WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ADBbankเปิดแผนดันเมกะโปรเจกท์แสนล. เชื่อมโครงข่ายขนส่ง/กระตุ้นศก.

    แนวหน้า : เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างสักทีสำหรับการเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าที่ โดยล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้เริ่มลงมือตอกเสาเข็มแล้ว ขณะที่ผู้รับเหมาได้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563

       ขณะที่สายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วกว่า 61% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนแนวทางการเดินรถอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับกรุงเทพมหานคร(กทม.)

ส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ อีก 4 โครงการได้แก่

     1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ,

     2.โครงการรถไฟฟ้าสายส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี,3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และ

     4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดทำ ข้อมูลและรายละเอียดของโครงการต่างๆ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในเร็วๆ นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,004 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ขบวนรถ 2 ขบวนแรกถึงไทยแล้วและมีการจัดพิธีรับมอบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนขบวนรถที่เหลือจะทยอยเดินทางมาถึงไทยตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. 2558 ซึ่งจะครบทั้ง 21 ขบวนภายในเดือน ก.พ. 2559 โดยทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบมจ.บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) มั่นใจสามารถเปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าวได้ในปลายปีนี้ และเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ในช่วงเดือน ส.ค.ปีหน้า สำหรับในส่วนของสัญญาสัมปทานทางบริษัท BMCL ได้รับสัมปทานจาก รฟม. จำนวนสัญญา 4 ให้เป็นผู้ลงทุน,จัดหาระบบรถไฟฟ้า,ให้บริการการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้า โดยระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แบ่งเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 คือ การจัดหาและติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า ที่กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2559 และงานระยะที่ 2 คือการเดินรถและซ่อมบำรุงอายุสัญญาสัมปทานในปี 2586 ส่วน 2.โครงการ รถไฟฟ้าสายส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี วงเงิน 110,116 ล้านบาท ขณะนี้ยังติดปัญหาเกี่ยวกับแนวเส้นทางเดินรถที่ประชาชนคัดค้านอยู่

      3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 56,691 ล้านบาท ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำรถมาให้บริการในรูปแบบใด แต่จะมีการลงทุนแบบเอกชนร่วมทุน(PPP)ในรูปแบบ PPP Net-Cost ที่จะให้สัมปทานเอกชนโดยทางเอกชนจะต้องรับภาระลงทุน 100%

      4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท ระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตรก็จะใช้รูปแบบในการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู ขณะที่ ผู้ว่าการ รฟม. พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุลกล่าวว่า แผนผลักดันโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในปี 2558-2559 นี้ ไม่มีการปรับแผน เนื่องจากรายละเอียดโครงการได้เสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาหมดแล้วทำให้ กรอบเวลาของโครงการต่างๆ ยังคงไว้เช่นเดิม ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเป็นการลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุน(PPP) ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ส่วนโครงการที่คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคาได้ในปีหน้าได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงินลงทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเงินลงทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง วงเงินลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ประกาศเตรียมความพร้อมสู่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ E-Bidding ของกระทรวงคมนาคมจะใช้ E-Bidding มีทั้งหมด 19 โครงการเป็นโครงการนำร่องที่จะดำเนินการในปี 2558-2559 วงเงินประมาณ 1,770,000 ล้านบาท            ซึ่งเกือบทุกโครงการจะใช้ลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน(PPP) เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และโครงการรถไฟกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นต้น

    ทั้งนี้ หากแผนผลักดันโครงการรถไฟฟ้าเป็นไปตามแผนงานโครงการที่วางไว้ ก็เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการขนส่งมวลชนครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และร่นระยะเวลาการเดินทางของคนในเมืองได้อย่างแท้จริง

      ที่สำคัญก่อนหน้านี้ ธนาคารเอดีบี ระบุว่า เมกะโปรเจกท์คืออีกความหวังหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ทำให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามมาและคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นด้วย

คาดศก.ไทยโตแผ่ว 2.7%เอดีบีจี้เร่งกระตุ้นภาครัฐ-การท่องเที่ยวหนุนส่งท้ายปี

     บ้านเมือง : 'เอดีบี'หั่นคาดการณ์จีดีพีของไทยปีนี้เหลือโตแค่ 2.7% เหตุครึ่งปีแรกเติบโตต่ำเพียง 2.9% ชี้ปัจจัยบวกอยู่ที่การลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว ระบุส่งออกคาดติดลบ 2-3% พร้อมจับตาผลมาตรการกระตุ้น ศก. อาจทำให้ปี 59  จีดีพีโตได้กว่า 3.8% ขณะที่ความท้ายทายปีหน้า การไหลออกของเงินทุนจากเอเชียกลับไปสหรัฐ

     นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้เหลือโตเพียงประมาณ 2.7 % จากเดิมประมาณ 3.6 % เนื่องจากครึ่งปีแรกจีดีพีโตต่ำเพียงประมาณ 2.9 % ประกอบกับเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนและอุปสงค์ที่เบาบางลงของประเทศอุตสาหกรรม

      ส่วนปี 2559 ได้ปรับลดจีดีพีลงเช่นกันเหลือโตประมาณ 3.8 % จากเดิมคาดการณ์โตประมาณ 4.1 % ประเมินว่าการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเริ่มลงทุนจะเข้ามาหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การประมาณการครั้งนี้ยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้น หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน โดยอัดฉีดเม็ดเงินตำบลละ 5 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อเอสเอ็มอี มีประสิทธิภาพเม็ดเงินดังกล่าวจะเห็นผลชัดเจนปี 2559 ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีปี 2559 อาจจะโตได้มากกว่าประมาณ 3.8% โดยหวังว่าการลงทุนภาครัฐทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะประมูลเสร็จสิ้นภายในปีนี้และมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบปีหน้าจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจไทยทำให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามมาในช่วงปี 2559-2561 และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นด้วย

