WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:30 น.  ข่าวสดออนไลน์

จับชีพจรส่งออกไทยปี 58 เดือนแรกติดลบ-เร่งปรับทัพ

      เป็นสิ่งที่ท้าทายตั้งแต่ต้นปี เมื่อการส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 คือในปี 2556 ติดลบ 0.32% ด้วยมูลค่า 228,504.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2557 หดตัว 0.41% มูลค่า 227,574 ล้านเหรียญสหรัฐ

     ในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ปลายปีที่แล้วจึงประกาศว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจะยังขยายตัวได้ที่ 4%

      แต่ทันทีที่ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค.2558 ออกมา แทบหงายท้องกันเป็นแถว เพราะติดลบ 3.46% มูลค่า 17,249 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!!!

      การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 13%

 ยางพาราลดลง 40.6% ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง ตามความต้องการที่ลดลงโดยเฉพาะจากจีน

 ข้าวมูลค่าลดลง 13% อยู่ที่ 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับปริมาณ ลดลง 12.6% อยู่ที่ 6.08 แสนตัน ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง มูลค่าลดลง 12.1% ปริมาณลดลง 19.2% อย่างไรก็ตาม

 แต่ยังดีที่สินค้าอุตสาหกรรม ส่งออกเพิ่มขึ้น 0.6% สินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 21.2% เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 9.9% รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 40.9%

 ขณะที่ตลาดส่งออกสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.0% ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ลดลง 7.5% สหภาพยุโรป ลดลง 5.0% ตลาดอาเซียน ลดลง 0.7% ตลาดจีน ลดลง 19.7% เกาหลีใต้ ลดลง 14.7% ตะวันออกกลาง ลดลง 8.3% แอฟริกา ลดลง 19.5% และกลุ่มรัสเซีย ลดลง 35.6%

 ก่อนที่ตัวเลขยอดส่งออกเดือนแรกของปีจะออกมา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วิเคราะห์ว่าแนวโน้มการส่งออกปี 2558 ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจากขยายตัว 3.8% เหลือ 3.5% จากการชะลอตัวในประเทศเศรษฐกิจสำคัญอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น

 แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจะกลายเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดีย และอาเซียนบวก 5

 รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานปรับตัวลดลงเป็นแรงกระตุ้นให้นำเข้าสินค้า ทุนเพื่อนำไปผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น

 แนวโน้มตลาดส่งออกสำคัญ อย่างสหรัฐ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากการบริโภคของภาคเอกชน และอัตราการว่างงานที่ลดลง เป็นปัจจัยบวกของภาคการส่งออกไทย

 ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) เศรษฐกิจเริ่มฟื้นอย่างช้าๆ แต่ยังเปราะบาง ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำให้เงินยูโรอ่อนค่า และสกุลเงินของประเทศในเอเชียและค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณี และเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป และแผงวงจรไฟฟ้า

 ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกไทยไปอียูคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

 ส่วนจีน เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงลงโดยอาจไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ที่ 7.5% จากความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้จีนชะลอการนำเข้าลดลง

 ขณะที่ญี่ปุ่น เศรษฐกิจพื้นตัวมาอยู่ในระดับที่ปกติหลังจากที่ชะลอตัวชั่วคราวจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

 และ อาเซียน การส่งออกไปอาเซียนชะลอตัวลงเล็กน้อยจากแรงฉุดของการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ที่มีราคาลดลง แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากความต้องการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง

 ส่วนมาตรการทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของปี 2558 เริ่มจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้สินค้าที่ออกไปอียูต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ซึ่งส่วนมากต้องจ่ายเพิ่มอีก 3% และยังมีมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป

 อย่างไรก็ตามพบว่า ในปี 2558 มีสัญญาณการฟื้นตัวที่คาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ สำคัญ และประเทศที่กำลังพัฒนา อย่างอินเดีย ที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน

 แอฟริกา ที่เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวดีจากการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เหมืองแร่ และการขนส่งและโทรคมนาคม ทำให้การส่งออกขั้นกลางและข้าวจากไทยขยายตัวดี

 รัสเซีย และ CIS (ประเทศที่แยกตัวออกจากรัสเซีย) เศรษฐกิจขยายตัวและมาตรการตอบโต้การคว่ำบาตรที่ระงับการนำเข้าสินค้าจากโลก ตะวันตก ทั้งที่รัสเซียไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายใน ประเทศ ทำให้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้น คือ ไก่ กุ้ง ผัก และผลไม้

 นอกจากนี้ยังพบว่า สินค้าที่มีความเสี่ยงส่งออกลดลงก็คือสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เพราะสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยางพารา น้ำตาล และปาล์มน้ำมัน

 รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่อง จากการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศอาเซียนเกิดใหม่ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดไปบางส่วน

 ขณะที่อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากความต้องการใช้ในจีนที่ต้องการยก ระดับอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 รวมทั้งความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา เครื่องจักรกล ก็มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเกิดใหม่และ แอฟริกา

 เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย 4% กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งดำเนินการแผนผลักดันการส่งออกเร่งด่วน ด้วยการเร่งเปิดตลาดใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออกไปยัง ตลาดหลักอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อียู ซึ่งมีข้อจำกัดและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

 โดยให้เน้นส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น คือ อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา แอฟริกา รัสเซีย และ CIS 

 ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะที่มีศักยภาพเพื่อให้สินค้าแบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก 

 ส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอ นิกส์ ผ่านตลาดกลางการซื้อขายออนไลน์ Thaitrade.com เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มผู้นำเข้า/ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และประหยัดค่าใช้จ่าย

 เร่งช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อย ที่เป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยถึง 90%

 นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ส่งผลชัดเจนในขณะนี้ คือการส่งออกสินค้าประเภทเสื้อผ้า อาหารสำเร็จรูป สินค้าแช่เยือกแข็ง รถยนต์ ไปยังสหภาพยุโรป เพราะค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงถึง 20% ส่งผลให้ผู้นำเข้าของยุโรปซื้อสินค้าจากไทยในราคาที่แพงขึ้น

 หลายราย ขอต่อรองให้ผู้ส่งออกไทยลดราคาให้ และหันไปนำเข้าสินค้าจากเวียดนามแทน เพราะสินค้ามีราคาถูกกว่าเพราะยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ขณะที่ไทยถูกตัดสิทธิไป

 ซึ่งหากผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับผลกระทบตามไปด้วย แล้วรวมทั้งไทยยังคงเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ที่พบว่าทั้งตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นไม่ได้มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเพื่อรองรับการส่งออกของไทยเท่าที่ ควร

 ส่วน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนและผู้บริโภคกังวลคือ เครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เดิน และการส่งออกของไทยในปีนี้ยังไม่โดดเด่น เนื่องจากประสบปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัวน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลไม่เร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ออกมาในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ และบริหารจัดการค่าเงินให้อยู่ภายใต้กรอบ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเอื้อต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาสดใส ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวอยู่ที่ 2-2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3-3.5%

 "อาจทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตต่ำกว่าที่คาดไว้ 3-3.5% ได้?

 และจากตัวเลขการส่งออกเดือนแรกของปีนี้ที่ออกมาไม่สวยนัก ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งปรับทัพ โดยเรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั้ง 63 ประเทศ เพื่อทบทวนแผนการส่งออกและประเมินสถานการณ์อีกครั้ง !?? 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!