- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 25 September 2023 22:27
- Hits: 2736
Krungthai Compass ชี้เทคโนโลยี Agrivoltaic ช่วยยกระดับภาคเกษตรไทย ภายใต้แนวคิด ESG
โดย ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
Krungthai COMPASS
Key Highlights
● Agrivoltaic คือ เทคโนโลยีการใช้พื้นที่ร่วมกันของภาคเกษตร เช่น การทำกสิกรรม ปศุสัตว์ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาเซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในขณะที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร โดยเทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในต่างประเทศจาก 3 ปัจจัยหนุน ได้แก่ 1) Agrivoltaic สอดรับกับเทรนด์ ESG 2) ต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง 3) ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ของภาคเกษตร
● ภาคเกษตรไทยคาดจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนเทคโนโลยี Agrivoltaic จากต้นทุนค่าพลังงานที่ลดลง เช่น เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจำนวน 14 ไร่ ซึ่งเพาะปลูกปีละ 2 ครั้ง จะได้ผลประโยชน์สุทธิจากการลงทุนเทคโนโลยีนี้ราว 20,500 บาทต่อปี และใช้เวลาคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 10,000 ตัว ที่มีรอบการเลี้ยงประมาณ 5 รอบต่อปี จะได้ผลประโยชน์สุทธิราว 670,000 บาทต่อปี และใช้เวลาคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี
● Krungthai COMPASS แนะนำให้ภาคเกษตรสร้างร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญใน Ecosystem เพื่อช่วยในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ ที่เหมาะสมกับพืชหรือปศุสัตว์แต่ละชนิด นอกจากนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่เกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น ในบางช่วงเวลาพืชที่ปลูกใต้แผงโซลาเซลล์อาจได้รับแสงไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลลบต่อผลผลิตต่อไร่
ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG มากขึ้น แต่กิจกรรมในภาคเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรกลับยังไม่ได้ปรับตัวมากนัก นอกจากการปลดปล่อยมลพิษจากกิจกรรมในภาคเกษตรแล้ว กิจกรรมในภาคเกษตรยังต้องพึ่งพาการใช้พลังงาน เช่น การใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ รวมถึงการใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างสำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่าแล้วผู้ประกอบการในภาคเกษตรในกลุ่มต้นน้ำควรจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งเรามองว่าหนึ่งในแนวทางการปรับตัวที่น่าสนใจ คือ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานดั้งเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่พลังงานสะอาด
ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Agrivoltaic ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น รวมทั้งตอบคำถามว่าหากภาคเกษตรไทยมีการปรับใช้เทคโนโลยีนี้จะสามารถสร้างความคุ้มค่าหรือได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน?
ทำความรู้จัก Agrivoltaic
Agrivoltaic คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายใต้แนวคิดการใช้พื้นที่ของภาคเกษตร เช่น การทำกสิกรรม ปศุสัตว์ ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาเซลล์ ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ในขณะที่ยังคงใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร นอกจากนี้ แผงโซลาเซลล์ยังช่วยให้ร่มเงาแก่พืชผล ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ และลดการระเหยของน้ำ ซี่งนำไปสู่ความต้องการน้ำในการเพาะปลูกที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ร้อนและแห้งแล้ง นอกจากนี้ ระบบไฟฟ้าเพื่อการเกษตรยังช่วยสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานดั้งเดิม เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
Agrivoltaic มีรูปแบบที่หลากหลาย โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อให้มีความสูงเพียงพอที่เกษตรกรสามารถปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใต้แผง รวมถึงเครื่องจักรกลเกษตรสามารถเข้าถึงเพื่อบำรุงรักษาและเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์การวางแผงโซลาเซลล์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟาร์มโรงเรือนกระจกที่มีข้อจำกัดในการควบคุมสภาพอากาศ รวมถึงการปกป้องพื้นที่เลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่เพาะปลูกโดยใช้แผงโซลาเซลล์แนวตั้งกั้นเป็นรั้ว ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้แมลงต่างๆ เช่น ผีเสื้อและผึ้ง ให้เข้ามาผสมเกสรในสวน เช่น สวนดอกไม้ สวนผลไม้ได้อีกด้วย
ตลาด Agrivoltaic โตแค่ไหนแล้ว?
คาดว่าในปี 2573 มูลค่าตลาด Agrivoltaic จะเติบโตไปอยู่ที่ 8.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 312.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ[1] หรือราว 124.9 พันล้านบาท (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ปีละ 12.1% (CAGR% 2565-2573) จากการเติบโตของเทรนด์ ESG ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การเข้าถึงของเกษตรกรมีแนวโน้มถูกลง ทำให้มีการใช้งานแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
ส่วนมูลค่าตลาด Agrivoltaic ของไทยคาดว่าจะเติบโตตามแนวโน้มตลาดโลก โดยปัจจุบันแม้จะยังไม่มีหน่วยงานใดประเมินมูลค่าตลาดชัดเจน แต่คาดว่าหากภาครัฐมีการผลักดันให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวแบบเกษตรแปลงใหญ่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ก่อน จะทำให้มูลค่าตลาดโซลาเซลล์สำหรับแปลงนาข้าวในไทยมีโอกาสสูงถึงเกือบ 3 หมื่นล้านบาท[2]
ทำไมภาคเกษตรต้องใช้ Agrivoltaic
1. Agrivoltaic สอดรับกับเทรนด์ ESG
Agrivoltaic ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทดแทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลรูปแบบเดิมที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (Non-renewable resource) อีกทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจากงานวิจัยของ Robert Handler และ Joshua M. Pearce ชี้ว่า การประยุกต์ใช้ Agrivoltaic ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 98.5% และพลังงานฟอสซิลลดลง 82.9% เมื่อเทียบกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วไป
2. ต้นทุนการเข้าถึงของ Agrivoltaic ที่ถูกลง
ต้นทุนการติดตั้งโซลาเซลล์ที่มีแนวโน้มลดลง ช่วยหนุนให้ภาคเกษตรสามารถเข้าถึงได้เทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Statista ที่ระบุว่า ค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic มีแนวโน้มลดลงย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic ในปี 2553 สูงถึง 4,621 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ และคาดว่าในปี 2573 และ 2593 ค่าติดตั้งแผงโซลาเซลล์สำหรับ Agrivoltaic จะมาอยู่ที่ 587 และ 323 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ หรือลดลงถึง 87.3% และ 93.0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2553 ส่งผลให้เกษตรกรมีแนวโน้มจะนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น อ้างอิงข้อมูลจาก The Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF) ของญี่ปุ่น พบว่าในปี 2564 มีจำนวนเกษตรกรที่ใช้ Agrivoltaic ราว 3.5 พันราย หรือเพิ่มขึ้นจากกว่า 30% จากปีก่อน
3. Agrivoltaic ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพื้นที่เกษตร
Agrivoltaic ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพื้นที่เกษตรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น โดย Metsolar ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างกรณีที่ 1) การปลูกข้าวสาลีในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ แยกกับการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในพื้นที่ 1 เฮกตาร์ จะสามารถผลิตข้าวสาลีและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 3.52 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ และ 1.70 MW/วันต่อ 1 เฮกตาร์ ตามลำดับ และกรณีที่ 2) การปลูกข้าวสาลีร่วมกับการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ในพื้นที่รวม 2 เฮกตาร์ พบว่า ในกรณีที่ 2 แม้ว่าผลผลิตข้าวสาลีต่อไร่และพลังงานไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 2.82 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ และ 1.36 MW/วันต่อ 1 เฮกตาร์ ตามลำดับ เพราะการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างการเพาะปลูกและติดตั้งโซลาเซลล์ทำให้มีการสูญเสียผลิตภาพบางส่วน แต่เนื่องจากพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวสาลีและติดตั้งแผงโซลาเซลล์ที่มากขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วมีผลผลิตข้าวสาลีและพลังงานไฟฟ้าเป็น 5.64 ตัน และ 2.72 MW/วัน ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นมาราว 60% เมื่อเทียบกับกรณีที่ 1
นอกจากนี้ พืชบางชนิดที่ปลูกภายใต้ร่มเงาของแผงโซลาเซลล์ ยังได้ประโยชน์เพิ่มเติมทำให้พืชไม่ได้รับแสงแดดที่ร้อนเกินไปจึงช่วยลดการสูญเสียน้ำของพืช และลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกลดลง โดยจากงานวจัยของ University of Arizona ชี้ว่า พริกจาลาปิโนแม้จะมีผลผลิตใกล้เคียงกันทั้งการปลูกในระบบ Agrivoltaic และการปลูกแบบทั่วไป แต่ก็ทำให้การสูญเสียน้ำจากการระเหยน้ำของพืชลดลงถึง 65%
ภาคเกษตรไทยจะได้ประโยชน์แค่ไหน?
