- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 20 December 2014 00:20
- Hits: 3362
กสิกรฯ ส่องสินค้าเกษตรไทยปี 58 มันสำปะหลังยังโต แต่ข้าว-ยางราคายังจำกัด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2557 เผชิญความท้าทายหลายด้าน ล้วนส่งผลกระทบต่อหลายภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะในภาคเกษตร ที่แม้จะมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคเกษตรเพียงร้อยละ 8.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2556 แต่ภาคเกษตรสามารถสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศคิดเป็นหลักหลายแสนล้านบาทต่อปี จึงนับว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อีกทั้งเกษตรกรรมยังเป็นอาชีพพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่ โดยแรงงานในภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดของไทย และยังสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลาย จึงเห็นได้ว่า ภาคเกษตรจะยังคงมีบทบาทสำคัญ ทั้งในส่วนที่ผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ รวมทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์ และสินค้าอันเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 2.4 (YoY) โดยแรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา และสาขาปศุสัตว์ ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในสุกร ไก่เนื้อและไก่ไข่ ส่วนสาขาประมงยังคงหดตัว จากกุ้งที่เผชิญสถานการณ์โรคตายด่วน (EMS) ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งภาพในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทยในปี 2557 อาจขยายตัวราวร้อยละ 2.5 (YoY)
หากพิจารณาเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญของไทย ในรายสาขาพืช พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 116.0 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 143.6 หรือลดลงร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของไทยในปี 2557 มีทิศทางการปรับตัวลง ซึ่งแรงฉุดสำคัญมาจากกลุ่มสินค้าเกษตรหลักของไทยอย่างข้าว และยางพารา ที่มีการปรับตัวของราคาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 จากปัจจัยท้าทายด้านอุปทานในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอุปสงค์โลกที่ยังคงซบเซา ล้วนส่งผลกดดันราคาข้าว และยางพารา ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2557
ขณะที่ภาพรวมสินค้าเกษตรหลักของไทยในปี 58 อาจมีทิศทางการขยายตัวในกรอบจำกัด ตามภาวะตลาดโลกที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และผลทางด้านอุปทานโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งทิศทางการอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ล้วนส่งผลกดดันราคา ซึ่งคาดว่าสินค้าเกษตรที่อาจปรับตัวได้ในกรอบจำกัด คือ ข้าว และยางพารา ขณะที่สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีคือ มันสำปะหลัง โดยมีแนวโน้มการขยายตัว จากความต้องการของจีนที่ยังมีรองรับ เพื่อนำไปผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ภาคเกษตรของไทย ในปี 2558 อาจมีทิศทางขยายตัวในกรอบจำกัดที่ราวร้อยละ 2.5-3.0 แรงหนุนสำคัญมาจากสาขาพืช ปศุสัตว์ และประมงที่คาดว่าอาจฟื้นตัวดีขึ้นจากปัญหาโรคระบาด EMS ในกุ้งที่น่าจะทยอยคลี่คลาย ซึ่งหากพิจารณาในรายสาขาพืช คาดว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว ทั้งตลาดภายในประเทศ จากความต้องการที่มีรองรับ รวมถึงในส่วนของภาคการส่งออก จากความต้องการสินค้าเกษตรไทยในตลาดต่างประเทศที่ยังมีอยู่ แม้จะมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาคที่ยังคงต้องจับตา อีกทั้ง ยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญของโลก
หากพิจารณาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่นับว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องจับตา คือ ปัจจัยด้านราคา ที่อาจส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งคาดว่า แนวโน้มราคาส่งออกอาจให้ภาพของแรงกดดันที่ต่อเนื่องจนถึงปี 2558 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดแรงกดดันด้านราคาคงมาจากผลทั้งด้านอุปทานโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ประเทศผู้ส่งออกสำคัญของโลกทั้งรายเก่าและรายใหม่เร่งทำการผลิต ตลอดจนขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง) และผลด้านอุปสงค์โลกที่ซบเซา (คาดว่า เศรษฐกิจโลกอาจยังให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจนนัก ส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าหลักของไทย) ล้วนส่งผลให้ภาพรวมของราคาส่งออกสินค้าเกษตรไทยมีทิศทางที่ไม่สดใสนัก
ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับภาคเกษตรทั้งระบบ ตลอดจนด้านการตลาด อันจะเป็นการผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรไทย บนย่างก้าวที่สินค้าเกษตรไทยยังคงมีศักยภาพ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังคงบทบาทในฐานะอาชีพพื้นฐานของไทยต่อไป