- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 08 March 2015 13:36
- Hits: 2515
ดัชนี เชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME วูบต่อ ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยเงินบาทอ่อน
แนวหน้า : ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME วูบต่อ คลังงัดแพ็กเกจดอกเบี้ยต่ำอุ้ม
รัฐบาลเตรียมออกมาตรการสนับสนุน 'เอสเอ็มอี' ในลักษณะแพ็กเกจ เน้นการลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย “สมหมาย”วาง 6 มาตรการช่วย “สสว.” แถลงดัชนีความเชื่อมั่นพบลดลง แม้น้ำมัน ค่าครองชีพ การลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงการท่องเที่ยวปรับตัวจะดีขึ้นก็ตาม
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ร่วมสัมมนา AEC BUSINESS FORUM ที่จัดขึ้นโดย ธนาคารกรุงเทพ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) แบบเป็นแพ็กเกจใหม่ ลดต้นทุน เนื่องจากที่ผ่านมามองว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงถึง ร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่า ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยเพียง ร้อยละ 3 เท่านั้น
สำหรับ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) นั้น ไทยควรใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว ให้ได้อย่างสูงสุดในเชิงปฏิบัติ โดยไทยต้องมีการปรับตัว เช่น การเมืองต้องมีเสถียรภาพ แต่หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพก็ไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ได้กำหนดขอบเขตของการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีไว้ 6 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) 2.บสย.เข้าช่วยค้ำประกัน 3.รัฐบาลยกเว้นภาษีให้เอสเอ็มอีสำหรับกำไรไม่เกิน 3 แสนบาท
4.การจัดตั้งกองทุนระหว่างรัฐและเอกชนสำหรับเอสเอ็มอี (SMEs Private Equity Trust Fund) ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขนาดกองทุน 1-2.5 หมื่นล้านบาท ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ คาดว่า 2 เดือนจากนี้จะเห็นผลที่ชัดเจน 5.ให้สมาคมจัดการบัญชี ไปจัดทำโปรแกรมบัญชี เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีในการกรอกข้อมูลบัญชีและภาษี เนื่องจากพบว่าสาเหตุที่เอสเอ็มอีเลี่ยงภาษี เพราะไม่มีความรู้ทางบัญชีด้วยส่วนหนึ่ง
6.หามาตรการให้เข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบว่าในเอสเอ็มอี 2.75 ล้านราย มี 80% ที่มีบัญชี 2 เล่ม ซึ่งมาตรการที่ออกมาต้องเป็นมาตรการที่ผ่อนปรน เช่น กรมสรรพากร จะต้องออกมาตรการอภัยโทษเอสเอ็มอี ที่เข้าโครงการนี้ไม่เข้าสอบบัญชีย้อนหลัง และเปิดให้เอสเอ็มอีได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ
ในวันเดียวกัน น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการเดือนม.ค. 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธ.ค. 2557 พบว่า ดัชนีฯ รวมภาคการค้าและบริการลดลงอยู่ที่ 48.9 จากระดับ 53.6
สำหรับ สาเหตุสำคัญที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง มีผลมาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง หลังจากกระตุ้นไปมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่ปรับตัวลดลง อาทิ การลงทุนภาคเอกชน การอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม การส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงราคาพืชผลการเกษตร
อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมยังมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจากระดับราคาขายปลีกน้ำมันทั้งเบนซิน 95 และดีเซล ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 3.10 และ 1.80 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเดือนม.ค. 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว 2.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้น 84.08 จุด อยู่ที่ระดับ 1,581.25 จุด ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2558 ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจัยต่างๆ จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจให้ดีขึ้น
ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยเงินบาทอ่อน รัฐบาลปรับกลยุทธ์ให้เอเอ็มอีแข่งขันได้กระตุ้น ศก.
