่ส่วนแบ่งการตลาดไม่เกินกว่าระดับที่ EU กำหนดไว้ แต่สำหรับในปี 2558 ทาง SME จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น จากสิทธิ์ GSP ในสินค้าทุกรายการจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด
ผลกระทบต่อมา คือ ด้านคู่แข่ง กลุ่มประเทศ EU มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งของไทยมากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งส่งออกของไทย ยังรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้ โดยคู่แข่งด้านการค้าหลักของไทยในตลาด EU ที่ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP ในปัจจุบัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และ 2) กลุ่มประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว แต่ยังได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีจากข้อตกลง FTA กับ EU ได้แก่ มาเลเซีย บราซิล เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ซึ่งทำให้ทั้งกลุ่มประเทศคู่แข่งเหล่านี้ ได้เปรียบไทยจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี จึงนับว่าเป็นคู่แข่งด้านส่งออกที่สำคัญของไทย ซึ่งจะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาด EU ลดลง
สำหรับ ผลกระทบส่วนที่สาม คือ ด้านนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิต การที่ไทยไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ที่ได้ยังคงได้รับสิทธิ GSP อยู่ หรือ ย้ายไปยังกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลง FTA กับ EU ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ลดลงได้
ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่าผลกระทบทั้ง 3 ด้านดังกล่าว เป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SME ที่จะถูกกระทบมากขึ้นในปี 2558 และเหลือเวลาปรับตัวอีกไม่ถึง 6 เดือน เท่านั้น และแนะให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เพื่อลดต้นทุนค่าแรงและใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยัง EU และภาครัฐควรเร่งออกนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่มีความประสงค์จะไปลงทุนในต่างประเทศด้วย