ในส่วนนี้ Krungthai COMPASS ได้ประเมินประโยชน์จากการปรับใช้ Agrivoltaic ใน 2 กิจกรรมทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ การเพาะปลูกข้าวและฟาร์มไก่เนื้อ ซึ่งผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวกจากการลดต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
การเพาะปลูกข้าว
การติดตั้งโซลาเซลล์ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวจะทำได้ผลประโยชน์สุทธิราว 20,500 บาทต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 2-3 ปี โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เกษตรไทยที่เพาะปลูกข้าวมีจำนวนการครอบครองพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยอยู่ราว 14 ไร่ต่อราย ซึ่งงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง ต้นทุนและผลตอบแทนในการเพาะปลูกข้าว[3] ระบุว่า ในกระบวนการเพาะปลูกข้าวมีต้นทุนการผลิตต่อไร่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,880 บาทต่อไร่ต่อรอบการเพาะปลูก 1 ครั้ง โดยมีต้นทุนพลังงานที่เกิดจากการใช้ปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำเข้านาข้าว อยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ คิดเป็น 15.4% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าวจำนวน 8 ไร่ จะมีการใช้ปั๊มน้ำ 600 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง ดังนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อหาเงินลงทุนในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ จะต้องติดตั้งแผงโซลาเซลล์ 390 วัตต์ จำนวน 2 แผงต่อเครื่อง และเมื่อนำมาคิดกับพื้นที่ครอบครองโดย เฉลี่ยของเกษตรกรไทย ทำให้ต้องติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ทั้งหมดจำนวน 4 แผง เนื่องจากต้องมีการใช้ปั๊มน้ำจำนวน 2 เครื่องต่อพื้นที่ 14 ไร่ โดยราคาจริงเฉลี่ยในตลาดของแผงโซลาเซลล์ 390 วัตต์ อยู่ที่ราว 10,000 บาทต่อแผง ทำให้มีต้นทุนในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์อยู่ที่ 40,000 บาท เมื่อรวมกับค่าติดตั้งและค่าอุปกรณ์อื่นๆอีกราว 10,000 บาท รวมถึงค่าขออนุญาตจากภาครัฐอีกราว 10,000 บาท ทำให้มีต้นทุนรวมในการติดตั้งอยู่ที่ 60,000 บาท ต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวน 14 ไร่ ทั้งนี้เมื่อมีการติดตั้งโซลาเซลล์เพื่อใช้กับปั๊มน้ำแล้ว คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานได้ทั้งหมด[4] โดยในการเพาะปลูกข้าวเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกปีละ 2 รอบ ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนพลังงานได้ราว 21,000 บาทต่อปี เมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่ราว 1% ของเงินลงทุน หรือเท่ากับ 500 บาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์อยู่ที่ 20,500 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อพิจารณาเงินลงทุนกับผลประโยชน์สุทธิต่อปี จะมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 2-3 ปี
ฟาร์มไก่เนื้อ
การติดตั้งโซลาเซลล์ในกระบวนการเลี้ยงไก่เนื้อจะได้ผลประโยชน์สุทธิราว 670,000 บาทต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 4-5 ปี โดยจากข้อมูลของกรมการค้าภายในและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ในกระบวนการเลี้ยงไก่เนื้อมีต้นทุนการเลี้ยงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ น้ำหนักไก่เนื้อ 1 ตัว อยู่ที่ 2.5 กิโลกรัม และมีรอบการเลี้ยงประมาณ 5 รอบต่อปี อ้างอิงสถาบันอาหาร หากมีการเลี้ยงไก่เนื้อจำนวน 10,000 ตัว จะทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด 4,375,000 บาทต่อปี โดยมีต้นทุนพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 1,750,000 บาท คิดเป็นสูงถึง 40% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด[5] เนื่องจากการเลี้ยงไก่สำหรับระบบโรงเรือนแบบปิดปรับอุณหภูมิ(Evaporative Cooling System:EVAP) เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์กับเงินลงทุนติดตั้งโซลาเซลล์ โดย ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อใช้แผงโซลาเซลล์ขนาด 100 กิโลวัตต์ราคาเฉลี่ยประมาณ 30 บาท/วัตต์ [6] และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้ต้นทุนในการลงทุนทั้งหมดในการติดตั้งโซลาเซลล์ของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ จะอยู่ที่ราว 3,010,000 บาท โดยเมื่อมีการติดตั้งโซลาเซลล์แล้ว จะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 40% ของต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด5 หรืออยู่ที่ราว 700,000 บาทต่อปี และเมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่คิดเป็น 1% ของเงินลงทุน หรือเท่ากับ 30,000 บาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์อยู่ที่ 670,000 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อพิจารณาเงินลงทุนกับผลประโยชน์สุทธิต่อปี จะมีระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ราว 4-5 ปี
ทั้งนี้ผลประโยชน์สุทธิของการประยุกต์ใช้โซลาเซลล์ในภาคเกษตรของไทยระยะแรกจะเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงานของเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งหากในอนาคตต้นทุนเทคโนโลยีถูกลงอีก จนเกษตรมีการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าพลังงานได้แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่ง
Implication:
● ผู้ประกอบการกสิกรรมและปศุสัตว์ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญใน Ecosystem เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจประกอบแผงโซลาเซลล์ (PV module assembly) ธุรกิจติดตั้งระบบโซลาเซลล์ (PV installer) เพื่อช่วยในการออกแบบและติดตั้งระบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พื้นที่และการผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ ในอนาคตยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA ในการเข้ามาขยายฐานลูกค้าในกลุ่มเกษตรกรได้มากขึ้น ขณะที่เกษตรกรก็จะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA จะเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงระบบโซลาเซลล์ตลอดอายุการใช้งาน โดยในต่างประเทศมีผู้ประกอบการ Solar-Corporate PPA เข้ามาทำตลาดนี้แล้ว เช่น บริษัท Engie SA ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้า PPA ของประเทศฝรั่งเศส ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 5MW ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงข่ายไฟฟ้าผ่านที่ดินของชาวสวนแอปเปิ้ล ขนาดพื้นที่ 31 เอเคอร์
● ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกร โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง มีการสนับสนุนการติดตั้งโซลาเซลล์ในภาคครัวเรือนอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการขยายการสนับสนุน เช่น การให้แหล่งเงินทุนในการติดตั้งโซลาเซลล์แก่เกษตรกร ก็จะช่วยให้ภาคเกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้มากขึ้น โดยในต่างประเทศ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซียก็มีการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยี Agrivoltaic คิดเป็น 10% และ 20% ของการลงทุนเทคโนโลยี Agrivoltaic ทั้งหมด
● อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายจากการใช้เทคโนโลยี Agrivoltaic เช่น แผงโซลาเซลล์อาจทำให้เกิดการบังแสงแดดของพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้พืชที่ปลูกใต้แผงโซลาเซลล์ได้รับแสงน้อยลง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตร อย่างไรก็ตาม อาจมีการประยุกต์กระบวนการติดตั้งให้รบกวนกระบวนการเพาะปลูกลดน้อยลง เช่น เกษตรกรสามารถปรับองศาการตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อให้พืชได้รับแสงระหว่างวันมากขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยี IoT ในการประเมินแสงแดดและสภาพอากาศเพื่อปรับตำแหน่งการวางแผงโซลาเซลล์ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ช่วยให้การปลูกพืชใต้แผงโซลาเซลล์ได้รับแสงที่เพียงพอสำหรับการเติบโตได้อย่างแม่นยำ
[1] มูลค่าตลาดคำนวณจากประมาณการยอดขายของแผงโซลาเซลล์ที่ใช้ในภาคเกษตรทั่วโลก
[2] คำนวณจาก เงินลงทุนต่อ 16 ไร่ ซึ่งอยู่ที่ราว 50,000 บาท โดยประเทศไทย เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ทั้งหมดที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ โดยประเมินว่าเกษตรกรไทยที่เพาะปลูกข้าวแบบเกษตรแปลงใหญ่จะมีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีนี้มีสัดส่วนพื้นที่ 14% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 68 ล้านไร่
[3] อ้างอิงจากบทความ ต้นทุนและผลตอบแทนการปลูกข้าว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
[4] อ้างอิงจากบทความ เกษตรกรเงินล้าน แนะนำ ปั๊มน้ำโซล่าเซลล์ เปลี่ยนปุ๊บ ชีวิตดีปั๊บ
[5] อ้างอิงจากข่าว ฟาร์มไก่เนื้อรักษ์โลก ‘สุรชัยฟาร์ม’ ติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ พ่วงช่วยการบริหารต้นทุน ของ SME in Focus
[6] อ้างอิงจากบทความ ก่อนติดโซลาร์เซลล์ SME ต้องรู้ให้ครบ! คุ้มไหม? กับเงินหลักแสนที่ต้องลงทุน ของ SME Thailand Club
A9878