- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 25 July 2015 20:56
- Hits: 3823
ฝืดเคืองทุกหย่อมหญ้า เม็ดเงินรัฐนอนนิ่งแสนล้าน-แบงก์ปล่อยกู้ลดลงหวั่นหนี้เน่าพุ่ง
แนวหน้า : เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองอย่างหนักเม็ดเงินไม่ไหลเข้าระบบ คลังเซ็งงบประมาณแสนล้านลงไม่ถึงมือชาวบ้านทั้งที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว ส่วนภาคเอกชนก็ลำบาก เพราะแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ไม่ได้ตามเป้า เหตุลูกค้ามีหนี้สูง ความสามารถชำระหนี้ต่ำ จำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อสกัดหนี้เสีย ขณะที่ตลาดหุ้นก็ไม่สะพัด เหตุเศรษฐกิจแย่ฉุดซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง
สภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าจะยังชะลอตัวลงอีก เพราะเม็ดเงินไม่ไหลเข้าระบบ ทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเห็นได้จากสัญญาณจากแบงก์พาณิชย์ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง และจะต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เพราะว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) จะเพิ่มขึ้น
ล่าสุด นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้กล่าวว่าที่ผ่านมาได้รวบรวมโครงการที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย วงเงินกว่าแสนล้านบาท ที่เป็นเงินให้ชาวบ้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่าง(รากหญ้า) จำนวนมาก กลับลงไปไม่ถึงมือชาวบ้านยกตัวอย่างล่าสุด เงินกู้ 4 หมื่นล้านบาท กรมทางหลวง และวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ของกรมทางหลวงชนบท แต่ไปเช็คดูเพิ่งจะลงไปยังไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ไม่รู้ว่ามันติดขัดตรงไหน และหลังจากนี้มีแผนจัดการเงินลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐที่ยังค้างอยู่คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ให้แล้วเสร็จ
ขณะที่นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเจอปัจจัยท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นธนาคารจึงเพิ่มเกณฑ์และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยยอดการอนุมัติสินเชื่อ ปัจจุบันลดลงมาก เหลือ 35-40% เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้วมีสัดส่วนการอนุมัติสูงถึง 70% เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว กดดันความสามารถในการขอกู้
ส่วนลูกค้าเดิมมีบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เบื้องต้นใช้มาตรการยืดการผ่อนชำระเงินต้นออกไป22-24 เดือน โดยใช้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ย ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ยังมีหลักประกันที่ยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ
“หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปีนี้จะรักษาให้อยู่ในระดับ 2.1-2.2% โดยสิ้นไตรมาส 2/58 มี NPL อยู่ที่ 1.96% ส่วนลูกค้าเดิมมีบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เบื้องต้นใช้มาตรการยืดการผ่อนชำระเงินต้นออกไป 22-24 เดือน โดยใช้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ย ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ยังมีหลักประกันที่ยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ”
นางศศิธร ยอมรับว่า อัตรากำไรสุทธิในปีนี้ จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20-25% จาก 34.5% ในปีก่อน เนื่องจากจะมีการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากปกติที่ตั้งสำรองเดือนละ 50 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนความคืบหน้าในการหาพันธมิตร ปัจจุบันมีการเจรจาเพิ่มกับพันธมิตรยุโรปอีก 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาช่วยเสริมในด้านเทรดไฟแนนซ์ ขณะที่พันธมิตรในแถบเอเชีย 3 รายยังมีการเจรจากันต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป
ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้ และปัญหาหนี้กรีซที่ยืดเยื้อ รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า มีผลต่อมูลค่าการซื้อขาย เฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือ 47,698 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 52,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงส่งผลทำให้หุ้นเก็งกำไรลดลงตามไปด้วยโดยปัจจุบันมีหุ้นเก็งกำไร 22 หลักทรัพย์ ลดลงจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ที่มีจำนวน 52หลักทรัพย์ และช่วงที่มีการเก็งกำไรสูงสุดมีถึง 73 หลักทรัพย์
ส.อ.ท.ห่วงภัยแล้งกระทบ GDP โตไม่ถึง 3% หวังทีมศก.ใหม่แก้ปัญหาเร็วขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3% ในขณะที่การส่งออกอาจจะติดลบราว 2% ซึ่งได้รวมผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งไว้แล้ว แต่หากสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศมีความรุนแรงมากกว่าที่ประเมินไว้ ก็อาจจะต้องปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงไปอีก ซึ่ง ส.อ.ท.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้
"ปัญหาภัยแล้งถือว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งทำให้การใช้จ่ายลดลงตามรายได้ อีกทั้งที่ผ่านมาเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอยู่แล้ว" ประธานส.อ.ท.ระบุ
ส่วนภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะยังชะลอตัวอยู่นั้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) บางส่วนต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ลดการทำงานล่วงเวลาเพื่อลดต้นทุน แต่ยังมองว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะไม่ปลดแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากประเทศไทยยังคงขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้องรักษาแรงงานกลุ่มดังกล่าวไว้ เพื่อเดินหน้าการผลิตได้ทันทีหากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นในช่วงนี้รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีเงินทุนเวียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เข้ามาค้ำประกัน รวมถึงมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Policy Loan) เข้ามาช่วยผู้ประกอบการรายย่อย แต่ก็ถือว่าดำเนินการล่าช้าเกินไป ดังนั้นต้องติดตามดูว่าแม้ บสย.จะเข้ามาค้ำประกัน แต่สถาบันการเงินจะยอมปล่อยสินเชื่อหรือไม่
"มาตรการภาครัฐตอนนี้ รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือมากขึ้น แต่ต้องรอดูในส่วนของวงเงินงบประมาณที่ให้บสย.ค้ำประกันว่าจะสามารถเข้าสู่ระบบได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคือ แบงก์จะยอมปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือไม่ หรือ SMEs จะต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่ม" นายสุพันธ์ กล่าว
ประธาน ส.อ.ท.ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วยว่า ภาคเอกชนมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีหากทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาสามารถทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมามองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ประสานงานกับภาคเอกชนเท่าที่ควร และยังมีความล่าช้า ซึ่งหวังว่าทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่จะให้ความสำคัญและเร่งแก้ปัญหาให้แก่ภาคเกษตร และผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมค่อนข้างมาก
สศค.มอง GDP ไทยยากกลับไปโต 4% จากปัญหาโครงสร้าง ศก.บิดเบี้ยว-การเมือง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการสัมมนา"เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน"ว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปขยายตัวได้ถึง 4% ต่อปีหลังจากนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจบิดเบี้ยวมานาน โดยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 77% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จากปี 40 ที่มีสัดส่วนเพียง 40% ของจีดีพี ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยอ่อนไหวมากเมื่อเศรษฐกิจโลกเปราะบาง แม้ว่าภาคท่องเที่ยวจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้ เพราะมีสัดส่วนแค่ 10% ของจีดีพีเท่านั้น
"เศรษฐกิจไทยเรียกว่ากรรมเก่าเยอะ ที่ผ่านมาบริโภคล่วงหน้าไปเยอะ ทั้งจากโครงการรถคันแรก ทำให้ตอนนี้ไม่มีใครซื้อรถใหม่ หนี้ครัวเรือนในระดับสูง บุญเก่าที่ทำมาใกล้หมด และเคราะห์ซ้ำกรรมซัด จากปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอีก โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับสูงเหมือนที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องยาก"นายเอกนิติ กล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจไทยในระยะยาวยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องแก้ไข ทั้งในเรื่องของการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันแรงงานกว่า 39.7 ล้านคน อยู่ผิดที่ผิดทางโดยอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 1 ใน 3 ขณะที่เลือกเรียนระดับปริญญาตรีแทนการเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น จะเห็นได้ว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยที่ 0.9 จะอยู่ในกลุ่มที่จบปริญญาตรีเกือบทั้งหมด
