- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 25 March 2015 23:05
- Hits: 2467
เอดีบี หั่นเป้าศก.ไทยเหลือแค่โต 3.6%-หวังลงทุนภาครัฐพยุง
แนวหน้า : เอดีบี หั่นเป้าศก.ไทยเหลือแค่โต 3.6%-หวังลงทุนภาครัฐพยุง ส่งออกดิ่งกดจีดีพีวูบ
เอดีบี เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า หลังการเมืองนิ่ง ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่จีดีพีปีนี้ ยังขยายตัวได้ต่ำ ลดเป้าเหลือแค่ 3.6% เหตุส่งออกร่วงหนัก ทั้งปีขยายตัวแค่ 1-2% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ขณะที่การบริโภค 1-2 เดือนแรก ยังไม่ฟื้น หวังเบิกจ่ายลงทุนภาครัฐ โครงการก่อสร้างถนน เมกะโปรเจกท์ ช่วยเศรษฐกิจฟื้น
นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แถลงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ มาจากการเมืองมีเสถียรภาพ การลงทุนภาครัฐ และราคาน้ำมันที่ปรับลง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย คาดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2558 อยู่ที่ 3.6% ปรับลดจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าโต 3.9% และคาดการณ์ว่าปี 2559 จะมีการขยายตัว 4.1% ซึ่งการประมาณการครั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ามีการเลือกตั้งต้นปี 2559 และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ดี
สำหรับ สาเหตุที่ปรับจีดีพีลดลง เนื่องจากการส่งออกขยายตัวน้อยเพียง 1-2% จากเดิมคาดว่าโต 3-4% โดยสินค้าเกษตรยังอ่อนแอ แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมดีขึ้น โดยต้องติดตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้า ส่วนปี 2559 คาดว่าส่งออกจะดีขึ้นโต 3.5-4% นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีหนี้ครัวเรือนสูง โดยคาดการบริโภคภาคเอกชนโต 2.5% แต่เชื่อว่านโยบายนาโนไฟแนนซ์จะช่วยผู้มีรายได้ต่ำเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น การจับจ่ายจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อปีนี้ต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ตามราคาน้ำมันที่ต่ำ
นางลัษมณกล่าวอีกว่า ปัจจัยหลักขับเคลื่อนปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐจะกลับมาขยายตัว หลังจากหดตัวปีที่แล้วขยายตัว 7.5% โดยจะเร่งตัวขึ้นปีนี้จากการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และโครงการขนาดเล็ก เช่น การก่อสร้างถนน ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะเริ่มเห็นเม็ดเงินปีหน้าส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามโครงการลงทุนของภาครัฐ และได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันต่ำและการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ การที่รัฐบาลพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่งตามแนวชายแดน จะช่วยสงเสริมให้เอกชนลงทุน คาดการลงทุนภาคเอกชนโต 3.5%
ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2558 ดีขึ้น โดยเบิกจ่ายไปแล้ว 42.6% และปีงบประมาณ 2559 กำหนดการขาดดุลไว้มากขึ้น เป็น 390,000 ล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายและดำเนินโครงการตามแผนหรือไม่ รัฐบาลตั้งเป้าเบิกจ่ายงบได้มากกว่า 90% และปัจจัยการเมืองยังคงมีความเสี่ยงบ้าง ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ความเสี่ยงเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนจากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัญหาการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานต่างๆได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมายอมรับว่าการส่งออกจะขยายตัวไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทำให้ล่าสุดเอดีบีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิม 4% ต่อปี เหลือ 3.6% ต่อปี
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจาก 4% ต่อปี เหลือ 3.8% ต่อปี เพราะคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ 0.8% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับของ สศค. ที่ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.9% ต่อปี โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1.4% ต่อปี ซึ่งจะมีการปรับลดเป้าการส่งออกลงอีกหรือไม่ยังต้องตามภาวะเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง
นายกฤษฎา กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยจาก 4% ต่อปี เหลือ 2.8% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการส่งออกของไทยแย่มาก โดยในไตรมาสแรกจะติดลบ 3.9% และทั้งปีไม่ขยายตัวเลย จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ต่อปี
“เศรษฐกิจไทยที่ลดลงตอนนี้ มาจากปัญหาเรื่องการส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่านี้ แต่ได้การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐ การเร่งการลงทุน และการบริโภคที่ยังฟื้นตัวได้ดี ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ส่วนหนึ่ง” นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย จะเสนอเรื่องการดำเนินการเพิ่มเงินให้กองทุนหมู่บ้านให้ ครม. รับทราบ โดยจะมีการเร่งเงินเพิ่มทุนของกองทุนหมู่บ้านที่ยังค้างอยู่ 2.5 หมื่นล้านบาท ให้ได้ทุกแห่ง และจะมีการเพิ่มเงินให้กับกองทุนหมู่บ้านอีก 4 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทุนที่ดำเนินงานดี โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้แห่งละ 2 หมื่นล้านบาท จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้มาก