WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2558 จะขยายตัวดีขึ้น ผลพวงจากราคาน้ำมันลดลง ทำให้เศรษฐกิจผู้นำเข้าน้ำมันขยายตัวสูงขึ้น

Bank2     ในปี 2558 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ปรับดีขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัว 3.3 (IMF ประมาณการ ณ ต.ค.57) นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน จีน และญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ลดลงหากยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง น่าจะเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประมาณร้อยละ 0.3-0.7 ผ่านการลดลงของราคาน้ำมันซึ่งเสมือนเป็นการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะจะเป็นการสร้างกำลังซื้อในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน  และจะมีบางส่วนกระทบรายได้ของผู้ส่งออกน้ำมันให้ลดลง ในขณะที่ตลาดทุนมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นหลังช่วงกลางปี 58 ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากประเทศอื่นๆ กลับสู่สหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

      หากพิจารณาเศรษฐกิจแต่ละประเทศ จะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและราคาน้ำมันที่ถูกลงซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน  ส่วนนโยบายด้านการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund rate) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงจากราคาน้ำมันที่ถูกลง รวมทั้งความเสี่ยงด้านภาคการผลิตที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากการผลิตน้ำมัน Shale Oil ลดลง

       เศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ถูกลงและค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำและอัตราการว่างงานสูงยังคงเป็นปัญหาสำคัญของยูโรโซน คาดว่าธนาคารกลางของยุโรป (ECB) จะออกมาตรการ QE เพิ่มเติม โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศต่างๆ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว หลังจากได้มีการประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีการบริโภคครั้งที่ 2 เป็นร้อยละ 10 ในเดือน ต.ค. 58 เป็น เม.ย. 60 และการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลูกศรดอกที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ จากปัจจุบันร้อยละ 34.6 เป็น 32.1 มีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.58 และลดเป็น 31.3 ใน 1 เม.ย.59 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของญี่ปุ่นในวงกว้าง ทำให้บริษัทญี่ปุ่นมีแรงจูงใจขยายการลงทุน รวมทั้งดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ประเด็นที่น่าจับตามองอีกเรื่อง คือ หลังจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (LTD) ของนายกอาเบะได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 57 นายกอาเบะได้ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญในมาตราที่จำกัดอำนาจทางทหารของญี่ปุ่น ซึ่งได้ห้ามญี่ปุ่นใช้กำลังทางทหารแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ ห้ามญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม และการเคลื่อนไหวทางทหารอย่างจำกัด ซึ่งได้ตราขึ้นหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้ามีการแก้ไขสำเร็จจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะกับจีน

      เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงต่อเนื่อง คาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อผลักดันให้ขยายตัวได้ตามระดับเป้าหมายประมาณร้อยละ 7 เศรษฐกิจอาเซียนจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก แต่มีความเสี่ยงของการไหลออกของเงินทุน เศรษฐกิจหลักอย่าง ASEAN 5 เติบโตช้าลงกว่าในอดีต การขยายตัวของอาเซียนในปัจจุบันจึงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวสูง ซึ่งสามารถขยายตัวเฉลี่ยได้สูงกว่าร้อยละ 7.0 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 53-57) และคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่สูงต่อไปในอนาคต

       สำหรับ ประเทศไทย ในปี 2558 เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นโดยจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.6 โดยคาดหวังว่า แรงสนับสนุนสำคัญจะมาจากการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่จะปรับตัวดีขึ้นมากในปีนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เต็มที่เพราะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า แม้จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องจำกัดกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัด ขณะที่การส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นตัวเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น และยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวช้า บวกกับศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

      ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถรองรับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ได้เพราะไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศที่ 158.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นลำดับที่ 14 ของโลก

      อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาราคาน้ำมันโลก เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่าง OPEC ไม่ได้ปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อดึงราคาขึ้นเหมือนแต่ก่อน เพราะต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยหวังว่าระดับราคาน้ำมันที่ต่ำจะลดแรงจูงใจในการผลิต Shale Oil และผู้มีต้นทุนสูงต้องออกจากตลาด ดังนั้นเราจะได้เห็นราคาน้ำมันที่ต่ำไปอีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น  IMF คาดว่า ในปี 58 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลง ร้อยละ 0.3-0.7 เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3-0.7 โดยจีนจะได้รับประโยชน์สูงสุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4-0.7 สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2-0.5, 0.1-0.4 และ 0.3-0.5 ตามลำดับขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะขยายตัวลดลงร้อยละ 0.1

โดย CP Group / วันที่โพสต์ 19 ม.ค. 2558 โดย สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!