- Details
- Category: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ
- Published: Monday, 10 October 2022 20:47
- Hits: 1815
ศูนย์วิจัยกรุงไทยแนะภาคธุรกิจเตรียมจับกระแสตลาด Esports ไทย เติบโตทะลุแสนล้านในปี 2570
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้การแข่งขันกีฬาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ “เกม” หรือ Esports เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งที่ได้รับความนิยมระดับโลก และเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นในสังคมไทย ส่งผลให้ตลาด Esports เติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอนาคต สร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผ่าน Business Model ในรูปแบบต่างๆ
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Esports เป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคมไทย สะท้อนจากการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ Esports เป็นกีฬาอาชีพเมื่อเดือนกันยายน 2564 หรือการที่ Esports ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ ซึ่งทีมชาติไทยสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน ROV มาได้ในการแข่งขันซีเกมส์เมื่อ เดือนพฤษภาคม 2565
“ตลาด Esports มีปัจจัยหนุนและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากการเติบโตของจำนวนผู้เล่นและผู้ชม ที่คาดว่าใน 5 ปีต่อจากนี้จะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 18.7 ล้านคนและ 10.7 ล้านคน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ภาคการศึกษายังสนับสนุนการเพิ่มแรงงานทักษะผ่านการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Esports มากยิ่งขึ้น ทำให้ประเมินว่า มูลค่าตลาด Esports จะเติบโตจาก 37,600 ล้านบาทในปี 2565 ขึ้นไปอยู่ที่ 108,000 ล้านบาท ในปี 2570 หรือเติบโตราว 3 เท่าจากมูลค่า ณ ปัจจุบัน”
นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของตลาด Esports ไทยระลอกแรกคือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมโดยตรง เช่น ธุรกิจทำทีม Esports ธุรกิจจัดงานแข่งขัน และธุรกิจพัฒนาเกม ส่วนธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ในระลอกถัดมาคือ ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องแต่สามารถเข้ามาเจาะตลาด Esports ผ่านการพัฒนาสนามแข่งขัน หรือการเป็นผู้สนับสนุนเพื่อโปรโมทแบรนด์สินค้า
“การลงทุนก่อสร้างสนามแข่งขันเป็นธุรกิจ ต้องใช้เงินทุนสูงจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจสนามแข่งขันประสบความสำเร็จคือ ต้องทำให้สนามแข่งขันถูกใช้งานบ่อยครั้งที่สุด ผ่านการร่วมมือกับผู้จัดงานแข่งขัน ส่วนการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน Esports ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้ชม Esports ในไทยมีฐานที่ค่อนข้างใหญ่และเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีการศึกษาว่าผู้ชม Esports ส่วนใหญ่กว่า 60% มีความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์สินค้าที่เข้ามาสนับสนุนการแข่งขัน และมีโอกาสนำไปสู่การตัดสินใจซื้อต่อไป”
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การเติบโตของตลาด Esports ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในแวดวงเดียวกันเท่านั้น แต่ธุรกิจแบบดั้งเดิม หรือ Traditional Business ก็สามารถใช้ Esports เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีกรณีศึกษาทั้งในต่างประเทศและในไทย
“การแข่งขัน The R6 Raleigh Major ที่เมืองราลี สหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า Esports ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ จากการแข่งขันดังกล่าวมีผู้เข้าชมวันละ 2,600 คน โดย 70% เป็นผู้ชมจากต่างรัฐ หรือต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ในเมือง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจรักษาความปลอดภัยต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ตำแหน่ง สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้ถึง 1.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการแข่งขัน Thailand Esports Championship ปี 2565 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่หาดใหญ่ จ.สงขลา มีนักกีฬาและนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง 20,000 คน และสามารถสร้างเงินหมุนเวียนให้กับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร 60-70 ล้านบาท คิดเป็นผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับเงินลงทุนจัดงานที่ 30 ล้านบาท”
A10361