บ้านเมือง : รัฐเตรียมออกมาตรการสนับสนุนเอสเอ็มอี ในลักษณะแพ็กเกจ เน้นการลดต้นทุนด้านดอกเบี้ย พร้อมกระตุ้นเตรียมรับมือ AEC กลุ่มเอสเอ็มอีรวมตัวกันตั้งสภาเอสเอ็มอี คาดสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะออก พ.ร.บ.รองรับการจัดตั้งสภาเอสเอ็มอีในเร็วๆ นี้ ด้าน "กอบศักดิ์" มองการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อน และยังไม่มีความจำเป็น
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา AEC BUSINESS FORUM ที่จัดขึ้นโดยธนาคารกรุงเทพว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี แบบเป็นแพ็กเกจใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมามองว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงถึง ร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่า ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไทยควรใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ให้ได้อย่างสูงสุดในเชิงปฏิบัติ โดยไทยต้องมีการปรับตัวใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเมืองต้องมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า เพื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่สามารถดำเนินไปได้ด้วยตนเอง เพราะแม้ว่าไทยมีจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ที่ดี ที่จะเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน แต่หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพก็ไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ การเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย จะมีการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ เชื่อว่า สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น
2.แก้ไขจุดอ่อนในแต่ละด้านของประเทศ พัฒนาดัชนีชี้วัดความสามารถทางการแข่งขัน ประชุมร่วมกับภาคเอกชน โดยให้สภาพัฒน์เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน 3.ปรับความคิดให้นอกกรอบ ใช้โอกาสทางการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้จริงจัง ทั้งการค้าแบบโมเดิร์นเทรด ระบบคัสเตอร์สินค้าไทยเทรดในแต่ละจังหวัด และการเอื้ออำนวยทางด้านภาษี ซึ่งจะให้ต่างชาติหันเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 4.เชื่อมโยงศูนย์กลางคอนเน็ค ทิวิตี้ ด้วยระบบขนส่งและเส้นทางคมนาคม ให้เกิดการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง เชื่อมต่อท่าเรือ สนามบิน และปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้รองรับกับการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และ 5.การใช้โอกาสจากนโยบายต่างประเทศที่เป็นจุดแข็งของไทย เช่น ศูนย์กลาง GMS ASIAN+6 ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติได้
นายสุขุม เลาวัณย์ศิริ ประธานคณะภาคีก่อตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับเลือกจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและผลักดันให้ภารกิจการจัดตั้ง สภาเอสเอ็มอีไทย ซึ่งจะทุ่มเทและมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพ หาลู่ทางและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทย สามารถพัฒนากิจการ เข้าถึงแหล่งเงินทุน มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยได้รับการส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและสภาเอสเอ็มอีฯ ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งได้อย่างเหมาะสมกับครรลองอันควร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเข้มแข็งต่อไป
สำหรับ การจัดตั้งสภาเอสเอ็มอีไทยนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยล่าสุด คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้พิจาณากรอบความคิดของคณะอนุกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 และมีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมาธิการเสนอ โดยให้นำกรอบความคิดการปฏิรูปการสร้างสังคมผู้ประกอบการฯ เสนอประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาต่อไป
นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เงินบาทอ่อนค่าว่า การดำเนินการเช่นนั้นไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ประชาชนไม่มีการบริโภค เนื่องจากมีภาระหนี้สินมาก และเกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลง ทำให้รายจ่ายของภาคเกษตรกรและประชาชนหายไป ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงจาก 1 ล้านล้านบาท/ปี เหลือเพียง 5 แสนล้านบาทต่อปี หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงมากถึง 50% ส่งผลให้มีเงินสำรองในระบบค่อนข้างมาก ส่วนการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจนั้น ก็เพื่อรอความชัดเจนภาครัฐเกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด
"มองการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้บาทอ่อน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เยอะอยู่ แล้วการที่เงินบาทแข็งค่าก็เกิดจากมูลค่านำเข้าน้ำมันลดลง ทำให้มีเงินสำรองเหลือในระบบมากขึ้น ประกอบกับดอกเบี้ยในขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว มองว่าลดดอกเบี้ยไม่มีความจำเป็น" นายกอบศักดิ์ กล่าว