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาครัฐที่ไม่ได้มีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเลยตั้งแต่ปี 40 ขณะที่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่บ่อยครั้ง ทำให้ต้องมีการรื้อโครงการลงทุนใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนของไทย
"ตอนนี้ อายนักลงทุนต่างชาติมาก เวลาที่ต้องไปชี้แจงแผนการลงทุนของไทย เพราะเขาไม่เชื่อเราแล้ว ซึ่งแต่ละโครงการมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ ตราบใดที่ยังไม่เกิดการลงทุนจริง จึงเป็นโครงสร้างที่เป็นปัญหามาก ถ้าการเมืองไม่เอื้อ" นายเอกนิติ กล่าว
อินโฟเควสท์
แบงก์เข้มปล่อยกู้หวั่นหนี้เน่า ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วงต่ำสุดรอบ 16 เดือน
แนวหน้า : แบงก์เข้มปล่อยกู้หวั่นหนี้เน่า ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯร่วงต่ำสุดรอบ 16 เดือน ภัยแล้งฉุดกำลังซื้อกระทบภาคผลิต
ผลกระทบภัยแล้งลามถึงภาคอุตสาหกรรม ผสมโรงภาวะเศรษฐกิจไทยและโลกที่ซบเซา ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯเดือนมิ.ย.ร่วงอีกต่อเนื่องเดือนที่ 6 ทำสถิติต่ำสุด16 เดือน เผยทั้ง คำสั่งซื้อ ยอดขาย กำลังผลิต กอดคอกันดิ่งเหว “บัณฑูร” ชี้หากปัญหาภัยแล้งไม่คลี่คลาย ลากจีดีพีต่ำกว่า 3% แน่ ยอมรับครึ่งปีหลังแบงก์ไม่ปล่อยกู้ง่ายๆ ลูกค้าใหม่เจอมาตรการตรวจเข้มป้องกันการใช้เงินผิดประเภท
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ว่า อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ยังคงปรับตัวลดลง เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามในหลายพื้นที่ที่กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต่างระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ดี และมีส่วนช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณก็จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนพฤษภาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการ ในเดือนมิถุนายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม รวมทั้งกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงจากในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับราคาน้ำมัน อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ส่วนกรณีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่ในแง่ของภาคเอกชนต้องการให้ข้อเสนอของภาคเอกชนได้รับการตอบรับจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใหม่หรือเก่าก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาข้อเสนอของเอกชนได้รับการตอบสนองที่ล่าช้าโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งในเรื่องของภาษีฯและการนิรโทษกรรม
“เศรษฐกิจครึ่งปีหลังก็อยู่ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะดำเนินการอะไรออกมากระตุ้นจากปัญหาภัยแล้งที่อาจคุกคามภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและจะกระทบต่อกำลังซื้อประชาชน ซึ่งข้อเสนอของเอกชนที่ผ่านมาเองได้ส่งสัญญาณทุกเดือนว่าทีมเศรษฐกิจควรจะอุดหนุนหรือดูแลราคาสินค้าให้กับภาคการเกษตรบ้างแต่ทีมเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมาในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดูแลเศรษฐกิจมหภาค(แมคโคร) ดีแล้วแต่ในระดับจุลภาค(ไมโคร)ไม่มีความชัดเจนซึ่งขณะนี้ปัญหาระดับไมโครของไทยค่อนข้างรุนแรง”นายสุพันธุ์กล่าว
ในวันเดียวกัน นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง สถานการณ์ภัยแล้งว่าเป็นปัจจัยลบสำคัญที่กระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ประเทศไทยพบกับปัญหาลบหลายด้านรุมเร้า ทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมประมง ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และปัญหามาตรฐานทางการบิน ดังนั้นหากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากกว่านี้ อาจทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่า 3% ได้ แต่ขณะนี้ยังคงมองว่า เศรษฐกิจโตได้ 3% ซึ่งถือว่า เป็นอัตราน่าพอใจ
นายบัณฑูร ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งถือว่า น่ากังวลเพราะกระทบทั้งประชาชนที่ไม่มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และเกษตรกร และคงจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ไม่ได้ผลตามที่คาดหวังไว้ แต่ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติเหมือนปี 2540 เพียงแต่เศรษฐกิจแผ่วลงและอาจจะสะดุดบ้าง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและอดทนที่จะฝ่าภาวะปัญหาในช่วงนี้ไปให้ได้ และต้องให้กำลังใจรัฐบาลในการแก้ปัญหา
