- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 18 January 2024 17:49
- Hits: 5983
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเทคโนโลยีเกิดใหม่ในปี 2567
โดย ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ | ผู้อำนวยการบริหาร - Clients & Markets
ทัศดา แสงมานะเจริญ | Senior Consultant - Clients & Markets
ดีลอยท์ ประเทศไทย
เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงฟื้นตัวได้ช้าและเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลข GDP ปี 2566 และ 2567 เหลือ 2.4% และ 3.2% ตามลำดับ แต่หากรวมโครงการ Digital wallet อาจส่งผลให้ GDP ปี 2567 อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.8% ได้ สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีความกังวลอยู่ แม้ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 4 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพียง 8% เท่านั้น นอกจากนี้การที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงไปมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เงินเฟ้อติดลบยาวนานกว่า 2 เดือน วิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อและความต้องการออกเดินทางเที่ยวต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 มีไม่ถึง 39.9 ล้านคน เช่นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
สำหรับการส่งออก เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2566 ยังคงหดตัวที่ 2.7% เมื่อเทียบกับมูลค่าในปีก่อนหน้า แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด มูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าทุกประเภทในเดือนตุลาคม 2566 ยังโตขึ้นถึง 8% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว คือปัญหาหนี้ครัวเรือน ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.9% ต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 2566 คิดเป็นมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบางลง
อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ในเดือนธันวาคมอยู่ที่ -0.83% เป็นการติดลบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามเดือนและติดลบสูงที่สุดในรอบ 34 เดือน นำไปสู่ประเด็นที่มีการวิจารณ์กันว่าไทยอยู่ในภาวะเงินฝืดหรือไม่ หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง มาจากมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐที่ปรับลดราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับราคาอาหารที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เราอาจมองว่า สินค้าบางประเภทยังมีราคาสูงอยู่ท่ามกลางค่าการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index:CPI) ติดลบ นั่นเป็นเพราะฐานของค่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ดีลอยท์มองว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีการบริโภคจากภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ สำหรับการเติบโตของ GDP ในปี 2567 นี้ โดยการลงทุนภาคเอกชน จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นการลงทุนเพิ่มหรือเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนในไทย เช่น Changan, GAC, GWM, และ Rever นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังระบุว่า การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนใน 9 เดือนแรก ของปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าสูงสุดที่ 130.4 พันล้านบาท รวมถึงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 22%เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรก ปี 2565 อีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นเทรนด์การประมวลผลแบบเร่งความเร็ว (accelerated computing) ซึ่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าในเทคโนโลยี AI อย่างมหาศาล และแสดงศักยภาพการทำงานเต็มรูปแบบที่องค์กรต่างๆ ต้องเรียนรู้วิธีใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ AI จะช่วยเพิ่มผลผลิตของบริษัท ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจ และส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
การเกิดขึ้นและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ Generative AI ยังได้ปลดล็อกให้มีการใช้ประโยชน์จากแอพลิเคชันในตลาดใหม่ๆ มากมายและส่งผลให้ผลิตภาพสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความสามารถเหนือความคาดหมายของ Generative AI หรือ GenAI อย่าง ChatGPT ซึ่งใช้ฐานข้อมูลจาก GPT3 และปัจจุบันมีการใช้ GPT4 แล้ว ความแตกต่างที่สำคัญไม่เพียงแต่ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ประเภทของข้อมูลที่นำเข้าหรือสร้างข้อมูลใหม่ออกมาได้รับการพัฒนาอย่างมาก จากเดิมรองรับข้อความเป็นตัวอักษรเท่านั้น ปัจจุบันเราสามารถใช้ภาพหรือเสียงเป็นข้อมูลนำเข้าใน GenAI ได้ อย่างที่เห็นได้ชัดจาก Google Gemini นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างข้อมูลให้กับผู้ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอต่างๆ
AI จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอนาคตไปหลากหลายรูปแบบ โดยเริ่มตั้งแต่แรงงานคน จากเดิมที่ไอคิว (IQ) เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาททำงานแทนมนุษย์ได้ ตัวชี้วัดความสำเร็จจะเปลี่ยนเป็นอีคิว (EQ) มุมมองทัศนคติ และ soft skill ทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองเพื่อเรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก AI อาจกล่าวได้ว่าเราอาจจะไม่ตกงานเพราะ AI แต่คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จาก AI ต่างหากที่จะมาชิงตำแหน่งงานของเราไป
สิ่งสำคัญคือ เราต้องมองว่า AI เป็นเพื่อนร่วมงานที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น AI เปรียบเหมือน “ผู้ช่วยนักบิน” ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ช่วยทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ยังสามารถทำงานระดับพื้นฐานและซ้ำๆ ปริมาณมากได้อีกด้วย เช่น การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่ดีลอยท์เรียกยุคนี้ว่า The Age of With ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า
จากผลสำรวจ CEO Survey ที่ Deloitte ทำร่วมกับ Fortune magazine เมื่อเดือนมิถุนายนและตุลาคม ปี 2566 พบว่า Generative AI ไม่ได้เป็นเพียงคำที่ซีอีโอพูดถึงอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป แต่มันกำลังกลายเป็นความจริง สังเกตได้จากซีอีโอหลายคนได้เปลี่ยนจากการประเมินและทดลองใช้ไปสู่การนำไปใช้จริงในวงกว้าง โดย GenAI ถูกนำไปใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบอัตโนมัติ ลดต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ และค้นหาแนวคิดหรือข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ รวมถึงเร่งการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้บทความล่าสุดของดีลอยท์ เกี่ยวกับ AI ชื่อว่า The Generative AI Dossier ได้นำเสนอแนวโน้มการใช้งานและประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเร่งกระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจ และพบว่า มีการพิจารณานำ AI ไปใช้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักพัฒนา การตรวจจับการทุจริต การปรับปรุงระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โรงงานอัจฉริยะ และอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก
เมื่อ Generative AI มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้น ประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เมื่อถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ดีลอยท์มุ่งมั่นที่จะใช้ Generative AI อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักกรอบการทำงาน Trustworthy AI ซึ่งช่วยพัฒนาแนวทางป้องกันที่จำเป็นพร้อมกันกับการให้ความสำคัญทางจริยธรรม ระหว่างการพัฒนาและดำเนินงานผลิตภัณฑ์
1435