ในห้วงปี 2557 ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจและบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทีมข่าวเศรษฐกิจได้หยิบยกข่าวเด่นประเด็นเด็ดมานำเสนอ เพื่อให้ได้รำลึกกันว่าปี 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
เริ่มต้นด้วย 1.การโยกย้าย ต้องยอมรับว่าค่อนข้างแรง เพราะบางกระทรวงถึงขั้นล้างบาง กระทรวงเศรษฐกิจที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายครั้งใหญ่คือกระทรวงการคลัง ที่เริ่มในช่วงเดือนมิถุนายน คสช.มีคำสั่งให้โยกนายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง แล้วให้นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มานั่งเป็นอธิบดีแทน ส่วนตำแหน่งเดิมของนายประสงค์ได้โยกนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการไปแทน ตามต่อด้วยการโยกนายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมแต่งตั้งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ มาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แทนนายสมชัย จากที่ก่อนหน้านี้นายกฤษฎาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. และสั่งย้ายนายราฆพ ศรีศุภอรรถ พ้นอธิบดีกรมศุลกากรมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง
ส่วนที่กระทรวงคมนาคมก็ใช่ย่อย เพราะ คสช.ได้สั่งย้ายนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ขึ้นเป็นปลัดแทน พร้อมมีคำสั่งให้นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม และให้นายสมชาย พิพุธวัฒน์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นอธิบดี บพ.แทน พร้อมกับย้ายนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายดรุณ แสงฉาย รองอธิบดี ทช. ขึ้นเป็นอธิบดี ทช.แทน นอกจากนี้ยังย้ายนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ พ้นจากอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และให้นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นอธิบดี จท.แทน และให้นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองผู้อำนวยการ สนข. ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ สนข.
นอกจากย้ายฟ้าผ่าข้าราชการแล้ว ยังมีการสั่งปลดนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกจากตำแหน่ง หลังถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนักจากคดีเด็กหญิงวัย 13 ปี ถูกข่มขืนและโยนลงจากรถไฟ พร้อมกันนี้ยังแว่วว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจรายอื่นก็ถูกกดดันให้ลาออกด้วย เช่น นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ยกมานี้ไม่นับรวมตำแหน่งระดับรองและผู้อำนวยการที่ถูกสับเปลี่ยนอีกหลายตำแหน่ง
ฟากกระทรวงพลังงานนั้นพูดได้ว่าโยกกันแบบยกกระทรวง ไล่มาตั้งแต่ปลัดกระทรวง นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ที่ถูกย้ายไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี และส่งนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) อดีตปลัดกระทรวงการคลังมานั่งแทน และได้โยกย้ายอธิบดีทุกกรม พร้อมดึงระดับรองอธิบดีขึ้นนั่งแทน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่ากันว่าทำเพื่อให้รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศได้แบบไร้อุปสรรค โดยมีผลงานที่เด่นชัดคือการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สอดคล้องกับการปลดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยกชุดพร้อมเลขาธิการ กกพ. เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงาน ค่าไฟฟ้า โรงไฟฟ้า การบริการท่อก๊าซ ได้ถูกต้องและเป็นธรรม
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น แม้จะลุ้นนานหน่อย แต่สุดท้าย "ณัฐพล ณัฐฏสมบูรณ์" อธิบดีกรมโรงงาน ก็ถูกเซ่น เพราะมีเสียงกระซิบว่าเป็นแพะ จากที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีข่าวเสียหายเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) จนถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องการทุจริตที่แม้จะไม่มีใบเสร็จชัดเจน เพราะหลัง คสช.ยึดอำนาจไม่กี่วัน ทางกระทรวงอุตฯได้ล้มคณะกรรมการกลั่นกรองทันที พร้อมเร่งรัดใบอนุญาตจาก 90 เหลือ 30 วัน และหลังตั้งรัฐบาลแล้ว นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้ฟอร์มทีมราชการใหม่ โดยตั้งนางอรรชกา สีบุญเรือง ขึ้นเป็นปลัดกระทรวง จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนอธิบดีกรมต่างๆ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และดึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กลับมานั่งทำงานในกระทรวง หลังบีโอไอถูกย้ายไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จากกระทรวงอุตสาหกรรม ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นกัน พร้อมปลดนายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว.
ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์นั้นก็ไม่ใช่ย่อย เพราะ คสช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 28 ราย ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หนึ่งในนั้นก็มีชื่อนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตั้ง น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้นถือว่าเหมือนฟ้าผ่า เพราะนางศรีรัตน์อยู่ระหว่างการเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวง ต่อมาในเดือนกรกฎาคม น.ส.ชุติมา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีคำสั่งโยกย้ายนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และตั้งนางดวงพร รอดพยาธิ์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ มาเป็นรักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมกับโยกนายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และตั้งนางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นรักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อไปตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวสต๊อกตามนโยบาย คสช. พร้อมตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบกรณีหากข้าวหายและเสื่อมคุณภาพ จากนั้น คสช.โยกนายสุรศักดิ์ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อเข้าเดือนกันยายน กระทรวงพาณิชย์ก็มีการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงอีกครั้ง รวมการโยกย้ายทั้ง 2 ช่วง จำนวน 33 คน นับเป็นการพลิกโฉมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ครั้งใหญ่ !
2.ว่าด้วยเรื่องซุปเปอร์บอร์ด ที่ คสช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร. หรือซุปเปอร์บอร์ด) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2557 โดยภารกิจแรกคือปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) ในรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รวมถึงบีบให้ผู้บริหารเบอร์ 1 ของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งลาออกเพื่อล้างคนของรัฐบาลเพื่อไทย
เพราะมองว่ารัฐวิสาหกิจเป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองที่ส่งคนเข้ามาหาผลประโยชน์ จนทำให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีผลประกอบการที่ขาดทุน ต้องขอเพิ่มทุนโดยใช้เงินจากภาษีของประชาชน เบื้องต้น คสช.เน้น 7 รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาขาดทุนหนักก่อน เพื่อให้เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูเสนอให้ซุปเปอร์บอร์ดคือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), ร.ฟ.ท., การบินไทย, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) พร้อมกับวางแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ให้มีคนที่มีความรู้ความสามารถแทนพวกพ้องนักการเมือง รวมถึงการออกกฎหมายมาควบคุมดูแลรัฐวิสาหกิจเป็นการเฉพาะ
3.ช่อง 3 หวิดจอดำทั้งประเทศ นับเป็นอีกเรื่องที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จากเหตุที่ช่อง 3 ซึ่งชนะการประมูลทีวีดิจิตอลได้ถึง 4 ช่อง แต่กลับไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอลคู่กับอนาล็อก โดยอ้างว่าช่อง 3 เดิมในระบบทีวีอนาล็อกกับช่อง 3 บนทีวีดิจิตอลเป็นคนละนิติบุคคล การออกอากาศคู่ขนานจึงอาจขัดข้อกฎหมาย ส่วนฝั่ง กสทช.ก็กลัวการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลล้มเหลว จากเพราะกลัวว่าประชาชนไม่มีช่องแม่เหล็กอย่างช่อง 3 ดู จึงใช้อำนาจตามประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แคร์รี่) ยกเลิกการคุ้มครองช่องทีวีอนาล็อกและย้ายไปช่องทีวีดิจิตอล ซึ่งจุดสำคัญเพราะจะต้องลดเวลาโฆษณาจาก 10-12 นาที เหลือ 5-6 นาที ส่งผลให้ช่อง 3 อนาล็อกได้รับผลกระทบ จึงไม่ยอมออกอากาศบนทีวีดิจิตอล สุดท้ายจึงต้องให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยชี้ชัดว่าช่อง 3 อนาล็อกกับทีวีดิจิตอลเป็นนิติบุคลเดียวกัน ท้ายสุดช่อง 3 จึงต้องไปออกบนทีวีดิจิตอล
4.บอลโลกลุ้นหืดขึ้นคอ คู่กรณีของเรื่องนี้ก็คือ กสทช.กับค่ายอาร์เอส เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างอาร์เอส เลือกถ่ายทอดสดบอลโลกผ่านฟรีทีวีเพียงแค่ 22 คู่เท่านั้น หากจะดูให้ครบทั้ง 64 คู่ ต้องไปซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมจากอาร์เอสมาดู ซึ่งทาง กสทช.ยอมไม่ได้ จึงงัดประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์ที่สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (มัสต์แฮฟ) มาบังคับ แต่อาร์เอสไม่ยอม เพราะถือว่าได้ลิขสิทธิ์มาก่อนการประกาศใช้มัสต์แฮฟ เรื่องนี้จึงต้องไปจบลงที่ศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน โดยศาลตัดสินให้อาร์เอสชนะ ทำให้ภาคเอกชนราว 6-7 รายต้องรวมเงินเพื่อให้ช่อง 5 นำไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่อาร์เอส เพื่อถ่ายทอดให้ได้ 64 คู่ แต่ก่อนที่จะปิดดีล ฝั่ง กสทช.ปาดหน้ายอมควักเงิน 427 ล้านบาทให้อาร์เอสเพื่อให้คนไทยได้ดูบอลครบทุกคู่ แม้ฟุตบอลโลกจะจบไปแล้วหลายเดือน แต่จนถึงตอนนี้อาร์เอสก็ยังได้รับเงินไม่ครบ เพราะ กสทช.ยังเคาะราคาที่เหมาะสมไม่แล้วเสร็จ
