- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:14
- Hits: 2826
รายงานพิเศษ : ตัวเลขในฝัน...จีดีพีโต 4 % ยังต้องลุ้น...ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศมีผล
แนวหน้า: จากเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ที่ผ่านมา ที่ครึ่งปีแรกระบบเศรษฐกิจในประเทศล้มไม่เป็นท่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อช่วงปลายปี 2556 ยืดเยื้อมาจนถึงกลางปี 2557 ทำให้การเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐและเอกชนไม่สามารถขยับได้เลย บวกกับการใช้จ่ายภายในประเทศก็หยุดชะลอตามไปด้วย แถมนักลงทุนต่างชาติก็หวั่นวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ภาคส่งออกก็ชะงักงันตามไป ทั้งหมดทุกด้านทุกองค์ประกอบ ส่งผลให้คาดการณ์กันไปต่างๆนาๆว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะไปรอดจนขยายตัวได้ไกลแค่ไหน
ซึ่งตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถคลี่คลาย แต่ก็ขยับไปได้อย่างช้าๆ เนื่องจากกว่าจะเตรียมการและวางแผนก็ต้องระยะอาศัยเวลาถึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558
โดยมาตรการระยะสั้น การดำเนินงานที่ผ่านมาช่วง 3 เดือนสุดท้าย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจจากหลายฝ่ายนัก เพราะยังไม่เห็นผลเป็นเนื้อเป็นหนังสักเท่าไร โดยทางรัฐบาลยืนยันว่ามาตรการระยะสั้นนี้จะเห็นผลอย่างชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2558 หรือในช่วง 3 เดือนแรกของปี และในระยะต่อไปทางกระทรวงการคลังได้เริ่มวางแผนปูแนวทางระยะกลางและระยะยาว เพื่อรองรับเป็นฐานให้รัฐบาลชุดต่อไป เข้ามาบริหารงานต่อได้ทันที
จากการวางแนวทางปฏิบัติมาตรการสั้น กลางและยาว จะทำให้เศรษฐกิจไทยวิ่งได้รวดเร็วขึ้น บวกกับต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆทั้ง เงินเบิกจ่ายเหลื่อมปี เงินทุนหมุนเวียน และเงินทุนจากรัฐวิสาหกิจให้มีความรวดเร็ว นอกจากปัจจัยภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายการลงทุนรัฐและเอกชนแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกซึ่งต้องดูเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่จะเป็นส่วนสำคัญกับภาคการลงทุนและการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบทำให้เศรษฐกิจในปี 2558 ขยายตัวได้สูงกว่าปี 2557 ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ประมาณการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ใกล้ๆ 1.2% ต่อปี หรือระดับต่ำสุดของช่วง 1.2%-1.7% ต่อปี
จากข้อมูลของ สศค. การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1% ต่อปี อยู่ในช่วงคาดการณ์ 3.6%-4.6% ต่อปี โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคมขนส่ง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศคลี่คลายลง
นอกจากนี้ ยังมีอุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวได้ดี โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% ตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีรวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจะยังคงเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน แต่รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ด้านการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัว 8% จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า รวมทั้งความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการ จะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนขยายตัว 6.5% ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะฟื้นตัวขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 9.6% สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
ขณะที่ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.6% และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 10.7% จากการประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2558 ที่สามารถทำได้ปกติ มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ปี 2558
สศค.ยังประเมินปัจจัยจากเศรษฐกิจโลก โดยรวมถือว่ายังขยายตัวในอัตราชะลอลง แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจยูโรโซนและจีนมีสัญญาณการขยายตัวที่ชะลอลงชัดเจนเช่นกัน ซึ่งเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆจะมีผลต่อไทย โดยการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทั้งยูโรโซน และจีน ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เข้าสู่สภาวะถดถอยเชิงเทคนิค ซึ่งจะทำให้กระทบการภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
ด้านราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำตามไปด้วย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง และสิ่งที่สำคัญเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบสำคัญของโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีความผันผวน
แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง จะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการส่งออกของไทย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งด้านการผลิตและการจ้างงาน และสหรัฐยังเป็นแหล่งส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของไทย โดยในปี 2556 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ 10% ของมูลค่าการส่งออกรวม และสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่ยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้การค้าชายแดนยังคงเติบโตได้ดี ในขณะที่ตลาดการส่งออกอื่นๆ ซบเซา โดยตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กันยายน ปี 2557 การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่ารวม 725.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 กว่า 6.5% ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ จะทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภค โดยในทางตรงจะช่วยให้ผู้บริโภคน้ำมันมีค่าใช้จ่ายต่ำลงและมีเงินเหลือที่จะสามารถบริโภคสินค้าประเภทอื่นๆ ได้มากขึ้น และยังทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งของธุรกิจไทยลดต่ำลงซึ่งจะส่งผ่านไปรับราคาสินค้าอื่นๆให้ลดต่ำลงเช่นกัน
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.)ได้คาดการณ์จีดีพีของปี 2558 ขยายตัว 4.0% ต่อปี แต่ก็ยังต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรกที่โต 4.8% ต่อปี จากปัจจัยในประเทศทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีโครงการลงทุน เบิกจ่ายได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนฟื้นตัวดีขึ้น แต่เป็นไปอย่างช้าๆ และมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ต้นทุนลดลงตามไปด้วย รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้นอกภาคการเกษตรดีขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
ส่วนภาคการส่งออกสินค้าในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจโลกประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯฟื้นตัวได้มากขึ้น แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนการส่งออกบริการ ปรับดีขึ้นตามนักท่องเที่ยวจีนที่ความเชื่อมั่นฟื้นตัวเร็ว และได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ลดลง แต่โดยรวมยังค่อยข้างจำกัดเนื่องจากการชะลอตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซีย รวมถึงบางส่วนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ส่วนนำเข้าปี 2557 ติดลบ -7.5% ขณะที่ปี 2558 การนำเข้าเติบโต 4%
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ และจะขยายตัว 3.5%-4.5% ต่อปี หรือค่ากลางอยู่ที่ 4.0% ต่อปี แต่ก็ยังโตต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ เชื่อว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ 4% เช่นเดียวกับการบริโภคที่ขยายตัว 2.6% และการลงทุนรวม ขยายตัว 5.8% มาจาก 6 องค์ประกอบ ทั้งการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวปรับตัวดี รวมทั้งผลการดำเนินนโยบายรัฐบาล การลงทุนภาคเอกชน การเร่งใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนของรัฐ การจำหน่ายและผลิตรถยนต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ถึงอย่างไรแล้วก็ต้องเอาใจลุ้นมาตรการของรัฐบาล ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายการบริโภคภายในประเทศว่าจะขยับได้มากน้อยแต่ไหน ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ได้ดีอย่างคาดแต่ประเทศอย่างสหรัฐฯและประเทศเพื่อนบ้านก็ทำให้ไทยใจชื้นขึ้นได้บ้าง ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงๆแล้วองค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้ 4.0%-4.1% ต่อปี ตามที่หน่วยงานวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจประเมินไว้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองทั้งสิ้น…
โดย..นายยศวัศ เกียรตินันท์