ส่วนกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ นายบัณฑูร มองว่า ไม่ใช่ประเด็น เพราะมีข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ที่สำคัญคือ ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด และประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งหากภาวะค่าครองชีพดีขึ้น ก็เชื่อว่า เรื่องการประท้วงต่างๆ ก็จะลดลงในที่สุด
ส่วนการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลัง ยอมรับว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำไรของธนาคารก็คงจะเติบโตได้น้อย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อคาดว่า จะโต 6% ซึ่งธนาคารคงจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า จะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกหรือไม่ หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น โดยธนาคารได้ดูแลและประคองลูกค้าเดิม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถประคองตัว รอจนเศรษฐกิจฟื้นตัวส่วนลูกค้าใหม่คงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า สินเชื่อที่ปล่อยไปจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจได้ ส่วนภาวะอัตราดอกเบี้ย คาดว่า จะทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทอ่อนค่า และทำให้การส่งออกได้ประโยชน์มากกว่าเดิมด้วย
นายบัณฑูร กล่าวถึงปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีนที่ผ่านมาว่า มีผลกระทบต่อธนาคารทุกแห่งในจีน ซึ่งธนาคารกสิกรไทย ก็ระมัดระวัง เพราะรู้ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นธนาคารท้องถิ่นที่จดทะเบียนในประเทศจีน และรับฝากเงินหยวนได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
บัณฑูร มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเผชิญความยากลำบากมากขึ้น-ภัยแล้งซ้ำเติม
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสที่จะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หมดสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารประเทศไม่ได้จัดการไว้ให้ดีตั้งแต่อดีต เช่น การค้ามนุษย์ กฎกติกาการค้าขายระหว่างประเทศ มาตรฐานการบินที่กระทบต่อสายการบินไนประเทศ
ประกอบกับ มีปีญหาภัยแล้งเข้ามาตอกย้ำกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้คนในระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำที่ทำให้กำลังซื้อลดลงอยู่แล้ว และเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเจอกับปัญหาภัยแล้งที่ฉุดกำลังซื้อให้ลดลงไปอีก
"เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังเรายังเจอคลื่นอีกหลายลูกที่มากระทบภาพรวม แต่ก็ยังมองๆ ดูว่า GDP เราคงจะขยายตัวได้ราวๆ 3% อยู่ รวมๆ ก็ยังพอไปได้ แต่ก็ต้องดูสถานการณ์อีกที ตอนนี้ภัยแล้งก็เป็นปัญหาหนักที่เราต้องช่วยกันแก้ไข รัฐบาลก็พยายามแก้ไขกันอยู่ แต่ทุกคนก็ควรร่วมมือกัน เพราะน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ทั้งภาคเกษตร และภาคมนุษย์"นายบัณฑูร กล่าว
นายบัณฑูร กล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกลายเป็นลูกโซ่ที่กระทบไปถึงภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัว เมื่อภาคธุรกิจผลิตสินค้าและบริการออกมา แต่ไม่มีลูกค้าที่จะมาบริโภคหรือใช้บริการ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนจากความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่เผชิญกับความยากลำบาก
อินโฟเควสท์
ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.58 ที่ 84.0 จาก 85.4 ในพ.ค.
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนมิ.ย.58 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมิ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนพ.ค.58 และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย.58 ที่ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้งที่ลุกลามในหลายพื้นที่ ที่กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต่างระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าการค้าชายแดนยังขยายตัวได้ดี และมีส่วนช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณ ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนพ.ค.58 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมิ.ย.นี้ คือ เร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนการใช้งบประมาณ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพิ่มการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ พร้อมหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และช่วยเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
อินโฟเควสท์