     "เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าการจับจ่ายฝืดเคืองบ้าง โดยปีนี้ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนเป็นพระเอก และหวังว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นปี 2559 " นางลัษมณ กล่าวส่วนภาคการส่งออกปีนี้ติดลบประมาณ 2% โดยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คือ จีนและอาเซียนชะลอตัวลง หวังว่าการส่งออกปี 2559 จะขยายตัวได้ประมาร 3-4 % เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักจะดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป แต่ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ตามความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง โดยหวังว่าการที่รัฐบาลจัดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือซูเปอร์คลัสเตอร์ จะตรงกับความต้องการของตลาดโลก ด้านสถานการณ์การเมือง ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ แต่เป็นห่วงเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งต้องระวังไม่ให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกระทบต่อความมั่นใจของผู้ลงทุน

     ส่วนความท้ายทายปี 2559 คือ การไหลออกของเงินทุนจากเอเชีย กลับไปสหรัฐที่มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับเอเชียที่จะต้องลดดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดการเงินโลกและส่งผลให้ค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากรวมทั้งเงินบาท ซึ่งต้องจับตาว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยการส่งออกได้แค่ไหน เนื่องจากเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน แต่อาจจะมีผลต่อเงินกู้ระยะสั้นให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยมีเงินกู้ระยะสั้นต่ำจึงไม่น่ากังวล นอกจากนี้ ยังมีความท้าท้ายเรื่องราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังต่ำ ซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูงยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

   นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน (ธปท.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ลดลง 0.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโตที่ 3% ลดลงเหลือ 2.7% เนื่องจากภาคการส่งออกหดตัวมากกว่าคาดตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำลงทำให้คาดว่าส่งอกไทยปีนี้จะโตติดลบถึง 5% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบที่1.5%บวกกับการบริโภคภาคเอกชน หรือการใช้จ่ายในประเทศก็ขยายตัวต่ำลง และมีปัญหาภัยแล้งกระทบต่อรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายแถมยังมีตัวถ่วงจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงด้วย

     "เศรษฐกิจปีนี้มีปัจจัยลบมาก แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกจาการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง แม้ระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากเหตุราชประสงค์บ้างก็ตาม ขณะเดียวกันยังมีมาตรการการลงทุนรัฐและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเพิ่มเติมมาช่วยด้วยถึงผลดีจะไม่ออกในปีนี้มากนัก โดยภาพรวมไม่ว่าผลจะออกปีนี้หรือปีหน้าก็จะส่งผลดีต่อจีดีพีประมาณ 0.1%" นายเมธีกล่าว

ธปท.-เอดีบีหั่นจีดีพีโต 2.7%ส่งออก-ใช้จ่ายเอกชนแผ่วไร้สัญญาณศก.ฟื้นตัวชัด

    ไทยโพสต์ * ธปท.-เอดีบี ประสานเสียง หั่นจีดีพีของไทยปีนี้เหลือ 2.7% รับการส่งออก การใช้จ่ายภาคเอกชนยังอ่อนแรง ยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน "เมธี" ระบุ กนง.ถกนัดต่อไปเดือน ธ.ค. จ่อหั่นอัตราขยายตัวอีกรอบ

     นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง.ได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 เหลือ 2.7% จากคาดการณ์เดิม 3% เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่อ่อนแอลง

      รวมทั้งได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2559 ลงเหลือ 3.7% จากเดิม 4.1% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการ และยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนเมื่อไร โดยขอเวลาในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

   "กนง.จะมีการปรับประมาณการจีดีพีอีกครั้งในการประ ชุมเดือน ธ.ค.2558 โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีในช่วงครึ่งหลังของ ปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.5% โดยปัจจัยที่เป็นผลกดดันหลักๆ มาจากการส่งออกสินค้าลดลง ตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนและเอเชีย ส่งผลให้มีการปรับประ มาณการตัวเลขส่งออกปีนี้ติด ลบ 5% จากคาดการณ์เดิมติด ลบ 1.5% ขณะที่การส่งออกปี 2559 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย บวก 1.2% จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.5%" นายเมธีกล่าว

     ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนยังอ่อนแรงกว่าที่คาดการณ์ เป็นผลจากความเชื่อมั่น ของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ยัง ไม่ฟื้นตัวกำลังการผลิตยังเหลือ อยู่มาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการส่งออก ทำให้ยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ติดลบ 0.5% ขณะที่ปีหน้าบวก 5.4%

     นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศ ไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยปีนี้เหลือ 2.7% จากเดิม 3.6% จากผลกระทบของการชะลอตัว เศรษฐกิจจีน และอุปสงค์ที่เบา บางลงของประเทศอุตสาหกรรม ขณะที่ปี 2559 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.8% ลดลงจากเดิมที่ 4.1% โดยเชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะเข้ามาหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

    "เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าหลายคนอาจจะรู้สึกว่าการจับจ่ายฝืดเคืองบ้าง โดยปีนี้ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนเป็นพระเอก และหวังว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในปี 2559" นางลัษมณกล่าว.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!