- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 06 October 2015 22:38
- Hits: 6847
ธนาคารโลกหั่นจีดีพี เหลือ 2.5%ชี้โครงสร้างมีปัญหาปฏิรูปช้า เศรษฐกิจไทยรั้งท้ายอาเซียน
แนวหน้า : ธนาคารโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’58 เหลือแค่ 2.5% ขยายตัวช้าสุดในอาเซียน จากปัญหาโครงสร้างการบริหารประเทศ แนะเร่งปฏิรูปใน 3 ด้านหลักทั้งการพัฒนาสินค้า โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา ด้านศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ประเมินปี’59 โต 2.5-3% อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงินและสถาบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยในปีนี้เหลือโตเพียง 2.5% จากเดิมคาดโต 3% ถือว่าอัตราเติบโตช้าสุดในอาเซียน เนื่องจากไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างจากการบริหารประเทศที่ต้องใช้เวลาในการปฏิรูปกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ โดย 3 ด้านที่ต้องปฏิรูป คือด้านแรก ไทยจะต้องมีการพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่เติบโตได้จากการส่งออก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้ง่าย
ด้านที่ 2 ไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และด้านที่ 3 คือพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพประชากรและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้น จึงจะช่วยให้จีดีพีไทยขยายตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว
ธนาคารโลก ชี้ว่าตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% และรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัว 0.8% แม้ว่ายังมีสัญญาณการอ่อนแอของการส่งออกอยู่บ้างก็ตาม แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปีนี้ยังขยายตัวได้ 6.5%
นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ 2% และการส่งออกขยายตัวได้ 1.8% ขณะที่ปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.4% และการส่งออกขยายตัวได้ 1.3% โดยยังมีความเสี่ยงมีจากเศรษฐกิจจีนในปีหน้า จะขยายตัวได้เพียง 6.7% และมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.0-2.5% และปี 2559 จะขยายตัว 2.5-3% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ปี 2558 จะขยายตัว 3% และปี 2559 ขยายตัว 3.3% พร้อมคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้ จะติดลบ 5% ส่วนปีหน้าจะขยายตัว 0-2% เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าบริโภคลดลง รวมถึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการชะลอตัว
ของเศรษฐกิจจีนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องอีกหลายปี ขณะเดียวกัน การส่งออกไปประเทศในแถบอาเซียนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศพึ่งพาการส่งไปจีนเป็นหลัก
ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2559 มาจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวโดยคาดว่าช่วงกลางปีหน้าจะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชนจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นพร้อมส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน โดยมีนโยบายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดกำลังการผลิต และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนในภูมิภาคส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่รุนแรงมากและไม่เป็นอุปสรรคต่อการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนค่าเงินบาทปีนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้าคาดกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