- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 19 July 2015 18:58
- Hits: 4156
TMB Analytics คาดค้าปลีก ค้าส่งตลาดชายแดนคึกคักรับ AEC
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดชายแดน มีศักยภาพ เติบโตได้ร้อยละ 10 ต่อปีใน 3 ปีข้างหน้าจากกำลังซื้อของประชากรชายแดนและแรงหนุนภาครัฐ
ในปี 2557 การค้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่าประมาณ 229 พันล้านบาทและเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.5 ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ด้วยอานิสงส์จากกำลังซื้อในท้องถิ่นและจากประเทศเพื่อนบ้านอันได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี ตลาดเหล่านี้จึงมีความต้องการสินค้าสูง ตั้งแต่ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการผลิตในประเทศ
จากสภาพภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อกับทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งมีจุดผ่านแดนรวมกันถึง 89 แห่ง มีจำนวนคนผ่านแดนมากกว่าถึง 2 ล้านคนต่อปี โดยพรมแดนไทย-สปป.ลาว มีจุดผ่านแดนถาวรและผ่อนปรน 46 แห่ง มีเมืองสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ เวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต แขวงจำปาสัก มีจำนวนคนผ่านแดนในช่วงปี 2555-2557 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.7 ต่อปี พรมแดนไทย-เมียนมาร์ มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 27.8 ต่อปี จากจุดผ่านแดนรวม 19 แห่งที่เชื่อมต่อกับเมืองสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ เชียงตุง เมียวดี เมาะละแหม่ง และทวาย ในส่วนของพรมแดนไทย-กัมพูชา มีจุดผ่านแดนรวม 15 แห่ง มีเมืองสำคัญที่อยู่ใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ เมืองบันเตียเมียนเจย เสียมเรียบ พระตะบอง จำนวนคนผ่านแดนหดตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี เนื่องจากมีปัญหาความไม่สงบภายในประเทศในช่วงปี 2556-ก.ค.2557
นอกจากนี้ ความเจริญของเมืองที่กระจายออกไปก็เป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งกระแสการบริโภคของผู้คนในพื้นที่ติดชายแดน โดยเฉพาะการค้าที่มีลักษณะนำติดตัวไปบริโภคและการค้าด้วยเงินสดถือเป็นรูปแบบหลักที่ใช้กัน ทำให้การจับจ่ายซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่ติดชายแดนมีมูลค่าสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เห็นได้จากการเติบโตมูลค่าค้าปลีกค้าส่งในจังหวัดที่ติดชายแดนในช่วงปี 2555-2557 ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงราย หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี เลย ศรีสะะเกษ สุรินทร์ ตราด เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 9.5 ต่อปี สูงกว่ามูลค่ารวมของทั้งประเทศซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.5 เท่านั้น รวมถึงปัจจัยของนโยบายรัฐในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนอย่างเด่นชัดตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ช่วยให้เศรษฐกิจจังหว้ดเหล่านี้ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในปี 2558 ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประตูการค้าที่มีตลาดใหญ่ขึ้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่จะขยายตลาดได้มากขึ้น จากต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่าด้วยแนวโน้มระบบขนส่งโลจิสติกส์ทางรถไฟ ถนนที่จะเชื่อมโยงมากขึ้นกับภูมิภาคนี้ โดยไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในการขนส่งกระจายสินค้า ตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) ที่จะพัฒนาทั้งในแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือใต้และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนมากขึ้น ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี จึงประเมินว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งชายแดนจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
โอกาสของธุรกิจไทยจึงยังเปิดกว้างอยู่ ภายใต้พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น มีความต้องการที่หลากหลาย ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งชายแดนเองต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบการค้าสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าคุณภาพสินค้าไทยยังเป็นที่นิยม แต่จำเป็นต้องตอบโจทย์ให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติที่มุ่งสู่ตลาดนี้มากขึ้น