- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 20 December 2014 00:20
- Hits: 3313
เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจวิ่งไม่ออก-หวั่นภูมิภาคเอเชียเกิดสงครามค่าเงิน
แนวหน้า : เครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจวิ่งไม่ออก-หวั่นภูมิภาคเอเชียเกิดสงครามค่าเงิน แบงก์หั่นเป้าจีดีพีปี’58
แบงก์พาณิชย์ ถอดใจเศรษฐกิจปี’58 โตไม่ถึงฝัน เครื่องยนต์เดี้ยงทุกตัว ลงภาครัฐก็อืดกว่าคาด ส่วนส่งออกเจอปัญหาเรื่องค่าเงิน แข่งขันกับคู่ทางการค้าแข่งไมได้ ส่วนการบริโภคในประเทศนิ่งอีก หลังเจอปมหนี้ครัวเรือน ฉุดกำลังซื้อเหี่ยว เงินบาทมีสิทธิ์ร่วงแตะ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะรูปตัวยู (U) แต่ยังเผชิญกับความท้าทาย จากความผันผวนของเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน โดยมีปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือโต 3.3% จากเดิมคาดว่าขยายตัว 4.5% เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้การลงทุนภาครัฐเหลือขยายตัว 7.9% จาก 8.5% ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า
ทั้งนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่ แต่โครงการลงทุนภาครัฐยังเดินหน้าต่อเป็นการลงทุนระยะยาว และรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายขยายฐานการผลิตและการลงทุนในช่วงที่สภาพคล่องยังมีสูง และดอกเบี้ยยังต่ำ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการบริโภคที่เติบโตต่ำจากเดิมคาดว่าโต 4% เหลือโตเพียง 2.6% เพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกดดัน
ส่วนภาคการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวน้อยกว่าที่คาด โดยคาดว่าอัตราขยายตัวจะเหลือแค่ 3.6% จากเดิมคาดโต 6.1% โดยไทยยังมีปัญหาโครงสร้างสินค้าส่งออกที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำ และสินค้าเกษตร ทำให้การส่งออกมีปัญหา ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค จึงไม่ได้ช่วยให้เกิดความสามารถทางการแข่งขันต่อสินค้าส่งออกไทย ดังนั้นต้องจับตามองแนวโน้มในปี 2558 ว่าอาจจะมีความเสี่ยง เกิดสงครามค่าเงินในภูมิภาคอาเซียน หากประเทศในกลุ่มอาเซียนใช้นโยบายลดดอกเบี้ย และ อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามากระตุ้นการส่งออก เพื่อสู้กับญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าคล้ายกับญี่ปุ่นเสียความสามารถทางการส่งออก
ทั้งนี้ ในปี 2558 ไทยมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อสงครามค่าเงิน เนื่องจากไทยเผชิญปัญหาการส่งออกหดตัวเป็นเวลานาน โดยมีปัจจัยหลักจากปัญหาโครงสร้างที่พึ่งพาสินค้าเทคโนโลยีต่ำและสินค้าเกษตรที่ตลาดโลกเปลี่ยนความต้องการ และในระยะสั้นการส่งออกดูจะมีปัญหาหนักอีกชั้น หลังจากที่ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนแรงแต่ค่าเงินบาทกลับอยู่นิ่งๆ ส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้ช่วยให้ภาคการส่งออกเกิดความสามารถในการแข่งขัน
“ที่ผ่านมา เงินเยนอ่อนค่าแรงจนส่งผลให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าคล้ายกับญี่ปุ่น เสียความสามารถในการส่งออกจึงต้องปล่อยให้เงินอ่อนค่า ซึ่งมีเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ต่อมาราคาน้ำมันลดรวดเร็ว การส่งออกของมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ถูกกระทบ ทำให้ค่าเงินทั้ง 2 ประเทศนี้อ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าตามภูมิภาคและกระทบกับการส่งออก”
ขณะเดียวกัน ไทยก็มีโอกาสจะเป็นชนวนสงครามค่าเงินเสียเอง กรณีที่หากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในครั้งต่อไปมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความน่าสนใจของสินทรัพย์ไทย ลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้บาทอ่อนค่าเพื่อช่วยผู้ส่งออกนั้น จะเป็นการประกาศสงครามค่าเงินในภูมิภาค ทั้งนี้มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.น่าจะใช้วิธีผ่อนปรนมาตรการเงินไหลออกไปต่างประเทศให้มากขึ้นแทน
“เชื่อว่าธปท.จะใช้วิธีการผ่อนปรนการลงทุนไปต่างประเทศของเอกชนแทน โดยประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปี 2558 แต่ก็เป็นห่วงว่าหากเกิดสงครามค่าเงินในภูมิภาคอาจจะได้เห็นเงินบาทที่ 36 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังเชื่อว่าครึ่งปีแรก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% แต่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในครึ่งปีหลัง หากสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่คาด เพื่อดูแลไม่ให้เงินทุนไหลออก”
ส่วนปัญหาวิกฤติรัสเซีย ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับไทย แต่ต้องระวังผลทางอ้อม หากยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของรัสเซียชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยไปยุโรปลดลง โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปรัสเซียอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีนี้ แต่สินค้าเกษตรยังคงเติบโตได้ในปีหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลงต่อเนื่องยังกดดันตลาดท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะที่พัทยา และภูเก็ต
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์ม อ้อย และ ข้าว อาจลดลงตามราคาน้ำมัน และ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำต่อไป ซึ่งอุตสาหกรรมค้าปลีกในต่างจังหวัดอาจได้รับผลกระทบไปด้วย