5.ราคาน้ำมันซึ่งปรับลดต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะลงไปถึงกลางปี 2558 ซึ่งมาจากสาเหตุเพราะกำลังผลิตน้ำมันเพื่อป้อนตลาดโลกเกินความต้องการบริโภคจริง จากการที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ สหรัฐซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกก็ลดการนำเข้า เพราะสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชลออยล์) ใช้เองได้ และแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาก แต่ราคาขายปลีกในประเทศไทยกลับลดลงไม่มาก จนมีกระแสโจมตีผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าสาเหตุที่ลดลงไม่ได้มากเพราะมีภาระต้องนำเงินน้ำมันจ่ายเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฐานะยังติดลบอยู่หลายพันล้านบาท และเมื่อกองทุนน้ำมันมีฐานะเป็นบวก รัฐบาลจึงปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่อดีตโครงสร้างบิดเบือนมากที่สุด เพราะเก็บภาษีเพียง 0.005 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 3.25 บาทต่อลิตร
6.พาณิชย์นำขบวนปลุกชีพราชการ "ซีโร่คอร์รัปชั่น" กิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่น่าจะเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานราชการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรม โดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้บรรจุเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ 94 ปี หรือวันพาณิชย์ཱུ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 และถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ข้าราชการทุกคนต้องปฏิญาณที่จะปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในการทำงาน พร้อมประกาศว่า "เราจะเป็นข้าราชการที่ดี ประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม กระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นเขตปลอดคอร์รัปชั่น" หรือ "ซีโร่คอร์รัปชั่น" และระบุว่า ต่อไปนี้การบริหารงานในกระทรวงพาณิชย์จะไม่มีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น หากมีคนเสนอเราก็ไม่สนอง โดยให้อธิบดีทุกกรมนำไปปฏิบัติ ห้ามมีปัญหาหรือมีเหตุการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ถ้ามีให้แจ้งมาได้โดยตรง จะจัดการขั้นเด็ดขาด
การที่ต้องทำเช่นนี้เพราะมีผลวิจัยว่า ในแต่ละปีพ่อค้าและนักธุรกิจกว่า 80% ต้องสูญเสียเงินให้กับการคอร์รัปชั่นสูงเกือบ 3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินงบประมาณสูงกว่าที่เป็นจริง ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในระบบราชการไทย ส่งผลให้ค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นที่สำรวจในทั่วโลกของไทยอยู่ที่ระดับ 32 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ยิ่งในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้นำในภูมิภาค ต้องติดตามต่อไปว่าซีโร่คอร์รัปชั่นของกระทรวงพาณิชย์จะช่วยปลุก "การเอาด้วย" ของระบบราชการไทยได้จริงจังแค่ไหน หรือแค่โยนหินลงแม่น้ำ ...และค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นรอบใหม่ของไทยจะเป็นอย่างไร
7.แบล๊กมันเดย์ หุ้นร่วง 138.96 จุด เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่หุ้นลงไปแตะระดับ 1,345.99 จุด หรือลดลง 9.17% จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกือบได้ประกาศมาตรการ Circuit Breaker หรือการหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว และถูกบันทึกไว้ในสถิติของ ตลท.เรียบร้อย แม้ว่าการซื้อขายสิ้นวัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะลดลงเพียง 36.46 จุด หรือ 2.41% ปิดการซื้อขายที่ 1,478.49 จุด นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์มูลค่าซื้อขายสูงสุดตั้งแต่ ตลท.เปิดทำการมากว่า 39 ปี ด้วยมูลค่าซื้อขายที่ 102,662 ล้านบาท จากปกติที่จะมีมูลค่าซื้อขายต่อวันที่ 4-5 หมื่นล้านบาท เหตุที่ดัชนีหุ้นลดลงไปมากเพราะตื่นตกใจกับข่าวลือเรื่องความมั่นคงในประเทศกรณีปฏิวัติซ้อนและข่าวลืออื่นๆ บวกกับอารมณ์ของนักลงทุนที่มองเห็นหุ้นไทยปักหัวลงตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2557 ตามหุ้นบริษัทน้ำมันที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี มาอยู่ที่ 59-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยลงแรงที่สุดในโลก