- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 07 July 2014 18:11
- Hits: 3380
กรุงศรี กรุ๊ป ประเมินจีดีพีปีนี้โต 1.8-2.3% เป้า SET อยู่ที่ 1487จุด แต่เตือนไตรมาส3/57 ดัชนีปรับฐาน
'กรุงศรี กรุ๊ป'ประเมินจีดีพีปีนี้โต 1.8-2.3% ส่งออกโต 1-3% พร้อมคาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบาย 2% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นปีนี้คงเป้าที่ 1487จุด เตือนQ3/57ปรับฐาน ปีหน้าได้เห็น 1580-1600จุด หลังนักลงทุนมั่นใจ ศก.-การเมืองดีขึ้น แนะภาครัฐต่ออายุกองทุน LTF-RMF เชื่อเป็นแรงหนุนที่สำคัญในตลาดหุ้นได้
นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)หรือ BAYเปิดเผยในงานสัมนาเครือกรุงศรี(ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, บลจ.กรุงศรี จำกัด,บล.กรุงศรี)หัวข้อ "การปรับตัวของภาคธุรกิจ ฝ่าวิกฤตพิชิตการลงทุน" วันนี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ เนื่องจากมีแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ส่งผลให้การบริโภคในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน และเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 1.8-2.3% ขณะที่ภาคการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-3%
"ครึ่งปีหลังการบริโภคจะเข้ามาเกื้อหนุนมากขึ้น เพราะมันมีการคั่งค้างการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมาจากการเมือง มันคงไปได้เรื่อยๆเพราะทุกอย่างเริ่มชัดเจน คนเริ่มมั่นใจกับนโยบายต่างๆที่ออกมามากขึ้น"นายรุ่งศักดิ์ กล่าว
ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยคงต้องติดตามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในต่างประเทยังมีปัญหาระยะยาวที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งด้วยตัวเอง ยังคงต้องอาศัยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารประเมินว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงที่เหลือของปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)คงไม่น่าจะปรับขึ้นหรือปรับลงจากระดับปัจจุบันที่ 2% เนื่องจากมีนโยบายด้านการคลังเป็นที่พึ่ง ประกอบกับดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง จึงมั่นใจว่าดอกเบี้ยจะไม่ปรับลงไปอีกแน่นอน ขณะที่โอกาสในการปรับขึ้น ก็ยังไม่มีเพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม มองว่าปีหน้ามีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้น 2ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยเป็นผลมาจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ที่สุดแล้วต้องปรับดอกเบี้ยในทิศทางขาขึ้น
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีมุมมองคงเดิม คือ ประเมินว่าไม่เกิน 33บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนปีหน้ามองว่าน่าจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33บาทกว่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยมีแรงกดดันจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการลงทุนเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม จุดเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่สำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.สู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป รวมถึงการบ้านที่ คสช.ต้องเร่งทำคือการปฏิรูปความรู้สึกสมานฉันท์ และความแตกแยกให้คลี่คลายลงนั้นจะกลับมาได้หรือไม่
ด้านนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า บริษัทฯ คงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ 1487จุด แม้ล่าสุดดัชนีฯ จะทะลุ 1500จุดไปแล้ว หรือคิดเป็น พี/อี 16 เท่า EPS ที่ 82บาทต่อหุ้น หรือโต 5%จากปีก่อน แต่เชื่อว่า มีความเสี่ยงที่ไตรมาส 3 ดัชนีฯ จะปรับฐาน เพราะหากนับจากต้นปี ดัชนีฯ ปรับขึ้นมาแล้ว15% นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงว่าในบางอุตสาหกรรม จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เช่น พลังงานและสื่อสาร
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ต้องติดตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ได้ปรับขึ้นมาสูงสุดในรอบ 15ปี คืออยู่ในลักษณะกระทิงต่อเนื่องมา 6ปีแล้ว ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ก็มีความเสี่ยงว่าตลาดหุ้นในสหรัฐฯจะไม่ดีนัก
"ดังนั้น ไตรมาส 3 จะมีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นในต่างประเทศจะปรับฐาน โดยมองว่าหุ้นไทยมีโอกาสจะปรับลดลง 50จุด มาอยู่ที่ประมาณ 1400-1450 จุด"นายธนเดช กล่าว
นอกจากนี้ ประเมิน ดัชนีฯ ปีหน้าที่ 1580-1600 จุด ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และการลงทุนเริ่มเดินหน้า โดยกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุนคือ กลุ่มแบงก์ อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งหุ้นที่ได้รับการสนับสนุนจากการลงทุนที่ล้อไปกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
ด้านนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประเมินจีดีพีไทยจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3-ไตรมาส 4 ปีนี้ โดยตลาดทุนมีมุมมองเป็นบวกต่อเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก เนื่องจากเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการประมาณการตัวเลขจีดีพีของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ปีนี้ที่โต 1.5% และปีหน้าที่โต 5.5% ทำให้นักลงทุนสถาบันมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใสติดต่อกัน 6 ไตรมาสนับจากนี้
"ภาพรวมเศรษฐกิจมันทำให้กลยุทธ์การลงทุนของสถาบัน มีความหลากหลาย ทั้งการลงทุนหลายกรอบ โดยเฉพาะการลงทุนในระยะยาวที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มดีขึ้นแล้ว ทำให้สถาบันมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการลงทุน แต่กลยุทธ์ก็ยังคงเข้าๆ ออกๆ เหมือนเดิม"นายประภาส กล่าว
นายประภาส กล่าวต่อว่า แม้ล่าสุดจะมีเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาลงทุนในกองทุนรวมเพียง 10,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีถึง 40,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากปีที่แล้ว นักลงทุนสถาบันถือเงินสดไว้ค่อนข้างมาก เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ทางการเมือง แต่ปีนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว
ดังนั้น จึงประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบันอีก 50,000 ล้านบาท เพราะยังมีนักลงทุนสถาบันบางกลุ่มถือเงินสดไว้อยู่ ทำให้ทั้งปีนี้น่าจะเห็นยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันเกือบ 100,000 ล้านบาท
นายประภาส กล่าวต่อถึง กรณีที่สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีของกองทุน LTF และ RMF จะหมดอายุลงในปี 2559 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะต่ออายุทั้ง 2 กองทุนนี้หรือไม่ว่า หากไม่มีการต่ออายุอาจส่งผลให้กองทุน LTF และ RMF ที่ครบกำหนด ทยอยขายหุ้นซึ่งจะทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลด้านจิตวิทยาการลงทุนในด้านลบได้ เพราะในแต่ละปีมีเงินเข้ามาลงทุนใน LTF ราว 30,000-30,000 กว่าล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากจะยกเลิกจริงๆ รัฐบาลควรปรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีเป็นด้านอื่น เช่น ด้านการศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นกองทุนระยะยาวที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นไทย
"ดังนั้น ถ้าไม่มีการต่ออายุ จะมีแรงเทขายออกมาได้ ดังนั้น รัฐบาลควรปรับรูปแบบการให้สิทธิทางภาษี เช่น รูปแบบของด้านการศึกษา เพื่อเป็นกองทุนระยะยาว นอกจากนี้ อยากให้ทางภาครัฐเห็นความสำคัญของนักลงทุนสถาบันมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันนักลงทุนสถาบันคิดเป็นสัดส่วน 5-10% ในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ต่างชาติมีสัดส่วน 30-60% ดังนั้น อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดหุ้นไทย " นายประภาส กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย