- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Friday, 17 April 2015 22:32
- Hits: 2335
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ 801 ตัวอย่างในภาคเกษตร ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการผลิต ต่อสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2558 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นว่าผลการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเฉลี่ยลดลง 11.93% ยอดคำสั่งซื้อลดลง 8.74% และรายได้จากการส่งออก (เฉพาะผู้ส่งออก) ลดลง 12.02% แต่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 9.27% เนื่องจากยังประสบปัญหาสภาพคล่อง การเงิน และการตลาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาด้านภาษีและด้านเทคนิคทางการผลิตสินค้า แต่ยังเชื่อว่าธุรกิจของตนเองจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ไตรมาส 3
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนไตรมาส 4 โดยคาดว่า จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.5 - 3% ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และช่วยเหลือภาคการส่งออก รวมทั้งช่วยเหลือภาคการเกษตรด้านราคา เพื่อให้ประชาชนฐานรากกลับมามีกำลังซื้อ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว ทำให้ผลการประเมินการทำงานภาพรวมของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ คะแนนยังไม่เกินครึ่ง โดยด้านสังคมได้ 4.8 คะแนน และด้านเศรษฐกิจ 4.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 มีเพียงการแก้ปัญหาด้านการเมืองที่เกินครึ่งได้ 5.2 คะแนน
นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังประเมิน 10 ธุรกิจดาวเด่น และ 10 ธุรกิจดาวร่วง ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 พบว่า ธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สุขภาพและความงาม เนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพยังมีต่อเนื่อง และบริการทางการแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับและราคาไม่แพงในสายตาต่างชาติ รองลงมาเป็นธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจสื่อออนไลน์
ขณะที่ 10 ธุรกิจดาวร่วง อันดับแรกเป็นธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และอุปกรณ์และชิ้นส่วนของไทยมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน รองลงมาเป็นธุรกิจขายปลีก ธุรกิจแปรรูปยางพารา ธุรกิจขายรถมือ 1 และมือ 2 ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจติดตั้งแก๊สแอลพีจี ธุรกิจปั๊มแอลพีจี ธุรกิจสายการบินเช่าเหมาลำ ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลตัวเลขจากทางการ และสอบถามจากหอการค้าทั่วประเทศ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน แต่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าไตรมาสแรกการท่องเที่ยวเติบโตค่อนข้างดี โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 15%จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย และในช่วงที่เหลือของปี 2558 คาดว่าภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทย แต่หลังจากที่ผ่านไตรมาสแรกปี 2558 ทางหอการค้าไทยได้ทำการทบทวนการประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ซ้ำใหม่อีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัว 3.2% ลดลงจากเดิมที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะขยายตัว 3.5 - 4% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐล่าช้ากว่าที่คาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งออกขยายตัวดีขึ้นได้ รวมทั้งรัฐบาลยังต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 0.4% หรืออยู่ในช่วง 0 - 1%ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.5% หรืออยู่ในช่วง 03 - 0.8%
นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ตัวเลขที่หอการค้าไทยประเมินจะเป็นทิศทางดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณทุกโครงการให้เห็นเป็นรูปธรรม การดูแลภาคการส่งออก โดยจะต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่แนวโน้มอ่อนค่าลงในปัจจุบัน ยอมรับหากส่งออกผลักดันให้เกิน 19,300 ลานดอลลาร์สหรัฐ จะกระตุ้นทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เกินกว่าเป้าหมายที่หอฯ ประเมินใหม่ครั้งนี้