- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 23 December 2015 21:30
- Hits: 7828
กางสูตรไม่ลับ'สปท.' โมเดล'ปฏิรูปเศรษฐกิจ'
หมายเหตุ - กรอบการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ้มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน สรุปรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อวางรากฐานสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงความยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนา เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจให้สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ แบ่งการขับเคลื่อนการปฏิรูปออกเป็น 4 กลุ่มภารกิจ ได้แก่ 1.การเงิน การคลัง และการงบประมาณ 2.เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ 3.เศรษฐกิจเกษตรกรรม และ 4.เศรษฐกิจกระแสใหม่ จึงได้วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ ใน 4 ด้าน ตามกรอบของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อันได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเป้าหมายสำคัญในการเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ประเทศมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น โดยเร่งปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย การปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า การพัฒนายกระดับภาคเศรษฐกิจกระแสหลักของประเทศ ทั้งทางด้านเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ การสร้างเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเชิงวัฒนธรรม ตลอดจนการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ ขณะเดียวกัน ดำเนินการปฏิรูปเพื่อเพิ่มการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับภูมิภาค ของตลาดการเงิน ตลาดทุน โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ นำประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Hub) ต่อไป
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งพัฒนาแบบบนลงล่างจากเมืองสู่ชนบท อุตสาหกรรมขนาดใหญ่สู่ผู้ประกอบการรายย่อย หวังว่าประโยชน์จากความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศจะส่งผ่านไปยังภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเมืองเล็กและชนบทที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นอกจากจะมีระดับความเหลื่อมล้ำสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แล้ว ขนาดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท คนรวยและคนจน ไม่ได้ลดลง จึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อทำให้เสมอภาค
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะก่อให้เกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมขึ้นระดับหนึ่ง จึงต้องมีกลไกควบคุม ส่งเสริมให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันในตลาดโลกภายใต้บริบทของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล การนำเครื่องมือทางการคลังการเงินและการบริหารจัดการที่ดีเข้ามาประยุกต์ใช้ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มประสบปัญหาทางการคลังอย่างต่อเนื่อง การขาดวินัยในส่วนของการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการประชานิยมต่างๆ จากระบบภาษีที่ซับซ้อน มีช่องโหว่ ขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ของภาษี โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ อีกทั้งยังมีจำนวนผู้เสียภาษีจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกัน ระบบการคลังของประเทศถูกกัดกร่อนจากปัญหาการใช้จ่ายที่รั่วไหลในระบบงบประมาณ ปัญหาเงินนอกงบประมาณ ความขาดประสิทธิภาพของระบบรัฐวิสาหกิจ มีภาระการคลังแอบแฝงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาระจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทำให้รัฐเป็นผู้รับภาระดูแลค่าใช้จ่ายและค่ารักษาพยาบาลของผู้สูงวัยผ่านระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพ ในด้านการเงิน แม้ว่าภาคการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพดีในระดับหนึ่ง แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยนยังมีปัญหาที่ต้องการปฏิรูป ประชาชนไม่สามารถบริหารและวางแผนการเงินได้
จากยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านข้างต้น ในระยะที่ 1 ของการขับเคลื่อนการปฏิรูป (6 เดือนแรก) ประกอบด้วย 21 วาระ เป็นวาระปฏิรูปและวาระพัฒนาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอไว้เดิม จำแนกตามยุทธศาสตร์และด้านที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการปฏิรูปได้ ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
1.1 การปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้า (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ) เพื่อปรับปรุงกติกา การประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเสมอภาคเท่าเทียมกัน เสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน
1.2 การสร้างสังคมผู้ประกอบการ (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ) ในการยกระดับประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานการค้ามูลค่าสูง เพื่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ต้องขยายบทบาททางการค้าจากเดิมที่เน้นการส่งต่อสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางที่มีมูลค่าต่ำไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง
1.3 การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ) มุ่งเน้นไปสู่เป้าประสงค์ 3 ประการหลัก คือ การบูรณาการงานด้านการท่องเที่ยว การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนอย่างทั่วถึง และการสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว
1.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ) ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ บูรณาการให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในส่วนของการไหลของข้อมูล การไหลของสินค้าและบริการ และการไหลของเงิน
1.5 การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ASEAN Hub (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ) ต้องส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมหลักในปัจจุบันและอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะยาว ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ
1.6 การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเกษตร (เศรษฐกิจเกษตรกรรม) ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรประมาณ 147 ล้านไร่ แต่เกษตรกรกลับมีความยากจน มีหนี้ครัวเรือนสูง เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีต้นทุนการทำการเกษตรสูง
1.7 การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (เศรษฐกิจกระแสใหม่) ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมรู้จักใช้ระบบสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศ รู้จักสร้างรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิมโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในทุกรูปแบบ
1.8 ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศถือเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับรายได้และสนับสนุนความยั่งยืนทางการค้า
2.ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ
2.1 การปฏิรูประบบการเงินระดับฐานราก (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) เนื่องจากระบบสถาบันการเงินต่างประสบปัญหาในการลงไปให้บริการแก่ประชาชนในชนบทที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง จึงเกิดช่องว่างสำคัญในการให้บริการทางการเงินของประเทศที่ทำให้ประชาชนในส่วนของฐานรากไม่สามารถออม และไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส รายได้ และเศรษฐกิจ
2.2 การปฏิรูประบบเกษตรพันธสัญญาให้เป็นธรรม (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) การที่ระบบเกษตรพันธสัญญาขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีภาครัฐมุ่งเน้นการทำหน้าที่ เป็นกลไกในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา แต่ละเลยบทบาทหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบและควบคุม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ขาดการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม ทำให้โครงสร้างของระบบขาดความสมดุล จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง
2.3 การประกันภัยพืชผล (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก แต่กลับประสบความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ บางครั้งความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลร้ายแรงให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ดังนั้น การประกันภัยพืชผลจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าวได้
2.4 การจัดตั้งธนาคารที่ดิน (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) เกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาที่ดินทำกินที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในระดับประเทศ เกิดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน นำไปสู่ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เต็มศักยภาพ
2.5 เศรษฐกิจเชิงสังคม (เศรษฐกิจกระแสใหม่) การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกระดับในสังคมอย่างองค์รวมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พยายามจะมองบทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจในมุมที่สร้างสรรค์ควบคู่กันกับการพัฒนาสังคมในรูปแบบใหม่ของการประกอบการสังคม
3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้มีการเสนอไว้ แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะนำเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาและนำเสนอในระยะถัดไป
4. ยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน
4.1 การปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษีอากร (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) แม้ว่าระบบภาษีไทยจะมีการปรับปรุงมาเป็นระยะๆ แต่เป็นการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง เป็นรายชนิดภาษี ประกอบกับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากรของไทยยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก
4.2 การปฏิรูปด้านการคลังและระบบงบประมาณ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) ต้องปฏิรูประบบการกำกับดูแลด้านรายจ่ายให้มีความสมดุล ยึดหลักไม่รั่วไหล คุ้มค่า และยืดหยุ่น ส่วนด้านงบประมาณ ต้องสร้างระบบให้สามารถตรวจสอบได้ว่างบประมาณไปลง
พื้นที่ใดและจำนวนเท่าใด
4.3 การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง) รัฐวิสาหกิจถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศเพราะเป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคภายในประเทศ แต่บางแห่งยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและความโปร่งใส ต้องพิจารณาขจัดอุปสรรคด้านต่างๆ ที่บั่นทอนความสามารถ จัดระบบบริหารใหม่โดยให้มีหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน
4.4 การปฏิรูประบบการออมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว อัตราการแบกรับคนสูงวัยต่อคนทำงานเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องปฏิรูประบบการออมให้ทั่วถึงและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
4.5 การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ แบ่งได้เป็นด้านการป้องกันทั้งในระดับประเทศและชุมชนท้องถิ่น ต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนควบคู่ไปด้วย อีกด้านหนึ่งต้องปฏิรูประบบการรักษาพยาบาล
4.6 การปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ผ่านมาเริ่มมีความเสี่ยง การดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ในบางกรณีมีการแทรกแซงทางการเมือง ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส ดังนั้น การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาช่วยกำกับดูแล จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
4.7 การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ต้องพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อมาทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนการกำกับดูแล
4.8 การปฏิรูปความรู้พื้นฐานทางการเงิน การให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ทางการเงินและไม่สามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลและครอบครัวได้ อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการดำรงชีพ