- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 18 June 2014 22:05
- Hits: 3703
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองไทยใกล้สิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ...เตือนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้นปลายปีนี้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2557 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั้น สำนักวิจัยฯมองว่า ภายหลังจากที่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มทำให้นโยบายทางการคลังสามารถกลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ดังนั้นนโยบายทางการเงินจึงไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายลงไปอีกเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรหันกลับไปทำหน้าที่หลักด้วยการดูแลเสถียรภาพราคาและค่าเงินอีกทั้งความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนก็มีท่าทีจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น อันจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคบริการเป็นอย่างดี
“ด้วยปัจจัยด้านนโยบายการคลังที่เริ่มเร่งตัว และความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อันจะเป็นเหตุให้ทางกนง.ต้องหันมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพ สำนักวิจัยฯคาดว่ากนง. อาจเริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นได้รอบแรกในเดือนธันวาคมนี้ และจะทยอยปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ดังนั้น ภาคธุรกิจควรเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้น และสภาพคล่องที่จะตึงตัวได้ ” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ครัวเรือนที่มีหนี้สูงควรระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหากแนวโน้มรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเติบโตได้ไม่มากนัก ในส่วนของการลงทุนซื้อบ้าน ช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีที่ผู้ประกอบการมีการแข่งขันกันมาก อันเป็นผลให้ราคาอยู่ในระดับไม่สูงขึ้นนัก สำหรับผู้ฝากเงิน ช่วงนี้อาจเลือกการฝากประเภทคงดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นในอนาคต
ในขณะที่ภาคธุรกิจที่คาดว่าจะเร่งการลงทุนในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการเงิน ทั้งจากสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เองที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้น และจากต้นทุนการเงินหรือดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้น ดังนั้น ธุรกิจเองจึงควรหาทางระดมทุนแต่เนิ่นๆ และเลือกที่จะกู้เงินประเภทคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระยะยาว นอกจากนี้ ธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกแม้จะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่ควรมีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินไว้บ้าง อีกทั้งธุรกิจที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงก็ควรดูแลเรื่องความเสี่ยงจากค่าเงินไว้ด้วย
นอกจากนี้ สำนักวิจัยฯเชื่อมั่นว่าทางคณะกรรมการของธปท. จะสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านเพื่อมาแทนกรรมการที่จะหมดวาระลงในช่วงปลายปีด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง อันเป็นคุณสมบัติของธปท. ที่นักลงทุนและประชาชนทั่วไปให้ความเชื่อมั่นด้วยดีมาตลอด
นายอมรเทพ กล่าวเสริมว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางเร่งตัวสูงขึ้น นอกจากจะเป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัวและผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว เงินบาทเองก็มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะเกิดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อีกครั้งในช่วงปลายปี หลังสิ้นสุดมาตรการ QE โดยคำถามหลังสิ้นสุดมาตรการ QE คือ สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่?
นักลงทุนจะไม่รอให้สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงโยกเงินกลับประเทศ แต่จะเริ่มทยอยย้ายเงินออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปถือสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้นในช่วงปลายปี อันจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในที่สุด โดยสำนักวิจัยคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้
เมื่อค่าเงินอ่อนค่า ประกอบกับกระแสเงินไหลออกอันส่งผลเสียต่อเสถียรภาพตลาดเงิน สิ่งที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ทำคือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลออก และลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ซึ่งหากดูไปรอบๆ อาเซียนจะเห็นว่าทุกประเทศพร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากมีความพร้อมจากอุปสงค์ในประเทศที่มีความเข้มแข็ง ต่างจากประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังจากมีปัญหาทางการเมือง แต่สำนักวิจัยคาดว่าทางกนง. จะเลือกที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน