- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 16 May 2023 18:22
- Hits: 1433
ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร Q1/2566 กลับมาขยายตัว คาดส่งออกปี 2566 ขยายตัวได้หลังมีสัญญาณฟื้นตัวจากเศรษฐกิจจีน
โดย สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์, กฤชนนท์ จินดาวงศ์, ปราโมทย์ วัฒนานุสาร, อังคณา สิทธิการ
Krungthai COMPASS
Key Highlights
• มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 1 อยู่ที่ 11,834 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 396,448 ล้านบาท) กลับมาขยายตัว 1.9%YoY หลังจากไตรมาส 4 ที่หดตัว 5.7%YoY โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา
• การส่งออกได้รับผลดีจากการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในจีนขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน
• Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นตลาดหลักฟื้นตัว แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง กดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร อีกทั้งยังเผชิญกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังไทยมีความเสี่ยงภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงจนอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2566 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง
ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัวที่ 1.9%YoY เทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 5.7%YoY การส่งออกขยายตัวในตลาดสำคัญ เช่น ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด คิดเป็น 22% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดขยายตัว 14.9%YoY เนื่องจากการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในจีนขยายตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งคิดเป็น 8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัวถึง 10.7%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จากความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน
หมวดสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัว 0.2%YoY หลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (55%YoY) ข้าว (24.7%YoY) ไก่ (8.4%YoY) และมันสำปะหลัง (1.4%YoY) ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา (-37.7%YoY)
ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวอยู่ที่ 3.7%YoY ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย จากราคาส่งออกที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญ
การส่งออกข้าวไตรมาส 1 กลับมาขยายตัว
มูลค่าการส่งออกข้าวไตรมาสที่ 1 ปี 2566 กลับมาขยายตัวที่ 24.7%YoY โดยมูลค่าการส่งออกข้าวขาวยังคงขยายตัวถึง 32.6%YoY จากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัว 21.2%YoY เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุนจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ทำให้ไทยสามารถขยายตลาดสู่ตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอิรักที่กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับที่ 1 ของไทย
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ 5.9%YoY โดยปริมาณการส่งออกหดตัว 16.6%YoY ซึ่งเกิดจากการแข่งขันกับข้าวชนิดอื่นในตลาดส่งออกที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เช่น ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามที่มีราคาถูกและรสชาติดีใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
มูลค่าส่งออกยางพาราไตรมาส 1 หดตัวต่อนื่อง
มูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่งไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หดตัว 37.5%YoY ซึ่งเป็นผลจากทั้งราคาส่งออกที่ลดลง 20.7%YoY ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก และปริมาณส่งออกที่ลดลง 21.2% จากปริมาณส่งออกไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักคิดเป็น 37.7% ของการส่งออกยางแผ่นยางแท่งทั้งหมดของไทย ลดลงถึง 30.5%YoY เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนลดลง จากภาคการผลิตยานยนต์ในจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
มูลค่าส่งออกน้ำยางข้นหดตัว 39.3%YoY จากราคาส่งออกที่ลดลง 18.5% ตามราคาน้ำมันตลาดโลก ส่วนปริมาณส่งออกหดตัว 20.3%YoY เนื่องจากตลาดมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 และเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลกมีปริมาณส่งออกลดลง 41.2%YoY จากความต้องการใช้น้ำยางข้นของมาเลเซียเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออกที่ลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศคลี่คลาย
มูลค่าส่งออกมันสำปะหลังไตรมาส 1 ยังขยายตัวต่อเนื่อง
มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 อยู่ที่ 1,186 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.4%YoY โดยมูลค่าส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด อยู่ที่ 557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 18,793 ล้านบาท) ขยายตัว 44.4%YoY ขณะที่ในแง่ปริมาณส่งออกขยายตัว 37.3%YoY เพราะปัจจัยหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ ขณะที่สต็อกข้าวโพดจีน (สินค้าทดแทน) ที่อยู่ในระดับต่ำ จึงต้องนำเข้ามันเส้นจากไทยเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าส่งออกแป้งมันสำปะหลังอยู่ที่ 602 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 20,321 ล้านบาท) ขยายตัว 10.4%YoY ซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ในแง่ปริมาณส่งออก หดตัว 13.5%YoY เพราะประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้า เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2565 เพราะความกังวลในด้านความมั่นคงทางอาหาร จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน
การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 1 ขยายตัวสูง หลังการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID
มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 1 ของปี 2566ขยายตัว 55.2%YoY นำโดยทุเรียนที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัว 169.8%YoY[1] จากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 179.6%YoY เนื่องจากความต้องการนำเข้าทุเรียนในตลาดหลักอย่างจีนเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังทางการจีนยกเลิกมาตรการตรวจสอบสินค้าและป้องกันเชื้อ COVID-19 ตามด่านนำเข้าสินค้าต่างๆ กอปรกับได้รับอานิสงส์จากการเปิดด่านนำเข้าผลไม้ ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งผลไม้ของไทยไปจีน อย่างไรก็ดี การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งของไทยไปจีนเผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่มากขึ้น ภายหลังเวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้แล้ว ขณะที่มาเลเซียรุกขยายตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตทุเรียนของจีนที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไตรมาส 1 ขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น
ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปในไตรมาส 1 ของปี 2566 ยังขยายตัว 8.4%YoY แม้ไก่แปรรูปจะหดตัว 5.2%YoY[2] จากตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นที่หดตัว 8.9%YoY ส่วนหนึ่งมาจากราคานำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชะลอการสั่งซื้อ อย่างไรก็ดี ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป คาดว่าการส่งออกไก่ แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่นจะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 4.7%YoY เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกในสหภาพยุโรปที่รุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างในช่วงม.ค.-ก.พ. 2566 ทำให้ต้องกำจัดไก่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เพิ่มขึ้น จึงช่วยหนุนการส่งออกไก่ของไทย ประกอบกับได้อานิสงส์จากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกไก่จากยูเครนเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ส่วนการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 53.0%YoY จากตลาดส่งออกไปจีนที่โต 181.4%YoY โดยได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น ประกอบกับความต้องการนำเข้าไก่ของจีนฟื้นตัว จากการเปิดประเทศของจีน
ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2566-2567
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2566-2567 ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้ โดยปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก และต้นทุนดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับสูง
Implication:
Krungthai COMPASS มองว่า แม้ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2566 จะขยายตัวได้ แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
• ต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรงงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงกดดันอัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะรายกลางและรายย่อย ที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนต่ำกว่ารายใหญ่ และเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากอยู่แล้ว
• มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ทำให้ภาคเกษตรที่ถือเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงรองจากภาคพลังงานต้องรีบปรับตัว เช่น กฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน โคกระบือ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้ซุง และยางพารา ที่จะประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน 2566 รวมทั้งมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2566 โดยในระยะแรกจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม แต่ในอนาคตมาตรการดังกล่าวก็อาจขยายวงให้ครอบคลุมสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารได้
• ในช่วงครึ่งปีหลังไทยมีความเสี่ยงภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง จนอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2558-2559 และปี 2562-2563 และอาจส่งผลต่อเนื่องทำให้ขาดแคลนผลผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่พึ่งพาการใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก เช่น ข้าว รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจอาหารแปรรูปซึ่งต้องใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต
[1] สัดส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเฉลี่ย 3 ปี (2563-2565) มีสัดส่วน 61% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งทั้งหมด
[2] สัดส่วนมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป เฉลี่ย 3 ปี (2563-2565) มีสัดส่วน 27.9% และ 72.1% ของมูลค่าส่งออกไก่ทั้งหมดของไทย ตามลำดับ
A5613