- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 28 June 2015 21:38
- Hits: 4402
ทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังผ่านไตรมาสแรก สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประมวลข้อมูลจากสำนักต่างๆ พบว่าในปี 2558 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2557 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 นำโดยการขยายตัวของสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดียที่จะปรับตัวดีขึ้นปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจจีน รัสเซีย และบราซิลจะชะลอตัวลง
โดยในปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.4 ในปี 2557 เนื่องจากการจ้างงานและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ 1.2 จาก 0.8 ในปี 2557 จากการบริโภคและส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงต่อเนื่องเป็นผลจากมาตรการ QE ขณะที่ปัญหากรีซคาดว่าจะมีการประนีประนอมกันมากขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 0.6 จาก 0.1 ในปี 2557 จากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นช่วยกระตุ้นการบริโภค ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.8 จาก 7.4 ในปี 2557 แม้จะขยายตัวต่ำลง แต่ยังสูงกว่าประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ
เศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวร้อยละ 4.9 จาก 4.4 ในปี 2557 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิได้รับประโยชน์ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะขยายตัวดีขึ้นปีนี้
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 4.9 เศรษฐกิจประเทศส่วนใหญ่จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ อีกทั้งเศรษฐกิจยังได้รับประโยชน์จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากชำระเงินค่าน้ำมันดิบซึ่งอยู่ในรูปของดอลลาร์ลดลง ทำให้อุปสงค์ของดอลลาร์ลดลง ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิอย่างมาเลเซียและบรูไนจะขยายตัวช้าลง
ส่วนหนึ่งเป็นผลของรายได้จากการส่งออกน้ำมันลดลง และยังส่งผลให้ค่าเงินสกุลของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลง เพราะมีอุปสงค์ของค่าเงินตัวเองลดลงจากการขายน้ำมันที่ได้มูลค่าน้อยลง
สำหรับการประมาณการของภาครัฐในปี 2558 ยังให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2557 โดยหวังพึ่งพิงการเบิกจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวไทย แต่ข้อมูลในไตรมาสแรกแสดงให้เห็นว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนยังล่าช้า ส่วนการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในระดับปรกติ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนอาจช่วยได้บ้างจากแรงสนับสนุนของราคาน้ำมันที่ถูก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว
ที่น่าเป็นห่วงคือการประมาณการที่ให้ส่งออกขยายตัวค่อนข้างสูงในขณะที่ข้อมูลใน 2 เดือนแรกยังหดตัว ซึ่งหากเกิดการขาดความสามารถในการผลิตเพื่อส่งออก ปัญหาน่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558(ต.ค.-มี.ค.58) รัฐบาลได้เบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 50.8 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,309,283 ล้านบาท เป็นการเบิกรายจ่ายประจำไปแล้วร้อยละ 56.2 ของวงเงินรายจ่ายประจำ และร้อยละ 25.3 ของวงเงินรายจ่ายลงทุน คาดว่าถ้าเร่งใช้จ่ายได้ทันในปีนี้จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 1,265,717 โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ถ้าเบิกจ่ายได้เร็วจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนที่รอความชัดเจน
ในปี 2557 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 24.8 ล้านคน หดตัวร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,147 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.9 คิดเป็นขนาดร้อยละ 9.5 ของ GDP นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดยังคงเป็นจีน มาเลเซีย และรัสเซีย
ในเดือนแรกปี 2558 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ โดยขยายตัวร้อยละ 57.0 ขณะที่นักท่องเที่ยวรัฐเซียหดตัวร้อยละ 46.0 คาดว่าทั้งปี การท่องเที่ยวไทยน่าจะขยายตัวได้ในระดับเดียวกับปี 56 ประมาณร้อยละ 19
การส่งออก ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2558 หดตัวร้อยละ 4.8 โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 หดตัวร้อยละ 9.6 และ 4.9 ตามลำดับ ขณะที่ส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงอย่างจีนก็หดตัวถึงร้อยละ 17.4 มีเพียงตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย และอินโดจีนที่ยังขยายตัวได้ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวร้อยละ 0.8 ปีนี้ (ประมาณการเมื่อ มี.ค.58)
การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับมาขยายตัวครั้งแรกในเดือน ก.พ.58 หลังจากหดตัวติดต่อกันถึง 22 เดือนหรือนับตั้งแต่ เม.ย.56 ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่แค่เรื่องของกำลังซื้อที่หดหายไป แต่ยังเป็นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันที่หายไปด้วยโดย มีเหตุผล 3 ประการ คือ 1.น้ำท่วมในปี 2554 ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องระวังการขยายการผลิตมากขึ้น 2.การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555-56 ทำให้ค่าแรงโดยรวมถูกปรับขึ้นไปสูง โดยผลิตภาพแรงงานเพิ่มตามไม่ทัน 3.นโยบายจำนำข้าวทำให้แรงงานย้ายจากภาคผลิตไปเกษตรมากขึ้น ทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหนักขึ้น แต่ที่เป็นปัญหาเรื้อรังที่จะมีผลในระยะยาวยังคงเป็น การขาดแคลนคนวัยทำงานและการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่ำ และมีการย้ายฐานการผลิตของโรงงานไปในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว1
ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คือ เรื่องของราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงไตรมาสแรกปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 48.6 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล EIA คาดว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้และทั้งปีจะอยู่ที่ 52.5 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลก
หมายเหตุ : ดร. สันติธาร เสถียรไทย จากบทความ “วิกฤตอุตสาหกรรมไทย ภัยซ้อนเร้นที่ถูกมองข้าม” เขียนไว้ในประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มายาการเงิน 9เม.ย.58
โดย CP Group / วันที่โพสต์ 20 เม.ย. 2558 โดย สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์