- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 18 February 2016 08:45
- Hits: 5756
'ศุภชัย'หยอดหวานรัฐบาลไทยแก้ปัญหาถูกทาง เศรษฐกิจโลกซึมลึกไม่รู้ตัว
'ศุภชัย'อดีตเลขาธิการอังค์ถัดระบุ เศรษฐกิจโลกซึมลึกแบบไม่รู้ตัว หลังการค้าโลกตกต่ำเกินเหตุ ตีแผ่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ตั้งแต่สหรัฐฯที่ยังเปราะบาง ส่วนยุโรป ญี่ปุ่น จีนพึ่งยาก แต่เชื่อจะไม่ถึงกับเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาหยอดหวานรัฐบาลเดินถูกทาง เตือนระวังเข้าร่วมทีพีพี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (16 ก.พ.) ธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบีแบงก์ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “TMB Economic Forum ส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016” โดยนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษระบุ เศรษฐกิจโลกยังซึมลึกและอยู่ในลักษณะตกต่ำโดยไม่รู้ตัว ปัญหาเกิดจากการค้าโลกที่ซบเซาเกินไปขยายตัว 1-2% และมูลค่าของการส่งออกที่ต่ำลงจากการลดลงของสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมัน โดยสถานการณ์การค้าโลกจะขยายตัว 1 เท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หากเศรษฐกิจเติบโต 3% การค้าโลกจะเติบโต 6-7%
“เศรษฐกิจโลกตอนนี้เหมือนการจับกบใส่หม้อ ถ้าจับกบใส่หม้อที่ต้มน้ำจนเดือด กบก็จะกระโดดหนี แต่ถ้าเป็นหม้อที่กำลังต้มน้ำน้ำจะอุ่น กบจะไม่รู้สึกว่าน้ำร้อน แต่เมื่อน้ำเดือดกบก็จะตาย”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะที่เปราะบางหรืออ่อนแอ สหรัฐฯได้อัดเงินเข้าไปในระบบ 6-7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 2% โดยการขยายตัวเกิดจากภาคบริการ แต่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเลขการจ้างงานที่ดีขึ้น เป็นการจ้างชั่วคราวในกลุ่มของงานบริการ ไม่ใช่การจ้างงานที่ยั่งยืน
ขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว ส่วนจีนการเติบโตชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจของยุโรป ดูเข้าไปลึกๆจะเห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีปัญหา สินทรัพย์ที่ถือไว้มีราคาด้อยค่า พันธบัตรรัฐบาลแต่ละประเทศในยุโรปที่ธนาคารพาณิชย์ถือไว้ มีการเข้ามาพยุงราคาด้วยธนาคารกลางยุโรป หากวันใดเลิกอุ้ม ตราสารหนี้จะมีปัญหาทันที ขณะที่ตราสารหนี้ของภาคเอกชนเป็น ตราสารขยะ ไม่มีค่า หรือมีค่าน้อยมาก “อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก เพราะทุกคนเห็นปัญหาและพร้อมกันเข้าไปแก้ไข ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีใครเห็นปัญหา”
ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น เดินมาถูกทางแล้ว เพราะในภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังผันผวน ไทยไม่สามารถพึ่งการส่งออกหรือการเติบโตแง่ตัวเลขได้อย่างเดียว ควรดูการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนตามให้เกิดการจ้างงานและเติบโตระยะยาว
โดยรัฐบาลไม่ควรกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะกระตุ้นไปก็อันตราย เนื่องจากขณะนี้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมาก ประชาชนไม่สามารถก่อหนี้ได้เพิ่มอีกแล้ว อีกทั้งรายได้ของประชาชนยังไม่เพิ่ม รวมถึงสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของคนไทย ยังมีราคาตกต่ำ จึงต้องระวังจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้
ส่วนสิ่งที่จะขอร้องรัฐบาล คือการไม่ควรเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) เนื่องจากในกรอบความร่วมมือทีพีพีมีถึง 30 หัวข้อ มีผลกระทบต่อภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งในมุมมองของภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์เพราะตลาดการค้าจะใหญ่ขึ้น แต่ในภาคประชาชน สังคมอาจมีผลกระทบ เช่น ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ยาราคาแพง และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการคือการลดบทบาทขององค์การการค้าโลก โดยจับมือกับยุโรป จัดทำข้อตกลงการค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกาหรือทีทีไอ และยังทำทีพีพีอีก เพื่อหวังอำนาจหรือเป็นตัวกำหนดเงื่อนไข กฎเกณฑ์การค้าโลก โดยไทยควรมุ่งการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมถึงการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) ในกลุ่มอาเซียน บวก 6 ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่ได้รับประโยชน์มากกว่า.
ที่มา : www.thairath.co.th