- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 25 March 2015 23:04
- Hits: 2558
เอชเอสบีซี ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 3.6% จาก 4% แต่ไม่ห่วงเงินฝืด มั่นใจสิ้นปีเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่เหนือ 1%
เอชเอสบีซี ประเมินศก.ไทยยังโตช้าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจาก 4% เหลือ 3.6% และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงเหลือ 0 %จากเดิม 0.5% แต่ไม่กังวลภาวะเงินฝืดมั่นใจเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1% ในช่วงสิ้นปี และจะสูงกว่า 2% ในปี 59 เมื่อผลกระทบจากราคาพลังงานลดน้อยลง
นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ในรายงาน Global Economics Quarterly และ Asian Economics Quarterly ฉบับไตรมาสที่ 2 ปี 2558) ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งพอจะเป็นปัจจัยบวกแก่เศรษฐกิจไทยได้บ้าง แต่ภาคอื่น ๆ ของเศรษฐกิจยังคงมีภาพรวมไม่สดใส จริงอยู่ที่รายจ่ายด้านการนำเข้าน้ำมันที่ลดลงช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4/57 โดยทำให้การส่งออกสุทธิปรับตัวดีขึ้น และมีแนวโน้มจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหักล้างผลกระทบของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว
การเติบโตของภาคส่งออกยังมีความเสี่ยงขาลงอันเป็นผลจากปัจจัยท้าทายจากภายนอก ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศยังคงซบเซา เนื่องจากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่การเร่งเบิกจ่ายด้านการลงทุนภาครัฐยังไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้าง นอกจากภาคท่องเที่ยวแล้ว การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงงานในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม เราได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ลงจากร้อยละ 4.0 เหลือร้อยละ 3.6 และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงเหลือร้อยละ 0 จากเดิมร้อยละ 0.5 เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวที่เชื่องช้าของอุปสงค์ภายในประเทศ และการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม เรายังไม่กังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดขณะนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีความเป็นไปได้ที่จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับร้อยละ 1.0 ในช่วงสิ้นปี 2558 และจะสูงกว่าร้อยละ 2.0 ในปี 2559 เมื่อผลกระทบจากการลดลงของราคาพลังงานลดน้อยลง ทั้งนี้ แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 2.0 เหลือร้อยละ 1.75 ในเดือนมีนาคม เพื่อลดความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตเศรษฐกิจและเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นภาคเอกชน แต่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับระดับการเติบโตระยะยาวที่ร้อยละ 4-5 นั้นยากกว่าที่คาดไว้แต่แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปล่อยสินเชื่อยังคงชะลอตัว
อนึ่ง การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ไม่เข้าเป้า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 การขาดดุลการคลังสูงขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของจีดีพี
การที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างช้า ๆ และมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ต่ำ เราจึงคาดว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ไปจนกระทั่งถึงต้นปี 2559 จากเดิมที่คาดว่ามีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี หากว่าเฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนปีนี้
โดยความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่ต่อไปสักระยะหนึ่ง ตราบเท่าที่ “เครื่องยนต์ใหญ่” ของเศรษฐกิจไทยทั้ง 2 ได้แก่ การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนสามารถช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงได้ถ้าหากมีการขับเคลื่อนให้การลงทุนเกิดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 4.5 ในช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ของประเทศคู่ค้า โดยอ้างอิงจากดัชนีค่าเงินของธปท. การแข็งค่าของเงินบาทซึ่งส่งผลให้การส่งออกอ่อนแอ ทำให้ธปท.มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากภาคเอกชนในการดูแลการแข็งค่าขึ้นอีกของเงินบาท แต่จากความเห็นของธปท.ล่าสุด พบว่า ทางการจะยังคงมีท่าทีในการเข้าแทรกแซงค่าเงินที่จำกัด โดยจะยังคงเน้นในเรื่องการควบคุมความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มากเกินไปเป็นหลัก
ในแง่มุมเศรษฐกิจอื่นๆ จะเห็นว่ามีการมุ่งเน้นด้านการปฏิรูปมากขึ้นกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะทางการตระหนักว่าปัญหาระยะยาว อย่างเช่น การขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ และความมั่นคงด้านพลังงาน ฯลฯ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้ มาตรการใหม่ ๆหลายเรื่องยังอยู่ในขั้นของการผลักดัน หรือถกเถียงกันอยู่ ในระยะสั้น เราจึงคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะช้ากว่าที่เคยคาดไว้ เนื่องจากทรัพยากรหลายอย่าง(เช่น บุคลากรและเวลา เป็นต้น) จะถูกนำไปใช้สำหรับการปฏิรูปด้วย นอกจากนี้ การปฏิรูปยังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน เช่น การลดขั้นตอนการปฏิบัติภาครัฐ และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและภาคธุรกิจให้ทันสมัย ฯลฯ อย่างไรก็ดี หากการปฏิรูปสำเร็จลุล่วงด้วยดี อาจจะช่วยยกระดับภาพรวมเศรษฐกิจได้ในระยะกลาง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย