- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 25 December 2014 06:59
- Hits: 3063
S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย ชี้ระดับหนี้สุทธิรัฐบาลไม่มาก
แนวหน้า : S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย ชี้ระดับหนี้สุทธิรัฐบาลไม่มาก ขู่หั่นเครดิ หาก‘การเมือง’ยุ่ง
'เอสแอนด์พี'สถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งชั้นนำของโลก ชี้ระดับหนี้ของรัฐบาลไทยเหมาะสม ขณะที่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการปรับเครดิต หนุนทยอยชดเชยความเสียหายจาก “จำนำข้าว” พร้อมขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากเสถียรภาพทางการเมืองมีปัญหา
นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือ เอสแอนด์พี( Standard and Poor’s (S&P’s) ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศ (Long-term/ Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long-term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A-/A-2
พร้อมกับยืนยันแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) และยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยบน ASEAN Regional Scale ระยะยาวที่ axAA และระยะสั้นที่ axA-1 นอกจากนี้ ยังได้ประเมินการเคลื่อนย้ายและความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคงที่อยู่ในระดับ A
โดยเอสแอนด์พีให้เหตุผลว่า สถานะงบดุลภาคต่างประเทศและสภาพคล่องของประเทศไทยที่แข็งแกร่ง ระดับหนี้ของรัฐบาลที่เหมาะสม รวมทั้งประวัติการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ในขณะที่การเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำโดยเปรียบเทียบและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ส่วนปัจจัยที่ยังคงเป็นจุดแข็งต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ได้แก่ สถานการณ์ลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและระดับสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอ
ขณะที่ ปัจจัยที่ยังคงเป็นจุดแข็งต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ ได้แก่ การลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและระดับสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่มากเพียงพอ การเกินดุลการค้าและดุลการชำระเงินเป็นเวลานาน รวมทั้งการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยมีทุนสำรองสำหรับรองรับดุลบัญชีเดินสะพัดได้ถึง 7.3 เดือน ภาระหนี้ต่างประเทศสุทธิอยู่ในระดับปานกลางที่ 24% ของจีดีพี และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สุทธิคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของรายได้บัญชีเดินสะพัด
ด้านสถานะทางการคลังที่มีการดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างรอบคอบของไทย สะท้อนได้จากการเกินดุลขั้นต้นของรัฐบาลที่ยาวนาน ทำให้สามารถรักษาระดับหนี้ของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยหนี้สุทธิของรัฐบาลจะยังคงอยู่ในระดับเหมาะสมที่ 26% ของจีดีพี ภายในประเทศอีก 3 ปีข้างหน้า โดยต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลที่คิดเป็น 7% ของรายได้ของรัฐบาลนับเป็นข้อจำกัดต่อความยืดหยุ่นภาคการคลังในระดับปานกลาง
ขณะเดียวกัน เอสแอนด์พี เชื่อว่ารัฐบาลจะทยอยชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในประเทศตามโครงการรับจำนำข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยรัฐบาลได้ประเมินภาระทางการคลังดังกล่าวไว้สูงสุดไม่เกิน 3.8% ของจีดีพี ปี 2557
อย่างไรก็ตาม เอสแอนด์พี อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากเสถียรภาพทางการเมืองและองค์กรภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถดถอยลงเกินกว่าที่ประมาณการไว้ ช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงหากปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากผู้นำทางการเมืองทุกกลุ่มสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ เอสแอนด์พี เชื่อว่า แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เครดิตของประเทศ